X

ยโสธรพบอุโบสถเก่าโบราณศิลปะแบบญวน

ที่จังหวัดยโสธรพบว่ามีอุโบสถ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สิม เก่าแก่โบราณอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี ตั้งอยู่ภายในวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง

อุโบสถแห่งนี้ก่อสร้างโดยช่วงญวนเป็นอาคารที่ผสมผสานตกแต่งตามแบบศิลปะพื้นถิ่นกับศิลปะฝีมือช่างญวน
ที่วัดธรรมรังสีนิคมเขต บ้านนากอก ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร พบว่ามีอุโบสถเก่าแก่อายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี หรือชาวบ้านเรียกว่าสิมเก่า มีลักษณะเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ดประทับด้วยช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ ซึ่งทำด้วยไม้ หน้าบันประดับด้วยรูปปั้นเหนือประตูหน้าต่างทำเป็นกรอบซุ้มโค้งนับเป็นอาคารที่ผสมผสานการตกแต่งตามแบบศิลปะพื้นถิ่นกับศิลปะฝีมือช่างญวนได้อย่างงดงาม

ส่วนบานประตูหน้าต่างรวมทั้งโครงสร้างหลังคาทำด้วยไม้ประดู่และไม้แดง บริเวณประตูทางเข้ายังพบว่ามีรูปแกะสลักเป็นทหารเวียดนามยืนเฝ้าประตูอยู่ 2 คน นอกจากนี้แล้วภายในอุโบสถมีพระประธานที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 15 นิ้ว สูง 30 นิ้ว คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวบ้านมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเดิมทีในอุโบสถแห่งนี้จะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในอุโบสถได้เลยแต่ต่อมาเมื่อมีการบูรณะซ่อมแซมใหม่เมื่อปี 2555 จึงอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปกราบไหว้พระประธานภายในอุโบสถได้
พระอธิการอุดม ปริปุณโน เจ้าอาวาสวัดธรรมรังสีนิคมเขต บอกว่า ตามประวัติบ้านนากอกแห่งนี้เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ก่อตั้งหมู่บ้านมาตั้งแต่ พ.ศ.2374 โดยแยกมาจากบ้านบุ่งค้า ซึ่งบรรพบุรุษดั้งเดิมอพยพมาจากเมืองเซโปนและเมืองวัง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

สิม หรืออุโบสถ แห่งนี้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2465 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2475 ก่อสร้างโดยช่างชาวเวียดนามมีความกว้างประมาณ 9 เมตร ยาว 15 เมตร โดยช่างผู้ก่อสร้างได้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปช่วยกันขุดดินเหนียวนำมาปั้นเป็นก้อนแล้วนำไปเผาไฟก่อนที่จะนำไปก่อสร้างเป็นผนังอุโบสถทั้งหลังจนแล้วเสร็จเพื่อเป็นสถานที่ให้ชาวบ้านได้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนารวมทั้งเป็นสถานที่เคารพกราบไหว้ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านนากอกเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในสมัยก่อนจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในอุโบสถแห่งนี้ได้แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2555 ทางกรมศิลปากรได้เข้าไปบูรณะซ่อมแซม หลังจากนั้นจึงอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปภายในอุโบสถได้ พร้อมทั้งประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 119 ตอนพิเศษ 131 ง หน้า 2 ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2545 กำหนดพื้นที่โบราณสถานประมาณ 1 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธงชัย สุณีศรี

ธงชัย สุณีศรี

ปริญญาตรี สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี 2539