X

ย้อนรอย สั่งพักราชการอดีตอธิการบดี ม.นครพนม บทพิสูจน์กึ๋นกรรมการสภาฯ ฉายา”อาหารตามสั่ง”

นครพนม – จากกรณีที่มีกระแสข่าวลือสะพัดว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเนื่องจากถูกร้องเรียนเรื่องการบริหารงานบกพร่องและขาดธรรมาภิบาล หลังเจ้าตัวมีหนังสือชี้แจงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ชัดเจน

โดยแหล่งข่าวในมหาวิทยาลัยนครพนมเปิดเผยว่า หลังมีหนังสือดังกล่าวส่งถึงสำนักงานอธิการบดี ก็ถูกสั่งให้เก็บเอกสารในที่มิดชิด ขณะที่ผู้ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงก็หายออกจากที่ทำงาน โดยแหล่งข่าวเผยว่าไปรวมตัวกับกรรมการสภา มนพ.บางส่วน ที่เซฟเฮ้าส์แห่งหนึ่ง เพื่อวางแผนเตรียมรับมือในวันประชุมที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา การปฏิบัติต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวนฯ จะมีคำสั่งจากนายกสภา มนพ. หรืออธิการบดีฯ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน อาทิ อดีตอธิการบดีท่านหนึ่ง มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยนครพนม ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหามูลความผิดทางวินัย หรือหามูลความผิดทางละเมิด หรือการดำเนินการทางวินัย โดยงดจ่ายเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินอื่นใด ไว้ก่อน จนกว่าการสอบสวนวินัยร้ายแรงจะแล้วเสร็จ
เช่นเดียวกับคณบดีฯอีกท่านหนึ่ง มีหนังสือจาก มนพ. สั่งให้ออกจากราชการ โดยอ้างว่ามีพยานซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอาจจะไม่กล้าให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการสอบสวนฯ ถ้ายังคงให้อยู่ในหน้าที่ราชการ จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนของคณะกรรมการฯ จึงสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเช่นกัน

ซึ่งกรณีของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รก.อธิการบดี มนพ. หากถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงเหมือนกับที่กล่าวมาข้างต้น ถ้ายึดมาตรฐานเดียวกันเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการสภาฯ จะต้องมีความเห็นให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ออกจากราชการไว้ก่อนเช่นกัน

โดยปัจจุบันสำนักงานสภามหาวิทยาลัยนครพนม มีกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 18 คน และหนึ่งใน 18 คนนั้น มีชื่อ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ร่วมอยู่ด้วย โดยมี ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ เป็นนายกสภาฯ ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร เป็นอุปนายกฯ และ ดร.ฑีรัตน์ พิริยพลิน เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีกรรมการสภาฯผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน คือ 1.ศ.ดร.สมจิตต์ สุพรรณทัสน์ 2.ศ.ดร.สุวพงษ์ สวัสดิ์พาณิชย์ 3.ผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ 4.นายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ 5.นายทรงยศ โรจนวีระ 6.รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ และ 7.นายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา

และมี นายบุญเลิศ โพธิ์ขำ เป็นกรรมการสภาฯ กลุ่มประธานสภาคณาจารย์ฯ รศ. ดร.คำรณ สิระธนกุล,รศ.ดร.สนั่น ศรีสุข และ ดร.พันตรี โคมพิทยา เป็นกรรมการสภาฯ ประเภทผู้บริหาร ตามด้วย นายกานต์ แก้วมาตย์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลท่าอุเทน นายศรีสุข แสนยอดคำ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเรณูนคร เป็นกรรมการสภาฯ ประเภทผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายสันติสุข วรวัฒนธรรม,นายกิตติศักดิ์ มะลัย,นายประพัฒน์พงศ์ ปรีชา เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯ ประเภทคณาจารย์ประจำในจำนวนคณะกรรมการสภา มนพ. ทั้ง 18 คน มีประมาณ 4 คน ที่มีจุดยืนเป็นของตนเอง ส่วนอีก 14 คนนั้นล้วน เป็นพวกอาหารตามสั่ง

นอกจากนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีหนังสือจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถึงกระทรวง กรม และหน่วยงานอิสระ ซึ่งสำนักเลขาฯมีภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การประสานราชการกับส่วนราชการในพระองค์เกี่ยวกับการขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ โดยเน้นย้ำหลักเกณฑ์การเสนอเรื่อง ต้องตรวจสอบกลั่นกรองว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งเป็นเรื่องร้องเรียนที่ไม่เป็นตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติได้กำหนดไว้ จึงให้ดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่ยุติ รวมทั้งเรื่องที่เสนอต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากที่ผ่านมายังมีส่วนราชการไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว โดยยังส่งเรื่องที่มีปัญหาและยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนมาเพื่อขอให้สำนักเลขาฯ ดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ซึ่งหากแก้ไขไม่ทันอาจทำให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและเป็นการมิบังควร
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้สำนักเลขาฯคณะรัฐมนตรี กำชับให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ที่จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีข้อมูลอันเป็นที่ยุติชัดเจนฯ

ดั่งเช่นกรณี ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ได้มีมติแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยนครพนม เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มนพ.ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน ก็ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ คงเป็นแต่เพียงรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมเรื่อยมา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องเพราะ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ถูกร้องเรียนและคัดค้านการการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) หลายเรื่องจน สกอ.ไม่เสนอชื่อเพื่อขอโปรดเกล้าจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ทางสภา มนพ.ก็ยังคงเพิกเฉย ไม่ยอมคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร ปล่อยให้เรื่องอึมครึมมาจนทุกวันนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน