X

อุตสาหกรรมชู ‘Bio Circular Green’ ดันอุตสาหกรรมไทยรับยุค New Normal

กรุงเทพฯ – กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยภายใต้ยุค New Normal ชูแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio Circular Green Economy : BCG) เป็นแนวทางหลักในการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน


วันที่ 30 กันยายน 2563 นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘ทิศทางอุตสาหกรรมไทยยุค New Normal’ จัดโดยเว็บไซต์ BIZCONNEXT และแพล็ตฟอร์มสื่อ 77ข่าวเด็ดว่า กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นร้อนแรง ที่รัฐบาลนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต่างตื่นตัว และเร่งหาแนวทางเพื่อบริหารจัดการ โดยมีชนวนสำคัญที่ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งรัดหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ภาวะโลกร้อน

BCG ถือเป็นกุญแจหลักสำคัญ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป็นโมเดลหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมายต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนของรัฐบาล

แนวคิด BCG คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ให้แก่ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป

นายภานุวัฒน์ อธิบายถึง BCG ในแต่ละด้าน โดยเริ่มต้นที่ Bio Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของภาคอุตสาหกรรม เน้นขยายห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นำความได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพของไทย มาต่อยอดให้เกิดมูลค่าและคุณค่า โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี 2570

ขณะเดียวกัน ก็เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป้าหมายใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Bioplastic, Bio chemical และ Bio Pharmaceutical

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน เช่น ปรับปรุงกฎหมาย เปิดทางให้นำอ้อยไปผลิตอย่างอื่นได้ ปรับแผนผังการใช้ระบบที่ดินในเขต EEC เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ก็เดินหน้าเร่งรัดการลงทุนในประเทศ กระตุ้นอุปสงค์ เช่น การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการสร้างเครือข่ายเพื่อเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญเดินหน้าดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้าน Bio Economy

ส่วน Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การมุ่งคำนึงถึงมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการปรับโครงสร้างการผลิต ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การใช้ และการจัดการของเสีย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมรับหน้าที่ เป็นผู้สนับสนุนหลักในการพัฒนาระบบนิเวศน์ให้เอื้อต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน

ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาระบบนิเวศน์ให้เอื้อต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม และจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแห่งแรกของประเทศ เพื่อนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรม มาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับ Green Economy หรือ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม อยู่ร่วมกับชุมชนได้ กระทรวงอุตสาหกรรมรับหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวก ให้ภาคเอกชนลงมือดำเนินการปรับปรุงโรงงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการออกใบรับรองต่าง ๆ โดยนับตั้งแต่เริ่มทำโครงการอุตสากรรมสีเขีย เมื่อปี 2554 ทำให้จนถึงขณะนี้ มีโรงงานได้ใบรับรองแล้วราว 37,000 แห่ง

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สรุปว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ BCG จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค การทำความรู้ความเข้าใจ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อความเจริญก้าวหน้าของไทยโดยรวมเท่านั้น แต่ยังเอื้อให้เกิดการการสร้างงานสร้างอาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ภายใต้พื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง ที่จะทำให้เกิดการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน และมีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"