X

‘Obodroid’ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัญชาติไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการ รองรับธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจในอนาคต

กรุงเทพฯ – เปิดตัว บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) อย่างเป็นทางการ พร้อมแนะนำหุ่นยนต์ ในงานเสวนา ‘Living with Robots เมื่อหุ่นยนต์มาอยู่ในชีวิตเรา’ ซึ่งจะนำไปใช้จริงในชีวิตและในที่อยู่อาศัย ของโครงการ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) เพื่อยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน

วันที่ 17 ธันวาคม 2563 นายพลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) ระบุว่า Obodroid บริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน จับมือกับพันธมิตร MQDC (บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้านอสังหาริมทรัพย์และด้านอื่น ๆ จนครอบคลุมถึงภาคการบริการทั่วไป หุ่นยนต์ดังกล่าวจะเข้ามาเติมเต็มประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัยและประชาชนทั่วไป

หุ่นยนต์สัญชาติไทยที่นำมาจัดแสดงในงาน ‘Living with Robots เมื่อหุ่นยนต์มาอยู่ในชีวิตเรา’ ได้แก่ ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีหุ่นยนต์และเทคโนโลยีที่บริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนามาจัดแสดงด้วย อาทิ ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์ส่งของเพื่อช่วยการส่งของระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาล รวมทั้ง ‘กระจก (MIRROR)’ แท็บเล็ตพร้อมแอปพลิเคชั่นเพื่อใช้ในการสื่อสารทางไกล ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย และลดความเสี่ยงจากการรับเชื่อไวรัสโควิด19 สู่การนำไปใช้จริงในโรงพยายาลต่าง ๆ ในเกือบทุกภาคส่วนของประเทศไทย

“Obodroid ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหุ่นยนต์บริการและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานและก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างคุณค่าในการยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของคนไทยได้จริงอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สามารถทำงาน และอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน เช่น ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้โครงการที่พักอาศัย และสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพ ซึ่ง Obodroid ได้รวบรวมวิศวกรชั้นนำของประเทศไทย ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI) มารวมไว้ด้วยกัน บริษัทมุ่งเน้นในการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์บริการ (Service Robots) เพื่อนำไปใช้งานจริงในการบริการด้านต่างๆ อาทิเช่น หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย, หุ่นยนต์ต้อนรับ, หุ่นยนต์โฆษณา, หุ่นยนต์ส่งของ, หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว เป็นต้น” นายพลณัฏฐ์ กล่าว

ด้าน ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Obodroid) เปิดเผยว่า ‘ไข่ต้ม (KAITOMM)’ เป็นหุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว (Companion/Personal Assistant Robot) ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวของคนทุกวัย ทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับทุกสิ่งบนโลกใบนี้เป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยสามารถรับคำสั่งและพูดคุยกับผู้ใช้งานในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Automation) เพื่อสั่งการเปิด/ปิดไฟ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในที่พักอาศัยได้

นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับวัดค่าสัญญาณชีพต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าของผู้ใช้งาน และหุ่นยนต์มีกล้องภายในตัว สามารถใช้เป็นกล้องวงจรปิด หรือโทรวีดีโอคอลได้ และมีฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่สามารถตั้งเตือน ตั้งปลุก เล่นเพลง สวดมนต์ เช็คสภาพอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย เหมาะสำหรับใช้ในที่พักอาศัย เพื่อเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลให้ผู้ใช้งานได้ในทุกเพศทุกวัย

‘เอสอาร์วัน (SR1)’ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย มีระบบเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ได้อัตโนมัติ (Auto-Navigation System) ประกอบด้วยกล้องรอบตัว 360 องศา เพื่อเก็บข้อมูลภาพและเสียงที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ เทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุในซอร์ฟแวร์ของตัวหุ่นยนต์ ทำให้สามารถตั้งค่าโปรแกรมในการตรวจจับวัตถุต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เช่น ใบหน้า สิ่งของ สิ่งมีชีวิต หรืออาวุธ พร้อมทั้งส่งข้อมูลแจ้งเตือนให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยรับทราบได้ทันที นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชั่นการโทรฉุกเฉินที่ผู้อยู่อาศัยหรือผู้คนรอบๆสามารถกดปุ่มเพื่อโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินจากตัวหุ่นยนต์ได้ในทันที เหมาะสำหรับการใช้งานในโครงการที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ต้องดูแลรักษาด้านความปลอดภัย

ทีมงาน Obodroid ยังรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ ‘ปิ่นโต (PINTO)’ หุ่นยนต์รถเข็นส่งอาหารผู้ป่วย (Quarantine Delivery Robot) ที่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ และ หุ่นยนต์ ‘กระจก (MIRROR)’ เป็นแท็บเลตใช้สำหรับสื่อสารทางไกล สามารถใช้พูดคุยระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ทันที โดยไม่ต้องกดรับสาย และคนไข้สามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง รวมทั้งดูแลทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคได้ง่าย ไม่สะสมให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่อไปได้อีก ซึ่งสามารถตอบโจทย์คณะแพทย์และพยาบาล ในการรับมือกับสถานการณ์วิกฤตนี้ได้อย่างดี

หุ่นยนต์ปิ่นโตและแท็บเล็ตกระจกนี้ เป็นการใช้งานแบบอิสระและเบ็ดเสร็จ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือหรือโครงสร้างอื่นใดเพิ่มเติม จึงทำให้แพทย์และพยาบาลสามารถใช้งานได้ทันที ซึ่งในปัจจุบันหุ่นยนต์และอุปกรณ์แท็บเล็ตชุดนี้ได้ถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

ส่วน ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) กล่าวว่า  International Federation of Robotics (IFR) พบว่า อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น 31% หรือ 48 ล้านตัว ภายในปี 2564 โดยกลุ่มที่โตที่สุด คือ กลุ่มหุ่นยนต์ใช้สำหรับงานบริการตามที่อยู่อาศัย (Service Robot) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนของกระบวนการดิสรัปชัน ของหลากหลายวงการหากก้าวตามไม่ทัน  ทั้งนี้ ไทยจะเป็นผู้นำด้านหุ่นยนต์ในอาเซียน เพื่อต้อนรับ Robotic Economy ข้อมูลจาก IFR สะท้อนว่า ภูมิภาคเอเชียถือเป็นตลาดสำคัญอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของตลาดโลก คาดการณ์ว่าในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของประเทศไทย จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% เร็วที่สุดเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ระดับโลก รองจากบราซิล 33% อินเดีย 26% และจีน 22%

“สังคมจะเปิดใจยอมรับการใช้งานหุ่นยนต์มาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มากกว่าจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของความทันสมัย โดยถูกเร่งด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนเปิดใจกับการใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพราะคำนึงถึงเรื่องความสะอาด (Hygiene) และการรักษาระยะห่างทางสังคม กรณีศึกษาจากประเทศจีน ที่เครือโรงแรม Huazhu Hotels Group ที่มีสาขาโรงแรมกว่า 5,700 แห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมบริการแบบไร้การสัมผัส (non-contact) โดยติตตั้งหุ่นยนต์เสริมบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ลูกค้า สะท้อนภาพบวกของการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคตที่ว่า หุ่นยนต์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก หรือกลายเป็นเรื่องปกติใหม่สำหรับภาพอนาคตของมนุษย์ ส่วนความกังวลว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์นี้ จะสร้างงานแทนที่จะแย่งงาน” ดร.การดี กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"