สระแก้ว – ชาวบ้านวังใหม่ร่ำไห้ !! บุกศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ขอพบ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ร้องตรวจสอบโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ ขนเครื่องจักรเข้าพื้นที่ ถูกปกปิดข้อมูลพิจารณา ร.ง.4 และใบอนุญาตตามมติ ครม.จะหมดอายุสิ้นปี 60 แต่โรงงานกลับไปแจ้งขอประกอบกิจการ ทั้งที่โรงงานยังไม่ได้ก่อสร้างใด ๆ
ที่ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว มีชาวบ้านวังใหม่ พื้นที่ ม.1, ม.4 และ ม.10 ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ จำนวนกว่า 10 คน ได้เดินมาขอเข้าพบ นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เพื่อยื่นหนังสือและสอบถามกรณีที่โรงงานดังกล่าวได้ดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณทางเข้า และขนเครื่องจักรจากบริเวณลานจอดรถบรรทุกอ้อย ต.ห้วยโจด อ.วัฒนานคร เข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามการพิจารณาใบอนุญาตการก่อสร้างโรงงาน หรือ ร.ง.4 และพื้นที่ยังมีความขัดแย้งจากประชาชน ชุมชน ที่ไม่เห็นด้วยในปัจจุบัน โดยมีนายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นผู้รับเรื่องแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และนำชาวบ้านไปร่วมพูดคุยกับ นายชวลิต ชัยนิวัฒนา อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ที่ห้องประชุมสำนักงานจังหวัดสระแก้ว ชั้น 4
น.ส.กนกกาญจน์ วงษ์ชัยยะ ตัวแทนชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ม.4 ต.วังใหม่ กล่าวทั้งน้ำตา ภายหลังอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งว่า มีการออกใบ ร.ง.4 ให้กับโรงงานนี้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.60 พร้อมทั้งระบุว่า ชาวบ้านพยายามสอบถามรายละเอียดการพิจารณาจากหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ,กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ มีเพียงหนังสือแจ้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 15 พ.ย.60 ว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้ง ๆ ที่กฏหมายกำหนดให้ชาวบ้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถร้องคัดค้านภายหลังขั้นตอนออกใบ ร.ง.4 และติดประกาศฯภายในเวลา 15 วัน แต่ปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กรมฯ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งแต่เพียงว่า ยังไม่ทราบ
ข่าวน่าสนใจ:
- ชลประทานแปดริ้วไม่กังวล น้ำในพื้นที่ยังกักเก็บได้น้อย ระบุอีก 20 วันเก็บเพิ่มได้อีก
- ชาวบ้านร้องขอทีมกู้ภัยฯ ช่วยจับงูหลามตัวขนาดใหญ่เข้าไปกินไก่ จ.สระแก้ว
- ร่วมให้กำลังใจพร้อมส่งขบวนรถบรรทุกน้ำและกำลังเจ้าหน้าที่ ร่วมภารกิจฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย จ.เชียงใหม่
- มูลนิธิกาญจนบารมีออกบริการเอกซเรย์เต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ในพื้นที่ จ.สระแก้ว
น.ส.กนกกาญจน์ และชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ร่วมกันให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานหนึ่งเดียวของในหลวงรัชกาลที่ 9 มะม่วงส่งออก ลำไยนอกฤดู จะต้องล่มสลายแน่นอน ชาวบ้านจะอยู่กันอย่างไรกับมลพิษ อีกทั้งมีการดำเนินการขอรับใบอนุญาตที่ไม่เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายกำหนด หลายประการ ซึ่งชาวบ้านได้โต้แย้งส่งถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาพิจารณาและร่วมกันปกปิดข้อมูล
“มีการนำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ จาก สผ.ไปส่งเรื่องที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.60 แต่กลับมีการออกใบ ร.ง.4 ในวันที่ 15 ธ.ค.60 และที่สำคัญคือ มติ ครม.ปี 2554 ที่อนุญาตให้โรงงานนี้ขยายโรงงานจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.60 นี้ และต้องแจ้งประกอบกิจการภายในสิ้นปี 2560 คือพร้อมเปิดดำเนินการ แต่ตอนนี้ขนเครื่องจักรเข้าไป จะดำเนินการก่อสร้างได้ทันอย่างไร ทั้งนี้ ชาวบ้านจะดำเนินการทุกวิถีทาง เนื่องจากมีข้อมูลหลายประการไม่ถูกต้องและเป็นเท็จ” น.ส.กนกกาญจน์กล่าว
นายชวลิต ชัยนิวัฒนา อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ขั้นตอนการอนุญาตเป็นของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตนมีหน้าที่ดูแลภายหลังที่โรงงานได้ใบอนุญาต ซึ่งเช้าวันนี้ (26 ธ.ค.) โรงงานดังกล่าวได้ทำหนังสือเข้ามาที่สำนักงาน เพื่อยื่นขอประกอบกิจการ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่า การยื่นประกอบกิจการต้องมีการก่อสร้างโรงงานและวางเครื่องจักรที่พร้อมเดินเครื่อง แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เขาก็มีสิทธิ์ยื่น ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้มีหนังสือแจ้งกลับไปอีกครั้งว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมทั้งศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้อีกครั้งหนึ่ง
ทางด้าน นายภูสิต สมจิตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ตนเองก็เพิ่งเห็นเช่นกันว่า มีการพิจารณาใบอนุญาตแล้ว ดังนั้น การขนเครื่องจักรก็สามารถดำเนินการได้ แต่ในส่วนของการจะยื่นประกอบกิจการได้ทันเวลาหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบาย เพราะข้อมูล ล่าสุด บอกว่า ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2560 ทั้งนี้ หากประชาชนเห็นว่า สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องก็สามารถใช้สิทธิ์ยื่นร้องเรียนหรือใช้สิทธิ์ทางศาลได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพูดคุยระหว่างชาวบ้านและหน่วยงานราชการครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ร่วมรับฟังด้วย โดยมีการโต้แย้งข้อมูลของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กรณีทำหนังสือยืนยันไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ที่ผ่านมาไม่มีการร้องเรียนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในโรงงานเดิม ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่เชื่อถือในมาตรการเยียวยาหรือแนวทางแก้ไขต่าง ๆ ที่ระบุในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ได้ตั้งโลงศพ จำนวน 6-7 โลง เพื่อแสดงออกและคัดค้านโครงการฯ บริเวณตลาดวังใหม่ สำหรับรอไว้เตรียมการเผาโลงศพหลังจากนี้ด้วย.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: