X

อย่ารอ อาชีพเสริมเกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดต้นทุน 800 กำไร 1,900 บาท

จิ้งหรีดเป็นแมลงที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ ปัจจุบันนิยมบริโภคเป็นอาหาร เพราะจิ้งหรีดให้สารอาหารโปรตีนสูงจึงเหมาะที่จะหรือใช้เวลาว่างนำมาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมไว้บริโภค และจำหน่ายเพิ่มรายได้กับครอบครัว โดยมีการประกันราคาจากวิสาหกิจชุมชนโดยที่ทางเกษตรกรไม่ต้องมีความเสี่ยงในเรื่องการตลาด ซึ่งขณะนี้จิ้งหรีดยังไม่มีเพียงพอต่อความต้องการของตลาดในไทยและต่างประเทศ

ที่ ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11(บ้านหนองแก้ว ) ต.บางขันหมาก อ.เมือง ลพบุรี เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยจำนวน 12 รายในชุดแรกในพื้นที่หมู่ที่ 11 ต.บางขันหมาก ที่ได้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือ และยกระดับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ให้มีรายได้ก้าวพ้นความยากจนซึ่งเป็นการบูรณาการงานของทุกภาคส่วนงานในจังหวัดลพบุรี ที่ทางมติรัฐคณะรัฐมนตรี มีมติให้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการของธนาคารที่ใช้รองรับการำดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี ใน 3 มาตรการ 9 โครงการ โดยเฉพาะโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย


โดยกระทรวงมหาดไทยนำโดย นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และสหกรณ์เกษตรจังหวัด อบรมให้ความรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดแก่เกษตรกร ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่สนใจ และมีความตั้งใจจริงอยากจะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาชีพเสริม โดยธนาคารมีสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน 6 เดือน (ไม่คิดดอกเบี้ย) วงเงินกู้ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อคนเพื่อนำไปเลี้ยงจิ้งหรีด โดยเลี้ยงรายละไม่เกิน 5 กรง
เมื่อเลี้ยงครบอายุ 2 เดือน เกษตรกรก็จะทำการจับ และรวบรวมส่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนใบหม่อนฟาร์ม ซึ่งจะเป็นผู้รวบรวม แปรรูป และทำตลาดให้ ซึ่งถือได้ว่าเกษตรกรที่เลียงจิ้งหรีดไม่มีความเสี่ยงเรื่องการตลาดแถมยังได้ราคาประกันในราคากิโลกรัมละ 120-135 บาท
ในจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดชุดแรกจำนวน 12 ราย 60 กรง ในพื้นที่ หมู่ที่ 11 ต.บางขันหมาก ซึ่งได้ทำการจับจิ้งหรีดขายในล๊อตแรกมีรายได้ต่อกรงประมาณ 2,700 บาท โดยเฉลี่ยหักต้นทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีดต่อกรง ประมาณ 800 บาท เหลือกำไรสุทธิ 1,900 บาทต่อกรง ทั้งนี้ทางวิสาหกิจชุมชนใบหม่อนฟาร์ม ได้นำจิ้งหรีดไปทำการแปรรูป เป็นจิ้งหรีดทอดใส่ถุง เพื่อส่งไปจำหน่ายในประเทศ และต่างประเทศ โดยส่งออกจิ้งหรีดเดือนละ 3 ตัน เป็นเงิน 1,3000,000 บาท สามารถทำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยได้ปีละ 15,6000,000 บาท เลยทีเดียว
ในปัจจุบันเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 196 ราย ซึ่งปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ธ.ก.ส.มีความพร้อมที่จะสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านการลงทะเบียนผู้มีสวัสดิการแห่งรัฐที่สนใจจะพัฒนาตนเองให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 60 วัน


สำหรับพันธุ์จิ้งหรีดที่เลี้ยงที่ทางเกษตรจังหวัด แนะนำให้ทางเกษตรกรได้นำมาเลี้ยงได้แก่
จิ้งหรีดเล็ก หรือ จิ้งหรีดพันธุ์เกษตร มีสีน้ำตาลขนาดเล็กสุด บางแห่งเรียกว่า “จิลอ”
มีลักษณะคล้ายจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดง แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก จิ้งหรีดเล็กเลี้ยงง่าย และโตเร็วกว่าจิ้งหรีดพันธุ์อื่น นับจากวันแรกที่ตัวอ่อนฟักจากไข่ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 45-55 วัน จิ้งหรีดก็จะโตเต็มวัย ออกไข่และสามารถจับขายได้
สถานที่และโรงเรือนการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ดี
1.บริเวณก่อสร้างโรงเรือนควรเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วมขัง
2.บริเวณที่จะเลี้ยงควรมีพื้นที่กว้างพอสมควร
3.บริเวณที่เลี้ยงต้องป้องกันฝนและแสงแดดได้
4.พื้นที่ที่จะใช้เลี้ยง ไม่ควรเป็นสถานที่ ที่มีโรคและการระบาดของแมลง พวก มด ไร
5.โรงเรือนสามารถเลี้ยงได้ในสภาพทั่วไปที่มีอยู่ หรืออาจจัดทำโรงเรือนไว้เลี้ยงเฉพาะที่ก็ได้ ถ้ามีทุนดำเนินการเพียงพอหรือจะเลี้ยงใต้ชายคาบ้าน หรือใต้ถุนบ้านก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องมีการป้องกันการถูกฝนสาดถึงและป้องกันแดดจัดได้

ขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดเล็กไม่ยุ่งยาก ใช้วัสดุที่หาง่าย โดยเฉพาะการเลี้ยงในกล่องฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นใหญ่ ทำเป็นกรง ซึ่งง่ายต่อการดูแลรักษาและทำความสะอาดได้ดี เพราะไม่มีดินทราย และเศษหญ้าเหมือนการเลี้ยงในท่อ ทำให้ไม่มีความชื้น ซึ่งทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ตามขั้นตอนดังนี้
1.จัดทำโรงเรือนตามแบบที่ต้องการ
2.จัดหาไม้ระแนงมาทำชั้นวางกล่องสำหรับใส่จิ้งหรีด เรียงเป็นชั้นขึ้นไปเป็นแถว
3.จัดหาซื้อฟิวเจอร์บอร์ดแผ่นใหญ่ทำเป็นกล่อง กรง สี่เหลี่ยม
4.ซื้อจิ้งหรีดเล็กที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายมา จำนวน 1 กิโลกรัม คัดเลือกเฉพาะจิ้งหรีดขณะเป็นตัวเต็มวัยพร้อมที่จะไข่นำมาใส่ลงในกล่องที่เตรียมไว้
5.นำพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์จิ้งหรีดลงประมาณ 1-2 วัน และนำทรายรดน้ำให้ชุ่มลงวางในกล่องด้วย เพื่อใช้เป็นที่วางไข่ของจิ้งหรีด
6.ประมาณ 2 วัน จะสังเกตเห็นไข่จิ้งหรีดอยู่เต็มถาดทราย มีลักษณะเป็นสีขาวคล้ายผงชูรส ยกถาดทรายที่มีไข่ออกมาไว้ในกล่องใหม่ที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อรอการฟักตัวของจิ้งหรีด
7.ฉีดน้ำใส่รังไข่ทรายทุกวันให้ชุ่ม เพราะน้ำจะเป็นตัวช่วยให้ไข่ฟักเร็วขึ้น ระวังอย่าให้ทรายแห้งเพราะจะทำให้ไข่ไม่ฟักตัวหรือฟักช้ากว่าปกติ
8.ฉีดน้ำทุกวันประมาณ 13-15 วัน ไข่จิ้งหรีดก็จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัวเล็กๆ แล้วจึงเริ่มให้อาหาร โดยเอาใส่ถาด และนำกระป๋องน้ำตั้งไว้ให้ด้วย
9.แต่ต้องฉีดน้ำที่ถาดทรายวางไข่ต่อไปอีกประมาณ 5 วัน ไข่จิ้งหรีดจึงจะฟักออกมาจนหมด
10.สำหรับกระป๋องน้ำให้จิ้งหรีดเล็กนั้น ต้องเอาผ้าพันปิดรูและเอาหินใส่ไว้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดเล็กตกลงไปตาย
11.อาหารสำหรับจิ้งหรีดตั้งแต่เล็กจนโตครบ 45 วัน นั้นคือ หัวอาหารไก่เบอร์ 1 เท่านั้น และต้องคอยดูแลอย่าให้น้ำและอาหารหมดจากถาด ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยๆ เพราะจิ้งหรีดจะได้กินอิ่มแล้วก็กลับเข้าไปอยู่ในรังไข่ที่เตรียมไว้ ต่อเนื่องจนโต
12.วงจรชีวิตของจิ้งหรีดนั้นต้องเลี้ยงต่อไปจนครบอายุ 45-55 วันก็สามารถจับขายได้ หรือเก็บไว้เพื่อเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ได้ โดยให้สังเกตที่เสียงร้อง ถ้าจิ้งหรีดร้องหมายถึงพร้อมผสมพันธุ์หรือพร้อมขายทอดตลาดแล้ว
13.นำเอาจิ้งหรีดที่เป็นตัวเต็มวัยหรือพร้อมที่จะไข่ไปขาย หรือแปรรูปทำเป็นอาหารจำหน่าย


สำหรับการแปรรูปจิ้งหรีดเพื่อนำไปบริโภค หรือจำหน่าย
เมื่อทำการจับจิ้งหรีดจากกรง ให้นำมาทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า 3 น้ำ โดยน้ำแรกให้นำจิ้งหรีดใส่กาละมังด้วยน้ำที่เย็นจัด ใส่เกลือเล็กน้อยเป็นการช๊อกจิ้งหรีด และล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง
นำมาต้มที่น้ำเดือดจัด 100 องศา ประมาณ 5 นาที
นำจิ้งหรีดมาผึ่งให้เสด็จน้ำ
ทำการาคัดแยก คัดขนาดและสิ่งเจือปนออก
ทำการชั่งบรรจุถุงขนาด 1 กิโลกรัม ในราคาประกัน 120-135 บาท หรือเกษตรกรจะขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อถึงแหล่งผลิต ที่ให้ราคาสูงกว่าวิสาหกิจชุมชน ก็สามารถขายได้ตามความต้องการ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน