X

งานเทศกาลปีใหม่ลีซู “โข่เซยี่ยอาบา” เชียงราย

(เชียงราย)งานเทศกาลปีใหม่ลีซู “โข่เซยี่ยอาบา” เชียงราย ชาวลีซอจะมีแต่งกายอย่างงดงามที่ประดับประดาด้วยเครื่องเงิน ซึ่งจำนวนของเครื่องประดับบนเสื้อผ้าของชาวลีซอจะบ่งบอกถึงฐานะของแต่ละคน 

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 66 นายสมเกียรติ ปูกา ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาติพันธุ์สามัคคีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายศราวุธ จันทร์แว่น ประธานสมาพันธ์ชาติพันธุ์ฯ เดินทางไปร่วมในกิจกรรมฉลองเทศกาลปีใหม่ลีซู โดยวันนี้มีการจัดงานพร้อมกันหลายจุด ซึ่งทางสมาพันธ์ได้ไปร่วมงานที่บ้านแม่มอญ ม.2 ต.ห้วยชมภู อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย และบ้านเวียงกลาง ม.21 ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย ซึ่งในงานดังกล่าวได้มีชาวบ้านในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมกันเป็นจำนวนมากนายสมเกียรติ ปูกา ที่ปรึกษาสมาพันธ์ชาติพันธุ์สามัคคีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ชาติพันธุ์สามัคคีแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาติพันธุ์ทุกชนเผ่า เริ่มแรกมีผู้เข้าร่วมจำนวน 16 ชนเผ่า แต่ปัจจุบันมี 18 ชนเผ่าในพื้นที่ จ.เชียงราย มีนายศราวุธ จันทร์แว่น เป็นประธานสมาพันธ์ฯ และตอนนี้มีพี่น้องชนเผ่าในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก มีการประสานเข้ามาเพื่อขอมีส่วนร่วมกับทางสมาพันธ์ฯ เราเป็นองค์กรจิตอาสาที่จัดตั้งขึ้นมาช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียว ทั้งปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ ที่ดินทำกิน ความเจ็บป่วย ถ้าพี่น้องชาติพันธุ์ประสบปัญหาไม่ว่าเรื่องใดให้แจ้งเข้ามาที่สมาพันธ์ฯ เราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหา อย่างน้อยก็เพื่อผ่อนหนักให้กลายเป็นเบางานประเพณีปีใหม่ของชาวลีซอ มักจะจัดกันตามบ้านหรือสถานที่สำคัญในหมู่หมู่บ้าน คนทั่วไปจึงไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็น โดยในวันนี้ชาวลีซอจะแต่งกายอย่างงดงามที่ประดับประดาด้วยเครื่องเงิน ซึ่งจำนวนของเครื่องประดับบนเสื้อผ้าของชาวลีซอจะบ่งบอกถึงฐานะของแต่ละคน ในวันปีใหม่นี้ชาวลีซอจะออกมาเต้นรำกันทั้งกลางวันและกลางคืน โดยล้อมวงเป็นวงใหญ่ โดยมีเสาไม้เป็นหลักวง  “โข่เซยี่ยและจึว” จังหวะการเต้นรำ ก็เป็นจังหวะเฉพาะของชนเผ่าลีซอ โดยมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเต้นรำ ได้แก่ ซึง “ชือบือ” แคนน้ำเต้า “ฟู่วหลูว” มีหลายประเภท มีทั้งแคนสั้น และแคนยาว และขลุ่ย “จู่วหลู่ว” เป็นต้น เป็นตัวให้จังหวะในเต้นสลับเท้า และหมุนรอบตามวงกลมปีใหม่ลีซอ จัดว่าเป็นงานประเพณีของชนเผ่าชาวในประเทศไทย ที่มีสีสันมากที่สุด และมีการจัดงานตรงกับงานเทศกาลตรุษจีนเป็นประจำทุกปี นายโชติพัฒน์ ลี่เจริญวงศ์ อายุ 55 ปี เล่าว่า ตนอยู่ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ แต่วันนี้ได้มีโอกาสมาเที่ยวงานประเพณีปีใหม่ของพี่น้องชาติพันธุ์ลีซูหรือลีซอ ที่บ้านเวียงกลาง ม.21 ต.แม่ข้าวต้ม อ.เมืองเชียงราย เพราะรู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี วันปีใหม่ของชาวลีซอหรือลีซู จะเริ่มนับตั้งแต่วันตรุษจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยวันที่ 21 ม.ค. จะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า จะมีการดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ผู้อาวุโส มีการล้างมือล้างเท้า ให้เงิน ให้เสื้อผ้าใหม่แก่ผู้ใหญ่ที่มีพระคุณ ส่วนวันที่ 22 ม.ค. ซึ่งเป็นวันแรกของปีใหม่ จะมีการไปรดน้ำดำหัวที่บ้านของผู้นำหมู่บ้านและผู้นำทางศาสนา วันที่ 2 ก็เป็นบ้านของผู้ช่วยหมู่บ้านหรือผู้นำตามลำดับ ไปจนถึงวันสุดท้าย ซึ่งวันนี้ก็เป็นวันปีใหม่วันสุดท้ายของหมู่บ้าน ก็ได้มีพี่น้องลีซูจากหมู่บ้านข้างเคียงมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก โดยวันนี้จะมีการล้อมวงรอบต้นไม้และขันโตกที่ตั้งไว้ตรงกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวบุตรเทวดา ที่มาคอยดูมนุษย์ มาให้โชคให้ลาภ ในงานนี้ชาวลีซอจะนำเอาเสื้อผ้าใหม่มาใส่เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาได้ดู เพื่อที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้มาให้พร ให้พบเจอแต่สิ่งดีๆ ทำอะไรก็จะประสบความสำเร็จ ไม่มีอุปสรรค คิดเงินได้เงินคิดทองได้ทอง โดยชาวลีซอจะจับมือเต้นรำกันตามจังหวะ เพื่อความสนุกสนานในวันปีใหม่ หรือหนุ่มสาวก็จะเป็นโอกาสในการเกี้ยวพาราสีทำความรู้จักกัน บางคู่ก็อาจพัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงขั้นแต่งงานกันก็มี“ปีใหม่ของชาวลีซอก็จะตรงกับเทศกาลตรุษจีน เพราะมีบรรพบุรุษเป็นคนจีนที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย แต่ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวลีซอจะไม่ละเอียดยุ่งยากเหมือนคนจีน ตนและชาวเขาชาติพันธุ์ต่างๆรู้สึกดีใจที่ได้มาอยู่อาศัยในผืนแผ่นดินไทย” นายโชติพัฒน์ กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

สราวุธ คำฟูบุตร

สราวุธ คำฟูบุตร

เสนอข่าวทุกมิติ เจาะลึกทุกประเด็น ID LINE : yai8881