X

‘นพ.ประสิทธิ์’ ชี้ ไทยพร้อมผ่อนคลายมาตรการ แต่ยังต้องป้องกันตัวเองเข้ม

กรุงเทพฯ – ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา วิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ระบุ ไทยพร้อมเข้าสู่โหมดผ่อนผันมาตรการต่าง ๆ แนะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกอาจทำผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่ประชาชนยังต้องเข้ม สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง  

วันที่ 27 เมษายน 2563 ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สถานการณ์ของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ‘ประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤตโควิด-29 อีกครั้ง เมื่อผ่อนปรนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ และการเอาชนะโควิด-19 ด้วยยุทธการ ควบคุมแล้วผ่อนผัน The Hammer and the Dance’

โดยสรุปว่า เมื่อคนไทยช่วยกัน ทำให้ประเทศควบคุมการแพร่เชื้อได้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่ถึง 3,000 คน อัตราการเสียชีวิต 1.8% และมีจำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย เหลือที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 300 กว่าคน ถือว่าทำได้ดีมาก

พร้อมยกตัวอย่างการผ่อนคลายมาตรการ ของประเทศแคนาดา หลังควบคุมโควิด-19 ได้ดี ด้วยการนำยุทธศาสตร์ ‘The Hammer&The Dance’: การทุบด้วยค้อน (ควบคุม) และเปิดให้ฟ้อนรำ (ผ่อนคลาย) มาใช้ ขณะนี้ไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโหมดทุบด้วยค้อน ไปเป็นโหมดการฟ้อนรำ คือ จะเริ่มมีการผ่อนปรนให้ประชาชนออกจากบ้านไปทำกิจกรรมที่สำคัญได้มากขึ้น เช่น การเปิดห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สวนสาธารณะ การทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม แต่จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อาจจะทำให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่การติดเชื้อจะค่อย ๆ เพิ่ม จะไม่เหมือนช่วงแรก แต่ถ้ามีการติดเชื้อมาก จะต้องพร้อมกลับเข้าสู่โหมดการควบคุมเข้มงวดอีกครั้ง โดยจะมีการประเมินผลทุก 2 สัปดาห์

สำหรับสถานที่ที่ยังต้องปิดต่อไป คือ พื้นที่ที่แออัด มีการรวมตัวของคนหมู่มาก หรือมีการตะโกนใส่กัน เช่น ผับ บาร์ แหล่งบันเทิง โดยยังต้องเข้มงวดบุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศ และยังไม่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามา

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุถึงเหตุผลที่ต้องปิดสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
♦โรงเรียน มหาวิทยาลัย เพราะมีผลกระทบสูง หากเด็กติดเชื้อจะเกิดแพร่กระจายอย่างรุนแรง ทั้งใน ร.ร. และที่บ้าน การผ่อนคลายต้องชะลอลง อย่ารีบร้อนเกินไป และมีมาตรการควบคุมจนแน่ใจว่า สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้

♦ผับ บาร์ สถานบันเทิง ซึ่งมีผลกระทบสูง การดื่ม กิน ไม่ใส่หน้ากากอนามัย การพูดคุยเสียงดัง มีโอกาสติดเชื้อสูงจากละอองต่าง ๆ

♦การกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย มีผลกระทบกลาง ๆ การออกกำลังจะไม่ใส่หน้ากากอนาทัย เมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะนั่งคุยกัน จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อได้ง่าย

♦การจัดประชุม ในห้องที่ปิด และคนจำนวนมาก ๆ ก็มีความเสี่ยงระดับหนึ่ง ณ วันนี้ อาจยังไม่มีความจำเป็น ให้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

♦การเดินทางเข้าประเทศ ไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัยมากที่สุด ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ซึ่งเราไม่ได้ห้ามคนไทยกลับเข้ามา แต่ต้องเข้มงวด

♦ธุรกิจการส่งอาหาร ผลกระทบต่อการติดเชื้อถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้แนวทางการปฏิบัติตัว หลังจากผ่อนคลายมาตรการ ดังนี้

1.การทำความสะอาดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด หรือสุ่มเสี่ยง
2.การค้นหาและติดตามบุคคลเสี่ยง ทั้งผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยใช้แอปพลิเคชัน
3.การเพิ่มมาตรการตรวจคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทั้งที่มีและไม่มีอาการ
4.ประชาชนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน
5.ล้างมือบ่อย ๆ
6.รักษาระยะห่างทางสังคม

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ย้ำว่า เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นและผ่อนผันไม่ได้ สำหรับบุคคลที่ควรงดออกจากบ้าน ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน ด้วยจิตสำนึก ความรับผิดชอบ และวินัย ไม่ใช่เพียงภาครัฐ หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุข  มีบทเรียนจากหลายประเทศที่ผ่อนผันเร็วเกินไป จนทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ส่วนของไทยควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หลังผ่อนปรนอาจทำให้อัตราผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศกลับมาเพิ่มสูงขึ้น แต่จะไม่มากเท่าช่วงแรก

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"