สระแก้ว – เปิดเวทีจุดประกายความคิดและรับฟังความเห็นร่วมกันในการแก้ไขปัญหาขยะพิษ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ชาวบ้าน ต.ป่าไร่ จ.สระแก้ว แฉถูกหลอกทั้งตำบล หวังยกพื้นที่ป่าชุมชนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ-อุตสาหกรรมสีเขียว แต่ปัจจุบันมีความพยายามจะเปลี่ยนนิคมฯป่าไร่ให้เป็นพื้นที่ทิ้งขยะอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขยะ พร้อมเตรียมคัดค้านอย่างเต็มที่
เมื่อวันที่ 30 ส.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ และภาคีเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ ได้เปิดเวทีจุดประกายความคิด ร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะพิษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน ที่วัดราษฎร์เจริญศรัทธาธรรม ตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนให้เห็นภาพรวมปัญหาวิกฤตมลพิษจากขยะในพื้นที่ภาคตะวันออก และระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อร่วมกันหาทางออกไม่ให้ภาคตะวันออกกลายเป็นถังขยะพิษของโลก ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ จ.สระแก้ว จำนวนกว่า 30 คน จากชุมชนในพื้นที่ อ.วัฒนานคร อ.อรัญประเทศ อ.เมืองสระแก้ว และอีกหลายพื้นที่ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการจัดการขยะ ได้เดินทางเข้าร่วมเวทีและให้ข้อมูลความเห็นด้วย เช่นเดียวกับ ชาวบ้านในพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก อาทิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี รวมเกือบ 200 คน ได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาในพื้นที่ เสนอแนะให้ข้อคิดเห็นกับนโยบายด้านการจัดการขยะของประเทศไทยในปัจจุบัน
ข่าวน่าสนใจ:
- สคบ. สานพลังยกระดับความคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี
- นราธิวาส-แหวกแนว! เนรมิตสวนลองกองแถลง"งานของดี"
- ต้อนรับนักกีฬาเหรียญทองพาราลิมปิก ชาว จ.สระแก้ว คว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน
- ขอนแก่น จับมือภาคเอกชน จัดงานมหกรรมหมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์ “ปลาร้าหมอลำ ISAN to the World” ส่งท้ายปีนี้ 26-29 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวยังมีการให้ความรู้ ภาพรวมนโยบาย กฎหมาย ปัญหาด้านการบริหารจัดการขยะในประเทศไทย ทางออกและข้อจำกัด โดยนักวิชาการด้านต่าง ๆ อาทิ นโยบายและการเข้ามาของธุรกิจขยะในประเทศไทย โดย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผจก.มูลนิธิบูรณะนิเวศ , ประสบการณ์จากนโยบายและกลไกที่ไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการขยะ โดย อ.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย , ปัญหาการจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อมและความเสี่ยงจากธุรกิจขยะ โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ซึ่งดำเนินรายการโดย ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคตะวันออกและที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมพร ก่อเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้สะท้อนปัญหาการจัดการขยะในพื้นที่ จ.สระแก้วว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ป่าไร่ ได้ยินยอมมอบป่าชุมชนกว่า 600 ไร่ เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสระแก้วและเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงเป็นระเบียงเศรษฐกิจกับอินโดจีน โดยมีข้อแม้ว่า ชุมชนต้องการให้พื้นที่เจริญต้องมีเฉพาะโรงงานไร้มลพิษเป็นโรงงานสีเขียว ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็รับปากไว้ แต่ปรากฏว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดีและไม่มีโรงงานมาลงทุน การนิคมฯ จึงต้องการเปลี่ยนนิคมฯสีเขียว เป็นสถานที่รองรับขยะอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าขยะแทนทั้งพื้นที่ โดยจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ใหม่ ซึ่งประชาชนไม่ยินยอม เหมือนเป็นการหลอกชาวบ้านทั้งตำบล จึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้านและไม่ยินยอมในปัจจุบัน ขณะนี้ได้มีการขึ้นป้ายคัดค้านและชาวบ้านกว่า 1,000 คน จะคัดค้านจนถึงที่สุด
ทางด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้จัดการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปกติขยะในพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกจะมีปริมาณสูงอยู่แล้ว ที่มาจากเขตอุตสาหกรรม แต่หลังจากมีการกำหนดให้พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นเขต EEC ซึ่งเป็นเป้าหมายการลงทุนใหญ่ที่มาควบคู่กับนโยบายส่งเสริมหรือยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายหลายอย่าง โดยเฉพาะกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ และด้านแรงงาน เพื่อให้เป็นเขตการค้าเสรี ซึ่งในอนาคตจะทำให้พื้นที่เขตนี้มีปริมาณขยะสูงมาก โดยเฉพาะขยะอันตรายจากอุตสาหกรรม เกิดชุมชนเมืองโดยไม่มีการควบคุมตรวจสอบ เพราะฉะนั้น แนวโน้มสูงขึ้นแน่นอน แต่ขณะเดียวกันมาตรการคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะอ่อนแอลงด้วย
“หลายคนบอกว่า ประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องนำขยะเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ แต่สิ่งที่เราอยากเสนอคือว่า ประเทศไทยเองยังมีขยะอีกเยอะมากที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ที่รอการจัดการอย่างถูกต้อง และรอการคัดแยกที่ถูกต้อง สำหรับใช้ป้อนอุตสาหกรรมภายในประเทศเองที่เราคิดว่า เราต้องลดการนำเข้าหรือต้องห้ามไม่ให้มีการนำเข้าเลย เพื่อส่งเสริมการคัดแยก ลดปริมาณหรือการใช้ซ้ำภายในประเทศเอง และทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นทรัพยากรภายในประเทศที่เป็นวัสดุสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องมีการนำเข้าและก่อปัญหาให้กับชุมชน ” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวและว่า
หลังจากนี้ชาวบ้าน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตั้งรับ และตามให้ทันกับกฎหมายที่มีอยู่ว่า เป็นอย่างไร ไม่อย่างนั้น ท้องถิ่นจะกลายเป็นแพะรับบาป หรือแบกรับปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดขึ้น หรือยังไม่มีความรู้ในเชิงเทคนิควิทยาการ ทางวิทยาศาสตร์หรือความรู้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเข้ามาดูแล ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นจะต้องศึกษากฏหมายและสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับท้องที่ที่ดูแลอยู่ และเตรียมการว่าต้องการให้พื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง เช่น พื้นที่เกษตรปลอดภัย แหล่งผลิตอาหารที่มั่นคง หรือเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หรือเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ท้องถิ่นต้องมีวิสัยทัศน์และมองให้ไกลว่าอะไรที่ยั่งยืนกับพื้นที่ และพื้นที่มีความสงบ มีความเจริญเติบโตไปอย่างมั่นคง โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งกัน ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังให้ความเห็นสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนว่า ชาวบ้านจะต้องตามให้ทันปัญหาเช่นกัน การรวมกันหรือพัฒนาเป็นเครือข่ายสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทอดทิ้งไม่ได้เลย เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะฉะนั้น การสู้โดดเดี่ยวก็อาจจะแพ้หรือว่าไม่สามารถทำให้ตัวเองหลุดพ้นปัญหาได้ การรวมตัวกันหรือรับความช่วยเหลือจากสื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญหรือเอ็นจีโอต่าง ๆ นั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ
——————————-
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: