X
ฝุ่นละอองในกรุงเทพ

คนกรุงชีวิตเปื้อนฝุ่นยาวถึงเม.ย. แนะเร่งป้องกันช่วง90วันอันตราย

ผู้เชี่ยวชาญชี้คนกรุงเผชิญปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยาวถึงเดือนเม.ย. เผยเกิดขึ้นทุกปีช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. เสนอต้องออกมาตรการเพิ่มช่วง 90 วันอันตราย แพทย์ระบุเด็ก-ผู้สูงอายุ-คนภูมิแพ้เสี่ยงสูง แนะสวมหน้ากากอนามัย เผยฝุ่น 25,600 ชิ้น ขนาดแค่จุดทศนิยม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 1 หัวข้อ “ภัยร้าย ฝุ่น กลางเมือง” ระดมนักวิชาการด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เพื่อหาทางออกและแนวทางการรับมือปัญหาภัยฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ดร.สุพัฒน์ หวังวัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า วิกฤติการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมคอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายวันที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายนของทุกปี

เมื่อเทียบข้อมูลสถิติปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 รายวันในอากาศบริเวณกรุงเทพฯ ในหลายปีที่ผ่านมาสถานการณ์ในช่วงปี 2560-2561 อยู่ในระดับที่ไม่สูงไปกว่าปีที่ผ่านมา จากสถิติข้อมูลย้อนหลังไป 7 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพฯ มีแนวโน้นลดลงมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

ในปี 2560 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 26 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลงถึง 25% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในปี 2556 ที่สูงถึง 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากมีการนำน้ำมันและรถยนต์มาตรฐาน Euro 4 มาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้มีการลดการระบายมลพิษรวมทั้ง PM2.5 จากรถยนต์ทั้งเก่าและใหม่ และเพื่อให้สอดรับกับปริมาณรถยนต์เพิ่มขึ้นในอนาคต มีการเสนอให้นำมาตรฐานและรถยนต์ Euro 5 และ Euro 6 มาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำมันและช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ

อย่างไรก็ตามฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ได้เกิดแค่การใช้ยาพหนะเท่านั้น แต่เกิดจากกิจกรรมประจำวันต่างๆอาทิ การเผา โดยเฉพาะการเผาในที่โล่งการก่อสร้างและการประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆดังนั้นหากจะแก้ปัญหาฝุ่นละออง ภาคประชาชนจะต้องช่วยกันลดการก่อให้เกิดฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสภาพอากาศที่ไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษทางอากาศ แต่ความรุนแรงจะลดลง หากเพิกเฉยกับประเด็นดังกล่าว และทางภาครัฐไม่มีการกำหนดมาตรการข้อกำหนดต่างๆที่เข้มข้นในช่วงวิกฤติ สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปีต่อๆไปอาจจะยังคงรุนแรงต่อเนื่องได้

จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของข้อเสนอมาตรการเฉพาะกิจระยะเวลา 90 วัน สำหรับช่วงกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี เพิ่มเติมจากในช่วงปกติ โดยเสนอให้มีการ “ลดจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ” ตัวอย่างเช่น
1) ขยายเขตพื้นที่การจำกัดเวลารถบรรทุกเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มจากเขตรอยต่อกับจังหวัดปริมณฑลออกไปถึงวงแหวนรอบนอก
2) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดเวลารถบรรทุกขนาดเล็กตาม พรบ.การขนส่งทางบก หรือป้ายทะเบียนสีเขียว เข้าในเขตกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วน
3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำกัดรถส่วนบุคคลเข้าในเขตกรุงเทพมหานคร ทะเบียนรถเลขคู่ในวันคู่และทะเบียนรถเลขคี่ในวันคี่ ในลำดับถัดไป ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือเพราะส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน
และ 4) ออกประกาศจังหวัด ห้ามเผาในที่โล่งโดยเด็ดขาด 90 วัน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

พร้อมกันนี้ต้องทำการ “ลดปริมาณการระบายมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิด” ควบคู่ไปด้วย ตัวอย่างเช่น
1) จัดการจราจรให้คล่องตัว ซึ่งจะทำให้การระบายมลพิษอากาศจากการคมนาคมขนส่งลดลง อาทิ ห้ามจอดรถริมถนนสายหลักทุกสายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่ 06:00 ถึง 21:00 น. และจัดระเบียบการจราจรและคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามกฎจราจรอย่างเขัมงวด
2) ควบคุมการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ให้ดำเนินมาตรการควบคุมการเกิดและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ตามข้อกำหนดของ กทม. และให้จังหวัดปริมณฑลดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
3) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้การก่อสร้างโครงการของรัฐปรับแผนการก่อสร้างเพื่อลดกิจกรรมหรือชะลอการก่อสร้างในส่วนที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง
และ 4) หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้มีการเผาศพเฉพาะที่ใช้เตาเผาศพไร้ควันเท่านั้น ทั้งนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้อีกมาก ดังที่มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอไว้

“อย่าตื่นตระหนกแต่อย่าวางใจ คาดว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะยังคงอยู่ไปจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพมาตรฐานการควบคุม ฝุ่นละอองที่กำลังดำเนินการและสภาพภูมิอากาศด้วย” ดร.สุพัฒน์ กล่าว

นอกจากการกำหนดมาตรฐานแก้ปัญหาจากภาครัฐแล้ว ประชาชนเองจะต้องตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานที่เกิดขึ้น ในแง่ของสุขภาพ

ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกุล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะเพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนว่าในช่วงที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศเกินค่ามาตรฐาน กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคหอบหืด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์นี้ จำเป็นต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ

พร้อมเผย 4 ข้อควรปฏิบัติสำหรับกลุ่มผู้ป่วย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่

1) หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้งในบริเวณที่มีฝุ่นมาก
2) ใช้หน้ากากอนามัยปิดจมูกปิดปากชนิด N95 เมื่อออกจากบ้าน
3) ควรพกและใช้ยาพ่นป้องกันหอบ ยาพ่นจมูกหรือรับประทานยาแก้แพ้อย่างสม่ำเสมอ
และ 4) พกน้ำตาเทียมหยอดตา หรือน้ำเกลือล้างจมูกเพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่อยู่ภายใน

อีกทั้งยังแนะนำถึงวิธีการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ที่ระบุว่าสมารถป้องกันอนุภาคขนาดเล็กได้ โดยหน้ากากหนึ่งอันสามารถให้ได้นานสองถึงสามสัปดาห์ สามารถใส่เฉพาะในสถานที่ที่คาดว่ามีฝุ่นละอองมาก เนื่องจากค่อนข้างอึดอัดกว่าแบบทั่วไป แต่สามารถกันไวรัสหวัดและฝุ่นละอองได้ดีกว่าแบบผ้าและแบบธรรมดา

ด้าน รศ.ดร. นันทวรรณ วิจิตรวาทการ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นและผลกระทบ คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าให้เห็นภาพของฝุ่น PM2.5 อย่างง่ายๆว่า ฝุ่น PM2.5 จำนวน 25,600 ชิ้น สามารถอัดอยู่ในสัญลักษณ์ จุด(.) ตัวอักษร Time new roman ขนาด 14 เพียงจุดเดียว ซึ่งแน่นอนว่าฝุ่นขนาดเล็กนี้สามารถเข้าไปถึงปอดของมนุษย์ และส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจได้

รศ.ดร.นันทวรรณ มองว่า การปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เพราะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ และการสูญเสียทางเศรษฐกิจ อันเนื่องจากค่ารักษาพยาบาล ไม่สามารถไปทำงานได้ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องจากเหตุมลพิษในอากาศ สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวิกฤติควรจะมีระบบเตือนภัยให้ประชาชนในกลุ่มที่อ่อนไหว คือกลุ่มทั้งเด็ก แม่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ เหมือนในต่างประเทศ เช่น วันนี้ต้องลดออกกำลังกายนอกบ้านเนื่องจากมีปริมาณฝุ่นละอองสูง

ในส่วนภาคเอกชนควรช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาส่วนของมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด สื่อมวลชนและภาคประชาชนก็ควรให้ความสนใจเรื่องฝุ่นละอองอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่ช่วงที่เกิดวิกฤติ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้เกิดการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป

ปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เกิดขึ้นจากฝุ่นละอองเล็กๆจำนวนมหาศาล ที่มนุษย์หลายๆคนร่วมกันสร้างเป็นระยะเวลายาวนานจนกลายเป็นวิกฤติ หนทางแก้ไขจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของรัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนจะต้องตระหนักถึงปัญหานี้ ร่วมมือแก้ไขและป้องกันไม่ให้ปัญหาฝุ่นละอองนี้ลุกลามจนเกินเยียวยา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทศพร โชคชัยผล

ทศพร โชคชัยผล

ทำงานข่าวกว่า 20 ปี มีความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ ผ่านประสบการณ์ทำข่าวสายเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล