X

รมว.ศึกษา ลงพื้นที่ให้กำลังใจครู ในพื้นที่พบสารซีเซียม 137 ในโรงหลอม จ.ปราจีนบุรี

ปราจีนบุรี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงพื้นที่ให้กำลังใจครู ในพื้นที่พบสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ในโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หลังสูญหายจากโรงงานในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยกรณีวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 หายไปจากสถานที่ติดตั้งของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ทางจังหวัดปราจีนบุรี ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยได้นำกำลังคนและอุปกรณ์มาทำการตรวจสอบตามโรงงานที่คาดว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม137 ที่จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไป โดยมีการทำการตรวจสอบติดตามมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดรังสีในอุตสาหกรรมโรงหลอมโลหะจากเศษเหล็กที่เลิกใช้แล้ว ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท หยงชิง สตีล (ไทยแลนด์) จำกัด เลขที่ 139 หมู่ที่ 13 ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ, บริษัทเชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เลขที่ 518/1 หมู่ที่ 9 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี ,บริษัท เค ที พี สตีล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ที่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี, บริษัท ที เอส บี เหล็กกล้า จำกัด เลขที่ 502 หมู่ที่ 9 ต.หนองโพรง อ.ศรีมหาโพธิ, บริษัท สิงห์ไทย สตีล จำกัด เลขที่ 122 หมู่ที่ 11 ต.หัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ทางจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ,ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และฝ่ายปกครอง ได้ลงพื้นที่เข้าทำการตรวจสอบโรงหลอมเหล็กในอำเภอกบินทร์บุรี จำนวน 2 โรงและอำเภอศรีมหาโพธิ อีก 2 โรง พบว่า ในรอบแรก ยังไม่พบมีการปนเปื้อน จึงใช้เครื่องมือดูดอากาศตรวจหารังสีรอบ ๆ บริเวณโรงงานในรัศมี 5 กิโลเมตร โดยเก็บตัวอย่าง ดิน น้ำ อากาศ ตรวจหาสารปนเปื้อน ก็ยังไม่พบซีเซียม 137 กระทั่ง ช่วงเย็นมีการการตรวจสอบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ด้วยเครื่องมือ จนสามารถตรวจพบการปนเปื้อนในฝุ่นได้จากการผลิตโลหะ คือวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ในบิ๊กแบ็ค 24 ถุง รวม 24 ตัน ที่อยู่ในพื้นที่ปิดของโรงหลอม อ.กบินทร์บุรี และ มี 1 ถุง มีการนำไปถมที่บริเวณหลังโรงงานแล้ว

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ยังสั่งการให้ทางโรงหลอมเหล็กขุดดินดังกล่าว ใส่บิ๊กแบกกลับมาเก็บที่เดิมในโรงงาน และทางจังหวัดได้ประกาศให้กันบริเวณโรงงานเป็นเขตควบคุม และขณะนี้ ขอยืนยันว่า ซีเซียม 137 ที่ปนเปื้อนในฝุ่นโลหะ ถูกควบคุมและจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ ไม่กระจายออกจากโรงงาน และทำการตรวจหาการปนเปื้อนในร่างกายของพนักงานทุกคน ที่มีจำนวน 70 คน แบ่งเป็น คนไทย 10 คน ต่างด้าว 60 คน ไม่พบมีการปนเปื้อนตามร่างกายของพนักงาน ตามข้อมูลทางวิชาการที่ใช้เครื่องมือตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สามารถควบคุมและจำกัดสารซีเซียม 137 อยู่ในเฉพาะพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซีเซียม 137 ที่พบในโรงหลอมเหล็ก จะเป็นชิ้นเดียวกับที่สูญหายหรือไม่

