สระแก้ว – นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา จ.สระแก้ว ออกโรงชี้แจงความจำเป็นเผาไร่อ้อย เกรงตัดไม่ทันพื้นที่ 500,000 ไร่ ระบุอีก 5 ปีแก้ปัญหาได้ โดยเปลี่ยนไปใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานกัมพูชา ด้านแรงงานชาวกัมพูชาบอกตัดอ้อยสดได้น้อยกว่า ส่วนตัวเลขฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่ จ.สระแก้ว ดีดขึ้นสูงไปอยู่ในระดับสีส้ม ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 20 ม.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีเกิดปัญหาการเผาไร่อ้อยในพื้นที่ จ.สระแก้ว และบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา จนส่งผลให้ปริมาณคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองเพิ่มสูงไปอยู่ในระดับ 170 หรือสีส้ม ซึ่งเริ่มมีผลต่อสุขภาพเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 12.00 น.วันนี้(20 ม.ค.) ตัวเลขปริมาณฝุ่นละอองและสถานการณ์คุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ในพื้นที่ ต.อรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ดีดขึ้นสูงไปอยู่ในระดับสีส้มที่ 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอีกครั้ง จากเดิมที่เคยอยู่ในระดับสีฟ้าติดต่อกัน 2 วันก่อนหน้านี้ ส่วนปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่าง ๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด ขึ้นไปอยู่ที่ระดับสีส้มเช่นกัน อยู่ที่ระดับ 53 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา อ.คลองหาด จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 500,000 ไร่ และมีอ้อยส่วนหนึ่งที่โรงงานน้ำตาลในจังหวัดสระแก้วหีบไม่หมด จึงจำเป็นต้องส่งไปที่ จ.ชลบุรี ประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งกรณีการเผาอ้อยของเกษตรกรนั้น ตอนนี้ในส่วนของ จ.สระแก้ว มีการตัดอ้อยไฟไหม้ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทางสมาคมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเรื่องนี้เรามีแผน 5 ปี นำเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เราจะต้องแก้ไขในเรื่องการเผาอ้อย เพราะส่วนหนึ่งเรามีงบประมาณของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท จัดสรรให้ 50 โรงงาน นำไปซื้อรถตัดอ้อย โดยมีองค์กรชาวไร่อ้อยและโรงงานค้ำประกัน ชำระหนี้ 8 ปี ดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดปัญหามลพิษภายในประเทศ
นายมนตรี กล่าวถึงแรงงานชาวกัมพูชาที่นำเข้ามาตัดอ้อยว่า ในปี 2560 นำเข้ามา 22,000 คน แต่ปีนี้มีแรงงานเข้ามาเพียง 15,000 คนเท่านั้น เพราะภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชามีการก่อสร้างและส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็เท่ากับเมืองไทย ทำให้แรงงานกัมพูชาเข้ามาตัดอ้อยฝั่งประเทศไทยลดน้อยลง ทำให้เป็นปัญหาของชาวไร่อ้อยที่ปีนี้ จะทำให้การตัดอ้อยไม่ทันฤดูหีบอ้อยแน่ ๆ เพราะมีอ้อยล้มจำนวนมากและอ้อยค้างปีอีก 10,000 กว่าไร่ ถ้าไม่เผาก็จะตัดลำบาก
“การตัดอ้อยสดนั้น แรงงานจะตัดได้วันละ 100 กว่ามัด ถ้าตัดอ้อยไฟไหม้ก็จะได้ประมาณ 300 กว่ามัด ซึ่งราคาขายอ้อยสดอยู่ที่ราคาตันละ 890 บาท ส่วนค่าตัดอ้อยสดตันละ 180-200 บาท แต่ตัดอ้อยไฟไหม้ ราคาเพียงตันละ 110-120 บาทเท่านั้น จึงเป็นปัญหาของชาวไร่อ้อยส่วนหนึ่ง” นายมนตรีกล่าวและว่า
กรณีปัญหาการเผาอ้อยที่ส่งผลกระทบเรื่องปัญหาฝุ่นละอองนั้น ต้องเรียนว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านฝั่งกัมพูชา ที่มีการทำการเกษตรและเผาเหมือนกัน ปีที่ผ่านมาเราก็มีอ้อยสด อ้อยไฟไหม้เป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบเท่าไหร่ แต่เรามองว่า เราเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ องค์กรชาวไร่อ้อยก็พยายามทำตามนโยบายรัฐบาล แล้วพยายามแก้ไขเรื่องการเผาอ้อย คิดว่า ภายใน 5 ปี ตามแผนของกระทรวงอุตสาหกรรมน่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ แต่ก็ฝากทางรัฐบาลเรื่องงบประมาณต่าง ๆ น่าจะสนับสนุนให้มากกว่านี้ เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้
นายน้อย อายุ 34 ปี แรงงานตัดอ้อยชาวกัมพูชา บอกว่า เข้ามาตัดอ้อยในประเทศไทยได้ 2 ปี ได้ค่าจ้างตัดอ้อยสดมัดละ 2 บาท ส่วนใหญ่จะตัดได้ประมาณ 150 มัดต่อวัน ซึ่งการตัดสดก็ตัดไม่ยาก เทียบระหว่างตัดอ้อยสดและอ้อยเผาไฟก็ตัดได้เหมือนกัน แต่ตัดอ้อยไฟไหม้ได้เยอะกว่าวันละ 200 กว่าถึง 300 กว่ามัดต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทางสมาคมฯ ได้ชี้แจงเสร็จสิ้น ได้นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูไร่อ้อยที่ล้มและจำเป็นต้องมีการเผาในพื้นที่ อ.คลองหาด และพาไปดูพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยด้วยเครื่องจักรและรถตัดอ้อยที่มีราคาประมาณคันละ 12 ล้านบาท ในพื้นที่ ม.4 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหั่นต้นอ้อยเป็นท่อน พร้อมที่จะนำเข้าสู่โรงงานได้ทันที ซึ่งคาดว่า ในอนาคตชาวไร่อ้อยสระแก้วจะเข้าสู่ระบบดังกล่าวด้วย เพื่อไม่ให้มีการเผาอ้อยเหมือนกับในปัจจุบัน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: