X

ภัยแล้ง!! น้ำเค็มหนุน ต้องนำรถบรรทุกน้ำวิ่งรดน้ำในนาข้าว 2 ตำบล นอกเขตชลประทาน

ปราจีนบุรี – เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำเค็มหนุน นำรถบรรทุกน้ำวิ่งรดน้ำในนาข้าว 2 ตำบล ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จ.ปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสถานการณ์ภัยแล้งและเกิดภาวะน้ำเค็มหนุนจากปากอ่าวไทยเข้าสู่ลุ่มน้ำบางปะกง จ.ปราจีนบุรี โดยขึ้นสูงถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ระยะทางกว่า 8 กม. และแม่น้ำนครนายก ระยะทางไกลกว่า 20 กม.โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ต.บางแตน และ ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ก่อนรวมกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ระดับค่าความเค็มมากกว่า 7 มก/ล. ไม่สามารถใช้ในการอุปโภค-บริโภคและใช้ในการเกษตรกรรมได้ โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 ตัวแทนชาวนาจากพื้นที่ ต.หัวไทร, ต.บางกระเจ็ด จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย ต.บางแตน,ต.บางยาง และ ต.บางเตย อ.บานสร้าง จ.ปราจีนบุรี ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องทุกข์กับ นายวรพันธุ์ สุวัณณุสส์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจากเขื่อนนฤบดินทรจินดาหรืออ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ปล่อยน้ำจืดให้กับนาข้าววันละ 3 ล้าน ลบ.ม.ลงมาตามแม่น้ำปราจีนบุรี ให้ต้นขาวกำลังตั้งท้องที่กำลังขาดแคลนน้ำจืด หากขาดน้ำจืด จะยืนต้นตายมากว่า 15,000 ไร่

ทั้งนี้ พื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เบื้องต้น โดยการระดมรถบรรทุกน้ำจากหน่วยราชการ,องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปล่อยน้ำในพื้นที่นาข้าวนอกเขตชลประทาน หมู่บ้านอ้อมบางแตน หมู่ 4 ต.บางแตน และพื้นที่บ้านไผ่ดำ หมู่ 6 ต.บางเตย อ.บ้านสร้าง พื้นที่นาข้าวรวมกว่า 5,600 ไร่ ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรี ขาดแหล่งน้ำจืด นำรถบรรทุกน้ำมารดในนาข้าวไม่ให้ต้นข้าวยืนต้นตาย เนื่องจากแรงดันน้ำจืดที่ปล่อยมายังไม่สามารถผลักดันน้ำเค็มได้ โดยมอบหมายให้ นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ออกติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำปราจีนบุรี-แม่น้ำบางปะกง เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภาวะน้ำเค็มรุกล้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผลิตผลทางการเกษตร ฯลฯ โดยมี นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภอบ้านสร้าง ร่วมออกติดตามฯ ด้วย

ล่าสุด นายพยนต์ พฤกษา กำนัน ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่าได้ระดมรถบรรทุกน้ำจากหลายหน่วยงานบรรทุกน้ำจืดมารดในนาข้าวให้แก่ชาวนา ที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง ออกรวง ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.64 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน นำน้ำจืดไปรดนาข้าว พื้นที่หมู่ 3 ,4 บ้านอ้อมบางตน ต.บางแตน และหมู่บ้านไผ่ดำ หมู่ 6 ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และแม่น้ำปราจีนบุรี กับแม่น้ำนครนายกไหลผ่าน เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำจืด

นายพยนต์ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านยังได้ร้องทุกข์โดยมอบหนังสือให้กับ นายอำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ปราจีนบุรี เขต 1 นำหนังสือไปยื่นให้กับ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบปัญหาโดยตรง เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือแก่ชาวนาพื้นที่ ต.หัวไทร, ต.บางกระเจ็ด จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย ต.บางแตน,ต.บางยาง และ ต. บางเตย อ.บานสร้าง จ.ปราจีนบุรี กว่า 15,000 ไร่ ที่นาข้าวขาดน้ำจืด และกำลังยืนต้นตายอย่างเร่งด่วนด้วย

