X

“ครูแก้ว”ดันวิกฤตน้ำโขงแห้งขอด เสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียน ยกเป็นปัญหาระดับชาติ ขืนปล่อยวิบัติแน่!!

นครพนม – วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 “ครูแก้ว” นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2/สส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ปีนี้นอกจากเรื่องเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้ว ตนยังได้รับปัญหาความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชน หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่อาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำโขง ในฐานะที่ตนเป็น สส.นครพนม จึงได้วางแนวทางหลังลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำโขงแห้งขอด ถือว่าวิกฤตหนักสุดในรอบ 100 ปี ซึ่งได้รับทราบปัญหาจากชาวบ้าน จึงพบว่าปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งเร็วผิดปกติ อดีตคนในสมัยโบราณกล่าวไว้ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็ลี่ไหลลง” จนครูเพลงนำไปแต่งเป็นเพลง แต่นี่ยังไม่ถึงเดือนอ้าย(อยู่ช่วงเดือนธันวาคม) เดือนยี่(เดือนมกราคม)แค่เดือนพฤศจิกายนอยู่ในช่วงเดือนสิบสองเท่านั้น น้ำโขงแห้งจนเกิดสันดอนทรายเป็นพื้นที่กว้าง และมีแนวโน้มระดับน้ำจะลดลงต่อเนื่อง

 


จากข้อมูลพบว่า ปัจจัยเกิดจากผลกระทบของภัยแล้ง มีปริมาณฝนน้อยหรือฝนทิ้งช่วง และที่สำคัญมีการเก็บกักน้ำเขื่อนของประเทศจีนกว่า 10 แห่ง และเขื่อนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอีกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง ส่งผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ปลายน้ำ และยังเป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ สิ่งที่ตามมาคือ ลำน้ำสาขาสายหลัก เช่น ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง และอีกหลายสาย ได้รับผลกระทบน้ำแห้งขอด ชาวบ้านขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์เริ่มหายไป และยังเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ แหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงถูกทำลาย โอกาสสูญพันธุ์จึงมีสูง

ครูแก้วเผยต่อว่าทั้งนี้ปัญหาน้ำโขงแห้ง ตนมองว่าปัจจุบันไม่ใช่แค่ผลกระทบภัยแล้งทั่วไป แต่เป็นปัญหาระดับชาติที่ส่อวิกฤตรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี หากปล่อยทิ้งไว้ความวิบัติจะตามมา ประชาชนพื้นที่ลุ่มน้ำจะเดือดร้อนหนัก ตนในฐานะตัวแทนชาวนครพนม รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ติดลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสงคราม และลำน้ำสาขาสายหลัก ได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง สรุปปัญหาความเดือดร้อน ผลกระทบจากการกักเก็บน้ำโขงประเทศจีน เสนอต่อรัฐบาลให้นำเข้าที่ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะได้หารือร่วมกัน เพราะตนมองว่า ปัญหาน้ำโขงแห้งในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาภายในประเทศ แต่เป็นปัญหาระหว่างชาติ ที่ถูกปล่อยปละละเลยมานาน ทั้งที่มีกฎหมายระหว่างประเทศกำกับดูแล แต่สุดท้ายปล่อยให้บางประเทศแสวงประโยชน์ โดยไม่มีการตรวจสอบดูแล และปล่อยให้เกิดผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน ต้องขาดแคลนน้ำการเกษตร น้ำอุปโภค บริโภค อย่างไรก็ตามตนจะได้ผลักดันให้ทางรัฐบาลไทย นำปัญหาน้ำโขงแห้ง เข้าที่ประชุมระหว่างชาติที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ไขระยะยาว หากขืนปล่อยไว้เชื่อว่าจะถึงจุดจบของระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจากหมดไป ต้องร่วมกันเร่งแก้ไขที่ต้นเหตุ ดีกว่าปล่อยไว้แล้วมาแก้ที่ปลายเหตุ สุดท้ายความวิบัติทางธรรมชาติจะตามมา โดยเฉพาะพื้นที่อีสาน 7 จังหวัด ที่ติดแม่น้ำโขง คือ จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลฯ จะได้รับผลกระทบหนักสุด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน