X

อพท. – กรมทรัพยากรธรณี ดัน ‘เชียงราย’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลก

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จับมือ กรมทรัพยากรธรณี ผลักดัน จ.เชียงราย ขึ้นอุทยานธรณีระดับโลก นำร่อง ‘ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน’ พร้อมจัดทำแผนสู่ ‘เมืองสร้างสรรค์’ ตามเกณฑ์ยูเนสโก้ ภายในปี 2568

นายชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการแทน ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ระบุว่า อพท. กับ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ ขับเคลื่อนอุทยานธรณีจังหวัดเชียงราย ขึ้นสู่อุทยานธรณีระดับโลก ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดทำแผนการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณี หรือ Geopark ตามแนวทางนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับ การศึกษาและจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อเตรียมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. และผลักดันให้เชียงรายเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก้ (UNESCO Creative Cities Network – UCCN)

เบื้องต้น เป็นการทำงานระยะสั้น ซึ่งจะเป็นการร่วมทำงานระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว จากนั้น จะประสานกับจังหวัดเชียงรายและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมและสร้างการรับรู้ให้แก่คนในพื้นที่ ให้รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแนวทางการดำเนินงาน เพราะการบูรณาการทำงานร่วมกัน ถือเป็นแนวปฏิบัติของ อพท. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

รักษาการแทน ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการดำเนินงาน จะเปิดกว้างระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนการพัฒนา และส่งเสริมเครือข่ายการทำงานร่วมกันตามกรอบยูเนสโก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ อพท. เห็นชอบ ก่อนจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

การผลักดันอุทยานธรณี Geo-Park ตามแนวทางของ UNESCO จำเป็นต้องอาศัยแนวทางในการดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการแบบองค์รวม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ต้องอาศัยการเชื่อมโยงมรดกทางธรณี เข้ากับมรดกทางนิเวศวิทยา วัฒนธรรม และโบราณคดีของพื้นที่ พร้อมเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจถึงคุณค่าของพื้นที่ ในลักษณะของการท่องเที่ยวเชิงธรณีโดยชุมชนท้องถิ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่จะมาช่วยผลักดันอุทยานธรณีด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“นอกจากการพัฒนาอุทยานธรณี ตามแนวทางของยูเนสโกแล้ว ยังมีพื้นที่โดยรอบอุทยานธรณี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน ที่ อพท. จะใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ซึ่งจะประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยว, มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ, มิติด้านวัฒนธรรม และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ นำไปพัฒนาพื้นที่และชุมชนโดยรอบ ให้ชุมชนและพื้นที่รู้จักเรื่องการจัดการ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรอบรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน” นายชูวิทย์ มิตรชอบ กล่าว

ทั้งนี้ อพท.มีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว เป็นแหล่งท่องเที่ยวอุทยานธรณีระดับโลก ตามเกณฑ์ของยูเนสโก้ ภายในปี 2568

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"