X

ชาวบ้านไม่เห็นด้วยใช้ จ.สระแก้ว เป็นหลุมขยะพิษภาคตะวันออก

สระแก้ว – ชาวบ้าน 700-800 คน ในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เข้าร่วมเวทีเสวนาวิชาการการจัดการขยะมูลฝอยของสระแก้วยุค 4.0 ยกมือไม่เห็นด้วย ที่จะใช้สระแก้วเป็นหลุมขยะพิษจของภาคตะวันออก และโครงการ EEC ระบุขยะเกิดที่ไหนต้องกำจัดที่จังหวัดตนเอง

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาการเปรียญวัดท่าเกวียน ต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว มีการจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง การจัดการขยะมูลฝอยของสระแก้วในยุค 4.0 “สระแก้วไม่ใช่หลุมขยะพิษภาคตะวันออกขยะจากที่ไหนต้องกลับไปกำจัดที่จังหวัดตนเอง” โดยมีวิทยากรที่จะมาให้ความรู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชนเครือข่ายเพื่อนตะวันออกและวาระเปลี่ยนตะวันออก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ดร.จักรพันธ์ นาน่วม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตสระแก้ว โดยมีมูลนิธิสระแก้วสีเขียว ,เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.สระแก้ว ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม ,อบต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร ,สภาเกษตรกรแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการฯ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องอันตรายจากขยะพิษและหามาตรการเชิงรุกป้องกันการขนย้ายกากอุตสาหกรรมข้ามถิ่นหรือขยะพิษจากจังหวัดอื่นขนมาทิ้งและกำจัดที่ จ.สระแก้ว และเตรียมการป้องกันการนำขยะพิษในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) ตามโครงการของรัฐบาลที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง ที่มีแนวโน้มจะขนถ่ายขยะพิษจากพื้นที่ EEC มาทิ้งที่ จ.สระแก้ว

 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีครั้งนี้ มีประชาชนในพื้นที่ อ.วัฒนานครและอำเภอใกล้เคียง เดินทางเข้าร่วมประมาณ 700-800 คน เนื่องจากเกรงว่า จะได้รับผลกระทบจากขยะพิษดังกล่าว ซึ่งในการเสวนาและให้ข้อมูลปัญหาขยะและผลการศึกษาของนักวิชาการ พบว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ส.ส.เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ จ.สระแก้ว และนายอำเภอวัฒนานคร พร้อมตัวแทนนักการเมืองท้องถิ่น พรรคการเมืองฝ่ายค้าน เข้าร่วมรับฟังจำนวนหนึ่งด้วย

ดร.จักรพันธ์ นาน่วม อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตสระแก้ว ระบุว่า ข้อมูลผลการศึกษาขยะมูลฝอยตกค้างใน จ.สระแก้ว ระหว่าง 26 ส.ค.57-ก.ย.60 พบว่า มีขยะตกค้างถึงปีละ 120,109 ตัน แต่สามารถกำจัดได้เพียง 32,705 ตัน ที่เหลืออีก 80,000-90,000 ตัน ยังตกค้างกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน ซึ่งไม่เฉพาะพื้นที่ อ.วัฒนานครและ อ.เมืองสระแก้ว ที่มีปัญหาขยะ พื้นที่ อ.อรัญประเทศ ยังคงมีขยะจากโรงเกลือและเขตเมืองจำนวนมากไปกองรวมกันสูง 20-30 เมตร มีปัญหาน้ำเสียไหลลงคลองพรมโหดที่กั้นระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้บางปีมีการร้องเรียนว่า ประเทศไทยปล่อยน้ำเสียเข้าไปรบกวนประเทศเพื่อนบ้าน

ดร.จักรพันธ์ กล่าวอีกว่า จังหวัดสระแก้วเป็นจังหวัดที่มีปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ดำเนินการไม่ถูกต้องถึง 142,054 ตัน เป็นอันดับที่ 20 ของประเทศ และหากพิจารณาอันดับจังหวัดที่มีวิกฤตด้านการจัดการขยะมูลฝอย จ.สระแก้ว จัดอยู่ในลำดับที่ 9 ของประเทศ

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยชุมชนเครือข่ายเพื่อนตะวันออกและวาระเปลี่ยนตะวันออก และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า แนวทางและการหาทางออกแก้ปัญหาขยะพิษ ที่เกิดจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกที่เพิ่มขึ้น เมื่อก่อนมีเป็นแสนตัน แต่ตอนนี้มีเป็นล้านตัน ซึ่งแรก ๆ ก็ทิ้งที่ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และตามด้วย จ.สระแก้ว โดยผลการศึกษากระบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทย พบว่า จังหวัดสระแก้วมีจุดลักลอบทิ้งใน อ.วัฒนานคร 3 แห่ง และ อ.เมืองสระแก้ว 2 แห่ง ที่ไม่มีใบอนุญาตเลย ซึ่งบางจุดมีการนำขยะอุตสาหกรรมไปผสมกับขยะชุมชนเพื่อไม่ให้ตรวจสอบได้ ส่งผลให้มีสารพิษตกค้างจำนวนมาก

“ประเทศที่นำขยะอุตสาหกรรมเข้ามาคือ ประเทศจีน เมื่อคัดแยกเอาส่วนที่ดีไปใช้ ส่วนที่เสียจะส่งออกมา ซึ่งแรก ๆ ส่งไปที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และล่าสุด ส่งมาที่ประเทศไทยผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นคือมีการนำสารกัมมันตรังสีส่งมาที่ประเทศไทยด้วย เพื่อนำไปทิ้งที่พม่าและกัมพูชา ซึ่งหากนำมาทิ้งที่กัมพูชาจะต้องผ่านสระแก้วแน่นอน ซึ่งเป้าหมายของสถานที่ทิ้งขยะอุตสาหกรรมคือ บ่อลูกรังเก่า ที่มีการขุดแล้ว ราคาถูก สามารถทำมาทิ้งได้เลย เช่น การลักลอบทิ้งที่ อ.วังน้ำเย็น เป็นต้น ซึ่งการทิ้งลักษณะนี้จะไม่สามารถกำจัดได้หรือทำได้ยาก” ดร.สมนึกกล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.สมนึก กล่าวถึงการแก้ปัญหาขยะด้วยการตั้งโรงไฟฟ้าขยะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้าขยะที่ปลอดมลพิษซึ่งต้องเผาด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 1,600 องศา และต้องใช้ขยะจำนวนมากถึง 300 ตัน/วัน เพื่อนำมาคัดแยกและทำให้เป็นขยะแห้งที่สามารถนำไปเข้าเตาเผาได้วันละ 100 ตัน สำหรับโรงงานผลิตไฟฟ้าขนาดประมาณ 10 เมกกะวัตต์ ดังนั้น ขยะเกิดขึ้นที่ไหน จังหวัดไหน ก็ต้องกำจัดที่ต้นทาง และสระแก้วถือเป็นเป้าหมายของสถานที่ทิ้งขยะพิษ และขยะอุตสาหกรรมในอนาคตหรือ EEC คนสระแก้วจึงต้องตื่นรู้และหาทางป้องกันและรู้เท่าทันปัญหาดังกล่าวที่จะตามมาในอนาคต ทั้งนี้ ผู้สื่่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการเสวนาฯดังกล่าว ชาวบ้านได้ร่วมกันยกมือไม่ต้องการให้มีการนำขยะพิษหรือขยะจากพื้นที่อื่นเข้ามาในจังหวัด พร้อมทั้งเตรียมขับเคลื่อนเผยแพร่และให้ความรู้ในลักษณะเวทีเสวนาวิชาการอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย

——————————

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"