X

ยึดหมูแปรรูปติดโรคอหิวาต์ 66 ตัวอย่างลอบเข้าไทย รมช.เกษตรฯ ลงพื้นที่เข้มชายแดนสระแก้ว

สระแก้ว – รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.สระแก้ว ตรวจเข้มมาตรการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นวาระแห่งชาติ ระบุ เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ฯ ตรวจยึดลักลอบนำเข้าสุกรแปรรูปติดโรคฯ เข้าไทยถึง 66 ตัวอย่าง

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่บริเวณด่านผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน อำเภอคลองหาด และด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ภายหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง การห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาด และมอบนโยบายการปฏิบัติเฝ้าระวังในสุกรพื้นที่ชายแดน ภายหลังคณะรัฐมนตรี อนุมัติแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ของประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ

นายลักษณ์ เปิดเผยด้วยว่า โรคดังกล่าวยังไม่มีวัคซีนป้องกันและควบคุมโรค อีกทั้งเชื้อโรคสามารถทนทานอยู่ในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูงมาก และสุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และสุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100% ขณะที่การระบาดของโรค ASF ยังไม่สามารถควบคุมได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศจีนพบ 113 ครั้งใน 28 จังหวัด มองโกเลีย 10 ครั้งใน 6 จังหวัด เวียดนาม 221 ครั้งใน 18 จังหวัด ล่าสุด ได้มีการระบาดที่จังหวัดรัตนคีรี ประเทศกัมพูชา จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะระบาดเข้าสู่ไทยได้ ทั้งจากการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกรติดตัวมาของนักท่องเที่ยวหรือแรงงานต่างด้าว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคอย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่จีน ล่าสุด พบการลักลอบนำผลิตภัณฑ์สุกร เช่น กุนเชียง แหนม เบคอน และซากสุกรผ่านช่องทางนำเข้าชายแดนที่มีระยะทางยาว ซึ่งจากการตรวจยึดจำนวนกว่า 4,700 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อโรคและสารพันธุกรรมที่สามารถแพร่ระบาดของโรค ASF ถึง 66 ตัวอย่าง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะระบาดในประเทศไทยได้ด้วย จากการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัสที่ยานพาหนะ วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ส่งออกสุกรและอาหารสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย” นายลักษณ์กล่าว

สพ.ญ.ณัฐกานต์ คุรุพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า เชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever สามารถทนความร้อนได้สูงมาก การปรุงอาหารแค่พอสุกทั่วไปไม่สามารถทำลายเชื้อโรคนี้ได้ จะต้องมีการต้มด้วยความร้อนเกิน 90 องศา ยาวนานถึง 10 ชม.จึงจะสามารถทำลายเชื้อนี้ได้ ดังนั้น หากมีการนำหมูที่ติดโรคมาปรุงอาหารเพื่อบริโภคทั่วไปจะไม่สามารถทำลายเชื้อได้ คนบริโภคเข้าไปจะไม่เป็นอะไร แต่หากเศษอาหารเหลือและถูกนำไปทิ้งหรือนำไปเป็นอาหารเลี้ยงสุกรต่อ สุกรในคอกนั้น ๆ จะติดโรคทั้งหมดและระบาดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสุกรทุกชนิดเข้ามายังประเทศไทย

สพ.ญ.ณัฐกานต์ ระบุอีกว่า กรมปศุสัตว์ได้อนุมัติแผนงานนำสุนัขดมกลิ่น เข้าตรวจสอบที่บริเวณ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และร่วมปฏิบัติงานกับสารวัตรด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในการตรวจสอบการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร ตั้งแต่วันที่ 16-17 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า สามารถทำการอายัดซากสัตว์ อาทิ เนื้อโคตากแห้ง จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 0.5 ก.ก. กุนเชียงเนื้อสุกร จำนวน 2 ห่อ น.น. 1.8 ก.ก. ,เนื้อสุกร จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ,ไส้กรอกสุกร จำนวน 3 ห่อ น้ำหนัก 2.8 กิโลกรัม, ไส้กรอกโค จำนวน 1 ถุง น้ำหนัก 2 กิโลกรัม, ขาวัว จำนวน 4 ขา น้ำหนัก 10 กิโลกรัม, และไก่สด จำนวน 2 ตัว น้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม ซึ่งของกลางทั้งหมด จะส่งมอบให้ด่านกักกันสัตว์สระแก้วดำเนินการตามระเบียบการดำเนินการกับของกลางที่สงสัยว่า จะเป็นพาหะของโรคระบาดสำหรับตรวจสอบและทำลายต่อไป

ทางด้าน นายวิบูลย์ ศรีมั่นคงธรรม หัวหน้ากลุ่มด่านกักกันสัตว์ที่ 2 (ภาคตะวันออก) กล่าวว่า สำหรับด่านกักกันสัตว์สระแก้วได้รับนโยบายจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้เตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ของจังหวัดสระแก้วที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนการเผชิญเหตุการณ์ระบาด ,ระยะเผชิญเหตุการณ์ระบาด และระยะหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาด โดยที่ผ่านมาได้บูรณาการทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานความมั่นคงทหาร ตำรวจ ตามแนวชายแดน ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกร ซากสุกร รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสุกร ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกสินค้าปศุสัตว์และยานพาหนะอื่นๆ ตรวจยึดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสุกรที่ติดตัวมากับชาวกัมพูชาหรือนักท่องเที่ยวเพื่อทำลาย

นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจวัตถุดิบจากอาหารสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่อนุญาตให้นำเข้าสุกรหรือผลิตภัณฑ์จากสุกรจากประเทศที่เกิดการระบาดของโรค รวมทั้งจัดชุดเฉพาะกิจออกลาดตระเวนหาข่าว ติดป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อกระจายเสียง แจ้งเตือนห้ามนำเข้าสุกร ซากสุกร หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสุกร และร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและเทศบาลตำบลคลองหาด ก่อสร้างโรงพ่นยาฆ่าเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกา ตลอดจนการตรวจเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรตามแนวชายแดนทุกราย ให้เข้มงวด เฝ้าระวังป้องกันโรคตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดต่อไป และขอยืนยันว่า ในพื้นที่จังหวัดสระแก้วและประเทศไทย ยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมประชุมและมอบนโยบายกับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรในจังหวัดสระแก้วกว่า 200 คน ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้จัดประชุมเพื่อให้ความรู้และรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรในปัจจุบัน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดในประเทศไทย ที่โรงแรมสเตชั่นวัน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด้วย

—————————

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"