ขณะเดียวกัน นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นายบรรเจิด สิทธิจู ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง นายสุรเทพ กิจกล้าเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี นายชนาธิป โคกมณี นายอำเภอบ้านสร้าง นางสาวรัชภร เช้าวันดี ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอบ้านสร้าง นางพงษ์ชัย ล้ำเลิศ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง เกษตรอำเภอบ้านสร้าง ร่วมออกติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำ แม่น้ำปราจีนบุรี-แม่น้ำบางปะกง เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภาวะน้ำเค็มรุกล้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ผลิตผลทางการเกษตร จำนวน 8 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ปตร.คลองชวดตลาด หมู่ที่ 3 ตำบลไผ่ชะเลือด เขตติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ ,จุดที่ 2 ปตร.บ้านนาฝุ่น หมู่ที่ 3 ตำบลไผ่ชะเลือด อำเภอศรีมโหสถ ,จุดที่ 3 ปตร.ไม้สามเรือน หมู่ที่ 6 ตำบลกระทุ่มแพ้ว อำเภอบ้านสร้าง ,จุดที่ 4 ปตร.คลองหอทอง หมูที่ 7 ตำบลบางกระเบา อำเภอบ้านสร้าง วัดค่าความเค็มได้ 0.19 กรัม/ลิตร, จุดที่ 5 ปตร.คลองท้ายบ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง วัดค่าความเค็มได้ 0.4 กรัม/ลิตร, จุดที่ 6 ปตร.คลองบางเขียด หมู่ที่ 11 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง แม่น้ำปราจีนบุรี วัดค่าความเค็มได้ 5.2 กรัม/ลิตร ท้ายคลอง (สูบเข้า) วัดค่าความเค็มได้ 1.14 กรัม/ลิตร, จุดที่ 7 พื้นที่ทำการเกษตร หมู่ที่ 4 ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง ,จุดที่ 8 จุดวัดความเค็มแม่น้ำนครนายก บ้านนายเฉลียว ขวัญเนตร วัดค่าความเค็มได้ 5.16 กรัม/ลิตร ,และได้สุ่มวัดค่าความเค็ม บริเวณแม่น้ำนครนายกก่อนจุดบรรจบแม่น้ำ วัดค่าได้ 5.19 กรัม/ลิตร สถานการณ์ในความดูแลรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งในพื้นที่ต้องการน้ำมาใช้ในการดูแลต้นข้าวในระยะตั้งท้องจนออกรวงเพียง 1 รอบ เท่านั้น

โดยคาดการณ์ว่า เกษตรกรจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งนี้ โครงการฯ บางพลวงได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกับผู้นำชุมชน เกษตรกร และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้น้ำในทุกกิจกรรมเกิดประโยชน์สูงสุด ในการให้ความช่วยเหลือโดยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม- 3 กุมภาพันธ์ 2564 มีรถบรรทุกน้ำเข้าให้การช่วยเหลือแล้ว จำนวน 10 คัน โดยโครงการฯบางพลวง 3 คัน โครงการชลประทานปราจีนบุรี 2 คัน อบจ.ปราจีนบุรี 1 คัน อบต.บางแตน 1 คัน อบต.บ้านสร้าง 1 คัน อบต.บางยาง 1 คันและ อบต.บางเตย 1 คัน ซึ่งผลการให้ความช่วยเหลือรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางแตน ตำบลบางยางและตำบลบางเตย ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2564 – 3 กุมภาพันธ์ 2564 (12.00 น.) จำนวน 54 เที่ยว ปริมาณน้ำ 486,000 ลิตร เกษตรกร 9 ราย พื้นที่ 81 ไร่

ขณะที่ น.ส.ระชวย ศาลา อายุ 52 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 บ้านอ้อมบางแตน ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า พื้นที่หมู่บ้านบางแตนอยู่ระหว่างแม่น้ำปราจีนบุรีกับแม่น้ำนครนายกไหลผ่านก่อนรวมเป็นแม่น้ำบางปะกง ชาวนากว่า 800 ไร่เศษ ในหมู่ 3,4 ต.บางแตน ขาดแคลนน้ำจืดสำรับนาข้าว รวมถึงพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ อาทิ เกษตรผสมผสานของตนเองที่ขาดแคลนน้ำจืด ที่ผ่านมาน้ำจากเขื่อนฯยังไม่สามารถผลัดดันน้ำเค็มที่หนุนได้ แต่ได้รับการดูแลเบื้องต้น นำรถบรรทุกน้ำมารดนาข้าว ไม่ให้ยืนตนตาย แต่ยังยืนยันขอให้กรมชลประทานปล่อยน้ำจืดมาช่วยชาวนาจะได้ประโยชน์มากว่า

————————-
ข่าว-ภาพโดย/วัฒนา พวงสมบัติ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

ธนภัท กิจจาโกศล

ธนภัท กิจจาโกศล

"ธนภัท กิจจาโกศล" ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สระแก้ว "ประสบการณ์ยาวนานกับงานสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จับงานด้านข่าว สกู๊ปและรายงานพิเศษ กว่า 22 ปี มุ่งสื่อสารความจริงและข่าวสารที่เป็นธรรม สู่ประชาชนในภูมิภาค ด้วยจรรยาบรรณของฐานันดรที่ 4 เพื่อสร้างความโปร่งใสการรับรู้ข่าวสารของสังคม"