X
ทิพยสุดา ถาวรามร

ก.ล.ต.อนุมัติเกณฑ์ซื้อขาย7สกุลเงินดิจิทัล

สำนักงานก.ล.ต.เตรียมออกหลักเกณฑ์อนุญาตให้ระดมทุนด้วยสกุลเงินดิจิทัล หรือ ไอซีโอ พร้อมอนุมัติให้เงินดิจิทัล 7 สกุลเงินสามารถซื้อขายได้

สกุลเงินดิจิทัล เกิดขึ้นในยุคการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยธุรกิจสามารถระดมทุนด้วยการออกเหรียญดิจิทัล หรือเรียกว่าไอซีโอ (ICO — Initial Coin Offering) เป็นวิธีระดมทุนใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ซึ่งแทนที่ผู้ลงทุนจ่ายเงินเพื่อแลกกับหุ้นเหมือนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่พวกเขาจะได้รับเหรียญดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้

ผู้ต้องการระดมทุนผ่านไอซีโอ จะออกเหรียญดิจิทัล โดยกำหนดจำนวนและราคาได้ตามต้องการ ขณะที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิต่างๆตามเงื่อนไขของผู้ระดมทุน อีกทั้งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกับเงินปกติทั่วไปได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลเรื่องหลักเกณฑ์และกฏระเบียบต่างๆ ซึ่งก.ล.ต. คาดว่าจะออกประกาศที่เกี่ยวข้องได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้

ทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต.ชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล จากการประชุมของ ก.ล.ต. ในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า แนวทางที่เสนอได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนในหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียและการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง (focus group)

หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยให้มีความชัดเจนสำหรับผู้ที่ต้องการออกไอซีโอ ตัวกลางที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงหรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน

สำหรับเกณฑ์การอนุญาต โดยกำหนดว่าผู้ที่จะออกไอซีโอ จะต้องเข้าเกณฑ์พิจารณาต่อไปนี้

  • ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย ถูกต้องตามนโยบายคลัง 
  • งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบข้อกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน 
  • มีการเปิดเผยชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (source code)
  • มีหนังสือชี้ชวน
  • มีรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ

ทั้งนี้ การเสนอขายจะต้องดำเนินการผ่านผู้ให้บริการเสนอขาย (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยไอซีโอพอร์ทัล จะทำหน้าที่คัดกรองโครงการและทำความรู้จักตัวตน และสถานะตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน

การออกไอซีโอแต่ละครั้ง กำหนดประเภทผู้ลงทุนที่เสนอขายได้ คือ ผู้ลงทุนสถาบัน, ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UHNW) เช่น บุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สุทธิมากกว่า 70 ล้านบาทขึ้นไป, กิจการร่วมลงทุน (PE/VC) และ ผู้ลงทุนอื่นๆ รายละไม่เกิน 300,000 บาท/deal โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งของ deal และสัดส่วนผู้ถือหุ้นประเภทนี้ไม่เกิน 4 เท่าของส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสนอขาย หรือไม่เกิน 70% ของมูลค่าทั้งหมดที่เสนอขาย แล้วแต่ว่ามูลค่าใดสูงกว่า

ส่วนสาเหตุที่จะทำให้ ก.ล.ต. พิจารณาปฏิเสธหรือไม่อนุญาตให้เสนอขาย ประกอบไปด้วย

  • เค้าความเป็นการเลี่ยงกฎหมาย โดยใช้เกณฑ์พิจารณาตามฝั่งหลักทรัพย์
  • ขัดต่อนโยบายสาธารณะ/นโยบายรัฐ
  • กระทบความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทยโดยรวม
  • อาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอ

สำหรับผู้ที่ต้องการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน สามารถขอใบอนุญาตได้โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  1. ศูนย์กลางหรือเครือข่ายเพื่อการซื้อขาย (Exchange)
  2. นายหน้าหรือตัวแทนเพื่อการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Broker)
  3. ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนในนามตนเองนอก exchange (Dealer)

โดยต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ดังนี้

1. Centralized (จำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ลูกค้าได้เอง)

– Exchange : 50 ล้านบาท

-Broker : 50 ล้านบาท

2. Decentralized (จำหน่ายจ่ายโอนสินทรัพย์ลูกค้าไม่ได้ หากลูกค้าไม่ลงมือเองหรือลงมือด้วย)

– Exchange : 10 ล้านบาท

-Broker : 5 ล้านบาท

3. Broker ที่เป็นเพียงช่องทางส่งคำสั่งโดยมิได้ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินลูกค้า : 1 ล้านบาท

4. Dealer 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซื้อขาย ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการ ก.ล.ต. ด้วย

การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใดๆ ในศูนย์ซื้อขายต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทหรือ7ในรายชื่อที่ประกาศกำหนดเท่านั้น ประกอบด้วย Bitcoin, Bitcoin Cash, Ethereum, Ethereum Classic, Litecoin, Ripple และ Stellar 

ทิพย์สุดา เผยว่าเหตุที่เลือกคริปต์โตเคอร์เรนซีทั้ง 7 ตัวนี้ เกิดจากการรับฟังความคิดเห็นจากการโฟกัสกรุ๊ป และพิจารณาเห็นแล้วว่า มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่งไม่มีปัญหาว่ามีความพยายามจะเลี่ยงหลีกกฎหมาย หรือพยายามจะปิดบังตัวจนจากการตรวจสอบ เป็นที่นิยม ทำให้มีสภาพคล่อง เหมาะกับการใช้งาน

อนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบในการประกาศยกเว้นโทเคนดิจิทัล ที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (utility token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่า คงที่เทียบเท่ากับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง utility token ด้วยกัน ที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่าวเหรียญในเกม หรือสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. นี้

“หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้ ได้พยายามจะหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จากของจริงไปด้วยกันระหว่างทางการและภาคธุรกิจ” ทิพยสุดา กล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ทศพร โชคชัยผล

ทศพร โชคชัยผล

ทำงานข่าวกว่า 20 ปี มีความสนใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ ผ่านประสบการณ์ทำข่าวสายเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล