กรุงเทพฯ : ผู้ว่าฯชัชชาติ เดินหน้าการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ใน กทม. ซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติ ยึดหลักทางเท้าต้องเป็นทางเท้า แก้ปัญหาทุกมิติ
25 ม.ค.2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประชุมซักซ้อมแนวทางการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยให้ความสำคัญกับประชาชนคนเดินเท้า เพื่อให้การสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่วนผู้ค้าต้องพูดคุยให้เกิดความเข้าใจถึงการแก้ไขปัญหา รวมถึงการดูแลจัดหาพื้นที่สำหรับทำการค้า เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินเท้า ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อาจเป็นพื้นที่ของเอกชนที่มีความเหมาะสม ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ทุกคนต่างเข้าใจในจุดมุ่งหมาย สามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้
ในที่ประชุมสำนักเทศกิจได้รายงานความคืบหน้าการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้กับนายชัชชาติฟังว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย เจ้าพนักงานจราจรให้ความเห็นชอบแล้ว 86 จุด ผู้ค้า 5,419 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,817 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย เสนอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย ส่วนผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน 697 จุด ผู้ค้า 15,320 ราย ซึ่งมีแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงทางแผงค้าในพื้นที่ทำการค้านำร่อง 95 จุด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 จำนวน 16 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 14 จุด อาทิ ซอยสังคโลก เขตดุสิต ซอยเสนารักษ์ เขตราชเทวี ซอยรางน้ำ เขตราชเทวี หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เขตบางนา หน้าอาคารโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย ไม่สามารถดำเนินการได้ 2 จุด บริเวณตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง และตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจาก รฟม. กำหนดเป็นแนวพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะที่ 2 เดือนธันวาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 29 จุด ระยะที่ 3 เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 จำนวน 49 จุด
ข่าวน่าสนใจ:
สำหรับจุดที่ได้รับอนุญาต ผู้ค้าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1.ทำการค้าด้วยตนเอง 2.ตั้งวางอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด 3.ร่มแผงค้า ร่มอุปกรณ์การค้า มีขนาดลักษณะตามที่กำหนด 4.ห้ามวางกองสินค้า แผงค้า รถเข็น อุปกรณ์ต่างๆบนถนน 5.ไม่ขายสินค้าบนรถหรือบนถนน รวมทั้งไม่นำยานพาหนะขึ้นไปจอดขายสินค้าบนทางเท้า 6.ดูแลรักษาความสะอาด ไม่เททิ้งขยะ น้ำล้างภาชนะลงในท่อระบายน้ำ 7.ไม่ตั้งวางแผงค้าในบริเวณที่ห้าม ในระยะ 10 เมตร จากป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง จุดที่หยุดหรือจอดรถโดยสารสาธารณะ ในระยะ 10 เมตร จากทางขึ้นลงละพานลอยคนเดินข้าม บริเวณใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟต์สำหรับผู้พิการ ในระยะ 3 เมตร ทั้ง 2 ด้าน ของทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก ในระยะ 5 เมตร จากช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย ในระยะ 3 เมตร จากห้องสุขาสาธารณะ ในระยะ 3 เมตร จากจุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ในระยะ 1 เมตร จากบริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ส่วนแนวทางการดำเนินการผู้ค้านอกจุดที่ได้รับอนุญาต ดังนี้ ย้ายเข้าไปขายของในพื้นที่เอกชน 14 จุด ผู้ค้า 160 ราย ยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย 18 จุด จัดระเบียบแนวทางหลักเกณฑ์ตามประกาศฯ ปี พ.ศ.2563
ในที่ประชุมยังเสนอให้มีการตั้งกรรมการชุดใหญ่ขึ้นมา ในการกำหนดเส้นทางหลัก แนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงกรรมการชุดย่อยในรายเขต เพื่อเข้าช่วยดูแลรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ จัดหาพื้นที่ของเอกชน และ ภาครัฐในการจัดทำ Hawker Centers ให้เป็นรูปธรรม พูดคุยเจรจากับเอกชน เพื่อหาพื้นที่ช่วยในการจัดระเบียบ รวมถึงขอความร่วมมือจากเอกชนในการจัดทำแผ่นกั้นเพื่อความเรียบร้อย
และที่สำคัญจะไม่มีการเพิ่มจำนวนของผู้ค้า และเพิ่มจุดผ่อนผันอย่างเด็ดขาด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: