X

วิจารณ์แซด !! สั่งระดมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจและกลุ่มมวลชนไปตัดอ้อย

สระแก้ว – วิจารณ์แซด !! สั่งระดมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการ ทหาร ตำรวจและชาวบ้าน ไปตัดอ้อยแก้ปัญหาอ้อยตกค้างไร่กว่า 4 แสนตัน กลัวไม่ทันปิดหีบโรงงาน ระบุการตัดอ้อยครั้งแรกในชีวิตเหนื่อยสุด ๆ ทำทั้งวันคงไม่ไหว โดยนายสมาคมไร่อ้อยฯบอก เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด แทนที่จะเจรจาแก้ปัญหาการนำแรงงานเข้ามาไม่พอเพียง และสั่งการโรงงานให้ดำเนินการขยายการเปิดหีบเพิ่ม หรือชดเชยเยียวยา เจรจาทำสัญญากับคู่สัญญาแทนชาวไร่ เพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้องหรือพักหนี้ ชี้คนเหล่านี้ไม่มีความชำนาญและไม่เคยตัดอ้อยมาก่อน ทำได้แค่มายืนถ่ายรูปสร้างภาพและสิ้นเปลืองงบประมาณ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณ ม.2 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว มีการระดมคนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อยในพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ตามหนังสือสั่งการด่วนที่สุดของ นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ ที่ สก.0918.1/ว.326 เมื่อวันที่ 4 พ.ค.61 ที่ผ่านมา เรื่องการดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มพลังมวลชนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการตัดอ้อย เนื่องจากจังหวัดสระแก้ว แจ้งว่า เกษตรกรประสบปัญหาอ้อยคงค้างไม่สามารถตัดอ้อยให้ทันกำหนดในการปิดหีบอ้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร จังหวัดจึงให้อำเภอจัดโครงการกิจกรรมในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค.นี้

โดย นายวรภัทร ขำสุวรรณ นายอำเภอวังสมบูรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของจังหวัดที่ต้องการให้หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ระดมคนมาดำเนินกิจกรรมดังกล่าวช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย อาทิ ที่ทำการปกครองอำเภอรวมสถานศึกษา 30 คน, กรมทหารพรานที่ 13 จำนวน 20 คน, ตำรวจ สภ.วังสมบูรณ์ 20 คน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 20 คน เกษตรอำเภอ-ปศุสัตว์-พัฒนาการ 12 คน ,เจ้าหน้าที่ อบต.วังใหม่ 25 คน, เทศบาลวังสมบูรณ์ 10 คน ,กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ ต.วังใหม่ทุกคน รวม 56 คน, กลุ่มพลังมวลชน หมู่บ้านละ 5 คน รวม 70 คน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยฯ ต.วังสมบูรณ์ ทุกคน 32 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน โดยพื้นที่ อ.วังสมบูรณ์ จัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่ 2 วัน ในพื้นที่ ม.2 ต.วังใหม่ และ วันที่ 10 พ.ค.61 ในพื้นที่ ต.วังทอง ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องแต่งกายชุดปฏิบัติงานพร้อมตัดอ้อยและอุปกรณ์ในการตัดอ้อย ในช่วงเวลา 08.00-16.30 น.ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังมีการนำนโยบายดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในแต่ละอำเภอ ก็มีเสียงติติงและโห่ฮาอย่างมากในทุกพื้นที่ว่า ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงาน จะสามารถตัดอ้อยได้หรือไม่ เพราะไม่มีความชำนาญและส่วนใหญ่แทบไม่เคยทำงานตัดอ้อยมาก่อน แม้กระทั่งเจ้าของไร่อ้อยเอง ส่วนใหญ่มักจะใช้การจ้างแรงงานชาวกัมพูชาตัดอ้อยเกือบทั้งสิ้น การให้ไปทำงานตัดอ้อยตั้งแต่ 08.00-16.30 น.เชื่อว่าจะได้ผลเพียงเล็กน้อยและสิ้นเปลืองงบประมาณ เนื่องจากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากสำนักงานจังหวัดสระแก้ว ซึ่งวันนี้ (8 พ.ค.) จ.สระแก้วมีการดำเนินการโครงการนี้ 2 พื้นที่ ใน ต.ท่าเกษม อ.เมือง ซึ่งมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และรองผู้ว่าราชการจังหวัด ทหารและหัวหน้าส่วนราชการ เดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วย

พล.ท.ชวลิต สาลีตี๊ด อดีตหัวหน้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ กล่าวว่า การตัดอ้อยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตตั้งแต่รับราชการและมาอยู่ในพื้นที่ ไม่ยุ่งยากเท่าไหร่เพียงแต่ต้องตัดให้ถูกวิธี เราไม่รู้เลยว่าวิธีการเขาตัดกันอย่างไร เป็นงานที่หนักมาก เหนื่อยที่สุด ทำไปได้สักพักก็ต้องหยุดพัก

ส่วน ทพ.วิเชียร จุมพล เจ้าหน้าที่ทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 13 บอกว่า ไม่เคยตัดอ้อยมาก่อน ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน ตัดได้ 1 ชั่วโมงก็ว่าจะพักแล้วครับ สู้แดดไม่ไหว เพราะเราไม่ถนัด ไม่คล่อง ไม่รู้ว่าเขาตัดอย่างนี้หรือเปล่า ซึ่งตั้งแต่ทำงานทหารพรานมา 30 ปีไม่เคยตัดอ้อยไม่เคยทำไร่เลย ครั้งแรกในชีวิต

สำหรับบรรยากาศการระดมคนไปตัดอ้อยในวันนี้ แต่ละภาคส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ได้จัดคนมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งหลังเวลาผ่านไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถตัดอ้อยได้เพียงเล็กน้อยประมาณ 1 งานเศษ ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัด ทำให้หลายคนทยอยกันไปนั่งพักในร่มบริเวณรอบ ๆ เป็นระยะ ๆ ซึ่งเจ้าของไร่และชาวไร่ในพื้นที่บอกว่า การตัดอ้อยลักษณะนี้อาจจะทำให้ได้ผลผลิตไม่ครบถ้วนเนื่องจากไม่รู้วิธีตัดเหมือนชาวเขมร ไม่ตัดถึงโคนต้นอีกทั้งอ้อยบางส่วนล้ม ทำให้ยากต่อการตัดอย่างมาก

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสิ่งที่สมาคมและเกษตรกรชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้ช่วยเหลืออ้อยค้างไร่กว่า 4 แสนตัน จำนวน 40,000 ไร่ ซึ่งเกษตรกรเดือดร้อนประมาณ 1,000 ราย ที่คาดว่า จะตัดอ้อยเข้าโรงงานไม่ทันการปิดหีบปีนี้ โดยการเลื่อนการปิดหีบออกไป และให้จังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนคณะกรรมการประชุมเจรจากับคู่สัญญา หากปีนี้ดำเนินการไม่ทันควรมีการช่วยเหลือชดเชยบ้าง และทำสัญญาพักหนี้ หรือจะไม่มีการฟ้องร้องชาวบ้านกรณีที่ไม่ได้ตัดอ้อย พร้อมทั้งไปเจรจาแก้ปัญหาการนำเข้าแรงงานชาวกัมพูชาให้สามารถดำเนินการได้ทุกจังหวัด ไม่จำกัดเฉพาะจังหวัดพื้นที่ติดชายแดนสระแก้วเท่านั้น ทั้งนี้ เชื่อว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่เคยตัดอ้อยกัน ไม่สามารถทำได้ทั้งวันแน่ แค่มาถ่ายรูปตัดอ้อยสร้างภาพได้เท่านั้น

ทางด้าน อ.สามารถ นิ่มเงิน นักวิชาการท้องถิ่น กล่าวว่า ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบหญ้าปากคอก คือ แก้ไม่ตรงจุด เรื่องนี้เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 1,000 รายที่ไปร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งเมื่อศาลตัดสินออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการปฏิบัติตาม ตะแบงเอาชนะคะคานกัน ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะควรไปช่วยทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ถนน หนทาง งานสาธารณะ แต่นี่เป็นผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและโรงงานอุตสาหกรรม การตัดอ้อยเขาใช้แรงงานเขมรใคร ๆ ก็รู้ นี่ให้ผู้สูงวัยหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงาน ไปทำจะสามารถทำได้เต็มวันตั้งแต่เช้ายันเย็นหรือ เพราะปกติเขาใช้รถตัดและมีรถคีบ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"