X

ประวัติเมืองยโสธร

จุลศักราช 1132 ปีมะแม เจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมื่อรับพระราชทานศิลาหน้าเพลิงมาปลงศพเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดให้หลานเจ้านครจำปาศักดิ์องค์เดิมคือพระเจ้าไชยกุมารเป็นผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบไปฝ่ายเจ้าราชวงศ์เมืองโขง คือเจ้าราชวงศ์สิงห์ หลานเจ้าพระยาวิชัยขัตติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์คนเดิม ไม่พอใจที่จะอยู่ในความปกครองของเจ้านครจำปาศักดิ์คนใหม่ จึงได้ขอกลับมาอยู่ที่บ้านสิงห์ท่าซึ่งเป็นบ้านเดิมและได้นำเอาอัฐิของเจ้าพระยาวิชัยราชขัตติยวงศา กลับมาที่บ้านสิงห์ท่าด้วย ได้ก่อเจดีย์บรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ ใกล้กับพระธาตุพระอานนท์ ซึ่งยังปรากฏอยู่จนบัดนี้

เมื่อเจ้าราชวงศ์สิงห์ กลับมาอยู่ที่บ้านเดิมแล้ว ได้เอาใจใส่ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้น ต่อมาปี พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมืองในนามว่า เมืองยโสธร หรือยศสุนทร ขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ เป็นเจ้าครองเมือง มีราชทินนามว่าพระสุนทรราชวงศา

ในปี 2494 กระทรวงมหาดไทย ได้ริเริ่มขอตั้งเมืองยโสธร ขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ให้เป็นจังหวัดยโสธร โดยได้รับการสถาปนาเป็นจังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2515

สภาพภูมิประเทศ จังหวัดยโสธร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยรถยนต์ประมาณ 552 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศทั่วไป เป็นที่ราบสุงอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 227 ฟุต

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตจังหวัดมุกดาหาร และร้อยเอ็ด
ทิศใต้ ติดต่อเขตจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดต่อเขตจังหวัดอำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก ติดต่อเขตจังหวัดร้อยเอ็ด

การเมืองการปกครอง จังหวัดยโสธร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ 78 ตำบล 875 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง 8 เทศบาลตำบล 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด 78 องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนประชากร 551,249 คน
สัญลักษณ์ จังหวัดยโสธร มีดวงตาประจำจังหวัดเป็นรูปสิงห์ หันหน้าเข้าหาพระธาตุพระอานนท์ และมีดอกบัวอยู่ใต้ฐานพระธาตุ

คำขวัญ คำขวัญประจำจังหวัดยโสธร คือ “เมืองบั้งไฟโก้ แตงโมหวาน หมอนขวานผ้าขิด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ”
วิสัยทัศน์จังหวัดยโสธร

จังหวัดยโสธร เป็นเมืองน่าอยู่ นำเกษตรอินทรีย์สู่สากล
พระธาตุอานนท์
พระธาตุอานนท์ หรือพระธาตุยโสธร ประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองยโสธรเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองและเป็นพระธาตุสัญลักษณ์ของเมืองยโสธร
พระธาตุ มีลักษณะเป็นองค์พระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมหรือทรงพรหม 4 หน้า ฐานกว้าง 4 วา สูงสุดยอด 12 วา 2 ศอกเศษ สูงเด่นเป็นสง่าแผ่รังสีแห่งความเลื่อมใสศรัทธาคู่บ้านคู่เมืองมานานนับพันปี มีลักษณะคล้ายกับพระธาตุเวียงจันทน์ หรือพระธาตุศรีสองรักษ์ จังหวัดเลย

ตามตำนานได้กล่าวว่า พระธาตุพระอานนท์ เป็นพระธาตุที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1218 โดยชาวเวียงจันทน์ ชื่อว่า เจตตาชานุวิน กับจินดาชานุ พร้อมด้วยเอียงเวซา ผู้เป็นเจ้าบ้านชาวขอม ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุองค์นี้ขึ้น เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระอานนท์เถระเจ้า ซึ่งได้มาจากเทวนคร ประเทศอินเดีย ซึ่งรายละเอียดมีบันทึกไว้ที่ตำนานวัดมหาธาตุดังนี้

“ข้าพเจ้านามกรชื่อว่า เจตตาชานุวิน ผู้สร้างพระธาตุไว้ คือว่าท่านองค์นั้นเป็นลูกน้องแม่ของตู สร้างแปดเดือนกับซาวห้ามื้อจึงแล้วแลท่านเอย ข้าพเจ้าเกิดอยู่เวียงจันทน์ ได้พากันออกบวชทำเพียร นานนับกว่าสามสิบปีปลายซาวห้ามื้อ เห็นว่าท้าวพระยาทั้งหลายนับถือดอนปู่ปาวเป็นบ่อนไหว้ ข้าพเจ้าจึงว่าทีนี้ตูจักไปหานำของศักดิ์สิทธิ์มาไว้ เพื่อว่าจักได้เป็นมงคลในภายภาคหน้า จึงได้เดินกัมมัฎฐานไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่สืบไต่ถามประมาณว่าได้สองปีปลาย 10 เดือน 11 มื้อ จึงได้ฮอดเมืองเทวนคร ไปเถิงแล้วคนทั้งหลายก่อสร้างพระธาตุพร้อมทั้งเสนาท้าวพระยาใหญ่น้อย คือว่าบ่อนพระธาตุอันเก่าอยู่คับแคบในเมืองเสนา ไหว้พระยาในเมืองเทวนคร พร้อมเพรียงกันก่อสร้าง 7 เดือน จึงแล้วแลท่านเอย ท่านพระยาทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระธาตุแล้วไขปักตูเข้าไปได้ 3 ชั้น เห็นหมู่หีบเงิน 3 ชั้น ไขหีบเงินแล้วเห็นหมู่หีบคำ 7 ชั้น ไขหีบคำแล้วเป็นหมู่หีบแก้วไพฑูรย์ 2 ชั้น ไขหีบหมู่แล้วไพฑูรย์แล้ว เห็นผ้ากระจำคำห้าฮ้อยชั้น จึงเห็นผ้าสีขาวอันอ่อนเหมือนสำลี หลายชั้น จึงเห็นกระดูกและฝุ่น จึงถามว่า เป็นกระดูกของไผ เขาจึงตอบว่า เป็นกระดูกพระอานนท์เถระเจ้า พระยาจึงถามอีกว่าพระธาตุนี้เป็นมาดังลือชา เขาบอกว่าเป็นมาแต่ปู่บอกเล่ากันมา ตูข้าจึงนับถือมาจนบัดนี้ คือพระอานนท์ ได้อธิษฐานแล้วแต่งเครื่องบูชาด้วยของต่าง ๆ พระธาตุนั้นก็บังเกิดมีลมพัดผ้ากระจ๋าคำขึ้นไปเทิ้งฟ้า แล้วพระยาจึงได้อธิษฐานอยู่ในใจ ทันใดนั้นผ้ากระจ๋าก็ตกลงมาเทิ้ง 500 ผืน ก็นับว่าเป็นอัศจรรย์อยู่ จึงได้ขอวิงวอนวานถึงท้าวพระยาหลายวันจึงได้ผงธุลีประมาณว่า ได้เต็มเปลือกไข่นกกระเรียนนั้นแล กับกระดูกเท่าดอกสังวาลย์ จึงได้นำไปเถิงเวียงจันทน์นั้น นานประมาณว่าได้ปี ปลาย 11 เดือน แล้วว่าจะสร้างพระธาตุบรรจุพระอัฐิ เกิดความติฉินนินทาว่าผิดฮีตบุฮาน จึงได้ไล่ข้าพเจ้าหนีมาอยู่นำขอมนานว่าได้ 3 ปี จึงได้ชักชวนขอมผู้เป็นเจ้าบ้านชื่อว่าเอียงเวซา ผู้เป็นใหญ่มาสร้างไว้ในดงผีสิงนี้ ไกลจากบ้านคน 7 ฮ้อยชั่วขาธนู หมู่หีบหินเช่นดังสิ่งใด เครื่องสร้างฝังไว้ในพายัพไกลฮ้อยเจ็ดชั่วขาธนู แล้วสิ่งของในพระธาตุหลายสิ่ง เมื่ออยากฮุ้แจ้ง ให้เบิ่งในประวัติเล่มใหญ่ ซึ่งอยู่กับเอียงเวซา ผู้เป็นเจ้าบ้านอันหนึ่ง เขียนลงแผ่นทองแดงไว้แจพระธาตุทิศตะวันตก แลทางใต้อันหนึ่ง แผ่นทองคำธรรมชาติไว้ใต้พื้นพระธาตุเพื่อยากชื่อแจ้งข้าพเจ้าทั้งสองเป็นหัวหน้าสร้างพระธาตุลูกนี้พระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุพระอานนท์ โดยแท้แลท่านเอย….

หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์
เป็นหอไตรเก่าแก่แต่โบราณ สร้างมาแล้วประมาณร้อยกว่าปี มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าหรือไทยใหญ่ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.50 เมตร หลังคามุงสังกะสี มีชายคายื่นทั้ง 4 ทิศ หลังคามี 4 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไปมีประตูด้านหน้า 1 ช่อง บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฏกแต่โบราณ สร้างอยู่กลางสระน้ำลึก ปัจจุบันสภาพชำรุดทรุดโทรม ตั้งอยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ บ้านนาเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร

หมอนขวานผ้าลายขิดบ้านศรีฐาน
บ้านศรีฐาน ตำบลศรีฐาน อ.ป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในด้านหัตถกรรมการทำหมอนขิด ซึ่งได้รักษาวัฒนธรรมทางหัตถกรรมของภาคอีสานไว้ได้อย่างดีเยี่ยมและยังได้นำมาประยุกต์เข้ากับศิลปะปัจจุบัน ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืน ตามสมัยนิยมจากการสอบถามผู้รู้เกี่ยวกับประวัติบ้านศรีฐาน 2 คน คือคุณพ่อทอง ไวว่อง (ผู้วายชนม์ไปแล้ว) ซึ่งเป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านศรีฐาน และนายเคียร วรพันธ์ เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านศรีฐาน ทั้งสองท่านได้อ้างหนังสือตำนานการสร้างพระธาตุพนม ซึ่งเป็นใบลานเก่าแก่ ตรงกันว่าได้อ่านพบในสมัยที่ท่านทั้งสองอุปสมบทอยู่ที่วัดศรีฐานใน หนังสือใบลานเก่าแก่ ตรงกันว่าได้อ่านพบในสมัยที่ท่านทั้งสองอุปสมบทอยู่ที่วัดศรีฐานใน หนังสือใบลานผูกดังกล่าว ได้กล่าวถึงประวัติการสร้างพระธาตุในบ้านบางตอนของหนังสือ ได้กล่าวถึงประวัติหมู่บ้านตาดทอง บ้านสะเดา บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) และบ้านศรีฐานรวมอยู่ด้วย

บ้านศรีฐานในปัจจุบัน ตามหลักศิลาจารึกของหลวงปู่ฟ้ามืด ซึ่งมรณภาพเมื่อปี 2504 ขณะมีอายุได้ 80 ปี กล่าวว่า เดิมบ้านศรีฐานตั้งอยู่ดงศิลาเลข ตรงที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบัน เป็นป่าใหญ่ มีสัตว์ชุกชุมมาก เฒ่าศรีซึ่งเป็นนายพรานจึงมาตั้งห้าง ตั้งทับเป็นฐานล่าสัตว์อยู่บ่อย ๆ ก็เกิดมีความคุ้นเคยหรือเสน่หาในดงไม้แห่งนี้ จึงได้เชิญชวนเพื่อนบ้านมาตั้งหมู่บ้านอยู่ โดยอพยพมาจากดงศิลาเลขพร้อม ๆ กันนั้นได้นิมนต์หลวงปู่ฟ้ามืด ผู้มีฤทธิ์ ทำให้ดวงอาทิตย์มืดได้ ในเวลากลางวันในวันสงกรานต์ มาตั้งวัดและจำพรรษาอยู่ด้วย การอพยพมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่นี้คงอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 และที่วัดศรีฐานใน ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แห่งนี้ เมื่อ 20-30 ปีมานี้ ยังมีฝูงลิงป่าอาศัยอยู่จำนวนมาก ลิงป่าเหล่านี้ทุกเย็นเวลาพระฉันน้ำชา ฝูงลิงจะมานั่งเก้าอี้คอยรับแจกน้ำชาด้วย ถ้าตัวใดยังไม่อิ่มก็จะไม่ยอมขึ้นต้นไม้จนกว่าจะได้รอบสอง และในการดื่มนำชาของลิงก็จะมีการเป่าการเสยคางเหมือนพระเณรทำด้วย เป็นที่น่าเสียดายที่ฝูงลิงอพยพหนี เพราะคนใจร้ายไม่พี่คนพากันไล่ยิงไล่ฆ่า เพราะเหตุนิดเดียว ขณะนี้ยังมีลิงอยู่ที่บ้านเตาไหใกล้ ๆ กัน หลังจากพรานศรีและหลวงปู่ฟ้ามืดได้เป็นหลักชัยในการตั้งหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว บ้านศรีฐานก็ได้พัฒนาเรื่อย ๆ ตามลำดับของการวิวัฒนาการจากหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางป่าใหญ่ เป็นหมู่บ้านพัฒนาตัวอย่างในปัจจุบัน

แหล่งท่องเที่ยวประเภทหมู่บ้านหัตถกรรม
หมู่บ้านทำหมอนขิดบ้านศรีฐาน
อยู่ที่อำเภอป่าติ้ว ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กม. ตามเส้นทางยโสธร ป่าติ้ว-อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18-19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลาดยางอีก 3 กม. หลังฤดูทำนาชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้าและทำหมอนขิด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิดไว้เป็นที่ระลึก
บ้านทุ่งนาโอก ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 2169 (ยโสธร-กุดชุม) มีชื่อเสียงในการจักสานไม้ไผ่ เพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและของที่ระลึก

หมู่บ้านนาสะไมย
ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านทุ่งนาโอก มีชื่อเสียงในเรื่องการจักสานไม้ไผ่และการแกะสลักเกวียนจำลองที่ปราณีตงดงาม

แหล่งท่องเที่ยวประเภทงานประเพณีและเทศกาล
งานประเพณีบุญบั้งไฟ
มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ กิจกรรมที่สำคัญในงานประกอบด้วย วันแรก จะมีการจัดขบวนแห่บั้งไฟตกแต่งไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมือง การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การจัดงานเลี้ยงพาข้าวแลงและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง วันที่สอง จะมีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ

พิธีกรรม บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่าง ๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือนแล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่าง ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่น ๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี


บั้งไฟที่จัดทำให้มีหลายชนิด คือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 ดินประสิว 10 หมื่น หรือ 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหน ก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตร บั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องเป็นไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้นเพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน

ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิ่งไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา

ของฝากจากยโสธร
ของฝากของที่ระลึกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดได้แก่ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น หมอนขวาน ผ้า
ลายขิด เกวียนจำลอง กระติบข้าว และเครื่องจักสานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีของฝากประเภทอาหาร
การกิน เช่น ปลาส้มยโส ปลาตอง ข้าวลอดช่องใบเตย เป็นต้น

ยโสธร ความเป็นมา
จากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราว ๆ ปี พ.ศ.2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงเห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่ เรียกว่า “บ้านสิงห์ท่า” หรือ “เมืองสิงห์ท่า” ต่อมาใน พ.ศ.2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น “เมืองยโสธร” ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศาในปี พ.ศ.2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515

แหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดและโบราณสถาน
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองเป็นวัดคู่ยโสธรมาตั้งแต่สร้างเมือง (บ้านท่าสิงห์เดิม) โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือ พระพุทธบุษยรัตน์ พระธาตุยโสธร และหอไตร

หอไตร
เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานของวัดตั้งอยู่ตรงกลางสระทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระธาตุแผนผัง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลักษณะแบบหอไตรภาคอีสานทั่วไป มีทางเดินโดยรอบติดกันใต้ชายคาบริเวณนี้เป็นที่เก็บรักษาตู้พระธรรมหีบพระธรรม เสลี่ยง ชั้นวางคัมภีร์ ซึ่งนำมาจากเวียงจันทน์ ที่ซุ้มประตูและบานประตูไม้สลักลวดลายเครือเถาลงรักปิดทองอย่างสวยงาม มีลวดลายการตกแต่งฝาผนังซึ่งลักษณะผสมแบบภาคกลาง ทำให้กล่าวได้ว่าหอไตรน่าจะสร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ 4-5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธบุษยรัตน์หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะสมัยเชียงแสน ขนาดหน้าตักกว้าง 1.9 นิ้ว เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก

พระธาตุยโสธร หรือพระธาตุอานนท์
เป็นพระธาตุรุ่นเก่าที่สำคัญองค์หนึ่งในภาคอีสานเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดคล้ายพระธาตุพนม ภายในพระธาตุบรรจุอัฐิธาตุของพระอานนท์ การก่อสร้างได้รับอิทธิพลศิลปะลาวที่นิยมสร้างขึ้นเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับประวัติการตั้งเมืองและประวัติของวัดมหาธาตุฉบับหนึ่งว่าสร้างราว พ.ศ.2321 โดยท้าวหน้า ท้าวคำสิงห์ ท้าวคำผา ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีเก่าของกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ต่อมาได้อพยพผู้คนภายใต้การนำของพระวอ พระตา ราว พ.ศ.2313-2319 มาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่นี้
ลักษณะพระธาตุ ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวด้านละ 81 เมตร ก่ออิฐถือปูนเอวฐานคอดเป็นรูปบัวคว่ำ บัวหงาย เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ มีซุ้ม 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ส่วนยอดพระธาตุมียอดปลีเล็กแซมทั้ง 4 ด้าน ยอดกลางทรงสี่เหลี่ยมสอบมี 2 ชั้น รูปแบบการก่อสร้างคล้ายกับพระธาตุก่องข้าวน้อยและทางวัดจะจัดให้มีงานสมโภชน์พระธาตุอานนท์ขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมีนาคม

ธาตุก่องข้าวน้อย
เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร
ธาตุก่องข้าวน้อยเป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงแปลกไปจากเจดีย์โดยทั่วไป คือมีลักษณะเป็นก่องข้าว องค์พระธาตุเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สามฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 2 เมตร ก่อสูงขึ้นไปประมาณ 1 เมตร ช่วงกลางขององค์พระธาตุมีลวดลายทำเป็นซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ถัดจากช่วงนี้เป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ค่อย ๆ สอบเข้าหากัน เป็นส่วนยอดรอบนอกของพระธาตุก่องข้าวน้อย มีกำแพงอิฐลิ้มรอบขนาด 5×5 เมตร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังมีพระพุทธรูปอยู่องค์หนึ่งก่อด้วยอิฐ ชาวบ้านนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และในเดือนห้าจะมีผู้คนนิยมมาสรงน้ำพระและปิดทอง ซึ่งเชื่อกันว่าถ้าไม่ทำเช่นนี้ฝนจะแล้งในปีนั้น
ธาตุก่องข้าวน้อยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่น ๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดาส่งข้าวสายเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววุบทำให้เขากระทำมาตุฆาตด้วยสาเหตุเพียงแต่ว่าข้าวที่เอาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมด จึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงแต่มารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต
นอกจากนี้ที่บริเวณบ้านตาดทองกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเรื่องราวของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์และภาชนะลายเขียนสีแบบบ้านเชียง

แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย
บ้านสงเปือย ตั้งอยู่ที่อำเภอคำเขื่อนแก้ว ห่างจากตัวเมืองยโสธร 25 กม. ตามเส้นทางยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-อุบลราชธานี โดยทางหลวงหมายเลข 23 จะมี ทางแยกขวาเข้าอีกราว 10 กม. สิ่งสำคัญและปูชนียสถานที่น่าสนใจมีดังนี้

พระพุทธรูปใหญ่ เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 8 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยอิฐ ปูนมีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี เป็นที่สักการะของประชาชนในท้องถิ่น ถือเป็นพระพุทธรูป ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง

รอยพระพุทธบาทจำลอง
จัดสร้างโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงในวันสงกรานต์ของทุกปีมีประชาชนในท้องถิ่นมาสรงน้ำเป็นจำนวนมาก

พิพิธภัณฑ์ของโบราณ
เป็นสถานที่รวบรวมของโบราณซึ่งเก็บและขุดมาได้จากดงเมืองเตยเมืองเก่าสมัยขอม ในพิพิธภัณฑ์นี้มีเตียงบรรทมเจ้าเมือง (เป็นศิลา) และศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมโบราณ

เมืองโบราณดงเมืองเตย
อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือย ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร ภายในบริเวณดงเมืองเตยมีซากวัด สระน้ำ กำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว แต่ยังมีเค้าโครงเดิมพอจะสันนิษบานได้ว่า เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัยเจนละ-ทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากข้อความที่ พบในจารึกของกษัตริย์เจนละ แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ ในช่วงเวลานั้นบริเวณดงเมืองเตยรวมทั้งชุมชนใกล้เคียงก็คงจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขะปุระ” ซึ่งคงจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละซึ่งก็คืออาณาจักรขอมในสมัยต่อมาที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว กู่จานตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว ห่างจากอำเภอไปทางทิศตะวันออก 12 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรัง ห่างจากตัวจังหวัด 35 กม. ตามตำนานเล่าว่า กู่จานมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

พระพุทธบาทยโสธร
ตั้งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอไปทางทิศตะวันตก 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2083 ห่างจากตัวจังหวัด 47 กม. พื้นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เป็นเนินทรายขาวสูงงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มน้ำชี นับเป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจังหวัดบริเวณเดียวกันนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาแลง) 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก และหลักศิลาจารึกทำด้วยศิลาแลง 1 หลัก สูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 50 เซนติเมตร มีตัวหนังสือโบราณบันทึกไว้ว่าโบราณวัตถุทั้ง 3 อย่างนี้พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริกได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1378 นอกจากนั้นก็เขียนบอกคำนมัสการพระพุทธบาทไว้บางตัวก็อ่านไม่ออกเพราะเลือนลางมาก ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปีจะมีประชาชนจากอำเภอและตำบลใกล้เคียงไปนมัสการเป็นจำนวนมาก

หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์
ตั้งอยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ บ้านนาเวียง หมู่ที่ 1 ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 25 กม. เป็นหอไตรเก่าแก่แต่โบราณสร้างมาแล้วประมาณร้อยกว่าปี มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าหรือไทยใหญ่ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.50 เมตร หลังคามุงสังกะสี มีชายคายื่นทั้ง 4 ทิศ หลังคามี 4 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไป มีประตูด้านหน้า 1 ช่อง บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฏำแต่โบราณสร้างอยู่กลางสระน้ำลึก

ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า
บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่า ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง เป็นย่านเมืองเก่าที่ปรากฎนามอยู่ในประวัติศาสตร์ การก่อตั้งเมืองปัจจุบันในบริเวณดังกล่าวยังคงมีตึกแถวโบราณที่รูปทรงและลวดลายงดงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติ

สวนสาธารณะพญาแถน
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนแจ้งสนิท (ทางหลวงหมายเลข 23) ติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน ภายในสวนพญาแถนมีลำน้ำเล็ก ๆ คดเคี้ยวล้อมรอบพื้นที่ 18 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา บริเวณโดยรอบประกอบด้วย สวนไม้ดอกไม้ประดับ สังคีตศาลา (เวทีการแสดงกลางแจ้ง) สนามเด็กเล่นและสวนสุขภาพ ทางเทศบาลกำหนดให้สวนพญาแถนเป็นสถานที่จัดงานบั้งไฟประจำปี (พญาแถนเป็นชื่อเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อของชาวอีสานว่าเมื่อถึงเดือนหกอันเป็นเดือนต้นฤดูฝน จะต้องทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนฟ้าถวาย พญาแถนฝนจะได้ตกต้อง ตามฤดูกาล) นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงาน แข่งเรือสั้นประจำปี และงานสงกรานต์

ภูถ้ำพระ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านกุดแห่ หรือกุดแห่ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา ห่างจากอำเภอ 12 กม. ตามทางหลวงหมายเลข 212 และห่างจาก อ.เมือง 85 กม. ที่เรียกว่า “ภูถ้ำพระ” เนื่องจากมีพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำจำนวนมากล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ถ้ำพระนี้เป็นถ้ำใหญ่กว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 8 วา ตั้งอยู่ซะง่อนภูด้านทิศใต้ มีทางเข้าไปตามซอกหินเป็นอุโมงค์จากปากถ้ำ เลยไปทางทิศเหนือสามารถเดินลอดไปได้อย่างสบายบนภูเขาลูกนี้ นอกจากจะมีบรรยากาศร่มเย็นและร่มรื่นไปด้วยป่าไม้หนาทึบแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีถ้ำอื่น ๆ อีก อาทิ ถ้ำเค็ง ถ้ำชูชวง ถ้ำเกลียง และถ้ำพรหมบุตร

การเดินทาง
รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึง จ.สระบุรี จึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่าน จ.นครราชสีมา ไปทาง อ.พิมาย ผ่านอ.หนองสองห้องและ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น แล้วจึงแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่าน อ.บรบือ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด อ.ธวัชบุรี อ.เสลภูมิ แล้วจึงถึง จ.ยโสธร รวมระยะทางประมาณ 531 กม.ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง

รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพมีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือกรุงเทพฯ ทุกวัน

สำหรับผู้โดยสารโดยรถไฟหรือเครื่องบินจะต้องลงที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วต่อรถยนต์มาลงที่ยโสธรอีก 99 กิโลเมตร

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธงชัย สุณีศรี

ธงชัย สุณีศรี

ปริญญาตรี สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี 2539