ทางด้าน เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า กัมมันตรังสีที่ตรวจพบในโรงหลอมเหล็ก ไม่ได้ฟุ้งกระจายอย่างที่ประชาชนกังวล ส่วนจุดที่พบบิ๊กแบ็คข้างโรงหลอม ซึ่งถูกนำไปถมที่ด้านข้าง เจ้าหน้าที่ให้ขุดบิ๊กแบ็คและดิน นำขึ้นมาในพื้นที่ที่กำหนด และตรวจหาอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่พบกัมมันตรังสี จึงไม่มีการปนเปื้อนตามธรรมชาติ

นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดค่ารังสี พบว่า ตรวจจับได้ จึงได้กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจุดที่พบเป็นจุดหลอมเหล็ก เป็นพื้นที่ปิด เมื่อตรวจสอบในโรงงานโดยรอบรัศมี ห่างออกไปราว 10 เมตร ไม่พบค่าวัสดุกัมมันตรังสี จึงจำกัดวงเฉพาะที่ตรวจพบ ส่วนกรณีที่ประชาชนกังวลว่า จะมีการฟุ้งกระจาย ยืนยันว่า ที่ปลายป่องโรงหลอมมีฟิลเตอร์เป็นตัวดักจับ เมื่อฝุ่นเหล็กลอยขึ้นไปติดกับฟิลเตอร์ และเย็นลง จะร่วงลงมาด้านล่าง

ด้าน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วัสดุกัมมันตรังสี Cesium-137 ที่ติดอยู่ด้านบนไซโล ความสูง 18 เมตร ว่าออกมาจากจุดที่ติดตั้งได้อย่างไร และออกไปนอกโรงไฟฟ้าจนถึงโรงหลอมได้อย่างไร นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไปแจ้งความกับ บริษัทเนชั่นแนล พาวเวร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด กับพวก ในความผิดฐาน “ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือเสียหาย อันเกิดจาการประกอบกิจการ ตามใบอนุญาต ผู้รับใบอนุญาต มีหน้าที่ระงับเหตุในเบื้องตัน ตามแผนป้องกันอันตรายจากรังสี และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบทันที รวมทั้งต้องให้ข้อมูลและให้ความร่วมมือแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ไข บรรเทา หรือระงับซึ่งอันตรายหรือความเสียหายนั้น” ส่วนข้อมูลอื่นๆ ตำรวจกำลังสอบสวน เพิ่มเติม

นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า ได้ตรวจสุขภาพ (เลือด) ผู้เกี่ยวข้องในโรงหลอม ไม่พบความผิดปกติ และตรวจสอบการตรวจสุขภาพย้อนหลัง ก็ยังไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย สิ่งหนึ่งที่สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี จะดำเนินการเพิ่ม คือ วางระยะในการตรวจสุขภาพผู้เกี่ยวข้องทั้งโรงไฟฟ้า ,โรงหลอม 6 เดือน ,1 ปี ในระยะนี้ ยังไม่มีผลกระทบใดๆ

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมและให้กำลังใจครู ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 93 บ้านลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ได้กล่าวว่าหลังจากทราบว่า มีสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 หายไปจากโรงงาน และต่อมาทราบว่า มีการพบว่ามีโรงหลอมในโรงหลอมแห่งหนึ่งในพื้นที่ อำเภอกบินทร์บุรี ด้วยความเป็นห่วงคณะครูและนักเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จึงอยากมาให้กำลังใจครู และได้เชิญผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพบสารดังกล่าวในพื้นที่ โดยผู้ว่าฯ และสาธารณสุข ยืนยันว่า สารดังกล่าวได้ถูกหลอมกลายเป็นผงแดงอยู่ในพื้นที่ปิดแล้ว และได้สั่งการให้พนักงานในโรงงานดังกล่าว 70 คน ได้มาตรวจเลือด แต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ ได้ประสานส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้นำท้องถิ่น ทั้งที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดกรณีดังกล่าว นายสุนทร คมคาย นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเขาไม้แก้ว กล่าวว่า ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญที่่ส่วนที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ขบวนการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่มลพิษจริงจังมากขึ้น ให้ความสำคัญต่อภาครัฐ รวมถึงรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้

—————————
ข่าว-ภาพโดย/ทองสุข สิงห์พิมพ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"