นครพนม – “การท่องเที่ยว” นับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่นำเอาวัฒนธรรมมาเป็นจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและยุโรป ที่สนใจจะเรียนรู้วัฒนธรรม มรดกทางประวัติศาสตร์ เยี่ยมชมงานสถาปัตยกรรม และสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในประเทศนั้น รวมถึงซื้อของที่ระลึกที่เป็นงานหัตถกรรมและงานฝีมือ ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ การท่องเที่ยวในลักษณะดังกล่าวเราเรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” หลายคนอาจจะสงสัยว่า การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ควรจะครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง คุณบุญเลิศ จิตตั้งวัฒนา ( 2548) ได้อธิบายไว้ว่าการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมประกอบด้วย 1. ประวัติศาสตร์และร่องรอยทางประวัติศาสตร์ 2. โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ 3. งานสถาปัตยกรรมเก่าแก่ดั้งเดิม 4. ศิลปะ หัตถกรรม ประติมากรรม ภาพวาด รูปปั้นและแกะสลัก 5. ศาสนารวมถึงพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา 6. ดนตรี การแสดงละคร ภาพยนตร์ 7. ภาษาและวรรณกรรม 8. วิถีชีวิต เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย อาหาร 9. ประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้าน เทศกาลต่างๆ และ 10. ลักษณะงานและเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำมาใช้เฉพาะท้องถิ่น
ประเทศต่างๆ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในการสร้างรายได้ให้กับประเทศของตนอย่างมหาศาล จึงนำวัฒนธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ เช่น ประเทศเกาหลี มีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระที่สนับสนุนภาคเอกชน ในการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมซึ่งเราจะเห็นโฆษณาการท่องเที่ยวของเกาหลีที่เน้นการสัมผัสวัฒนธรรมและเทคโนโลยี รวมถึงการโฆษณาแฝงในภาพยนตร์ซีรี่ส์ต่างๆ ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร์ก็พยายามใช้ความหลากหลายของเชื้อชาติ เป็นจุดขายในการท่องเที่ยวเช่นกัน ภายใต้แนวคิดที่ว่า Uniquely Singapore โดยมีการฟื้นฟูแหล่งวัฒนธรรมดังเดิมของคนสิงค์โปร์ เชื้อสายจีน อินเดียและมลายูในประเทศให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สำหรับประเทศมาเลเซีย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จะเน้นความเป็นมุสลิม ให้นักท่องเที่ยวที่อยากสัมผัสมิติต่างๆของชาวมุสลิม ยังมีประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ที่มีการจัดการท่องเที่ยววัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ เช่น จีน ประเทศในยุโรปและออสเตรเลีย
การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม(ทกจ.ฯ) มีเทียบเชิญสื่อในท้องถิ่นถึง คุณทวี อภิสกุลชาติ นายกสมาคมนักข่าวจังหวัดฯ โดยร่วมกับสื่อจากส่วนกลางท่องยุทธจักรชมสถานที่สำคัญในพื้นที่ เพื่อนำเรื่องราวซอกมุมต่างๆเผยแพร่ให้ขจรไกล หมายดึงดูดนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเที่ยวเมืองชายแดนแห่งนี้ เริ่มกันที่ “อนุสรณ์สถานประธานโฮจิมินห์” ที่บ้านนาจอก ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม มีพิพิธภัณฑ์จำลองบ้านเก่าของ”ลุงโฮ” จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้แบบเดียวกับยุคที่ลุงโฮหรือประธานโฮจิมินห์ได้มาอาศัยอยู่ในช่วงสงครามเวียดนาม
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งคุณจันทร์ไทย พัฒนประสิทธิชัย กำนันตำบลหนองญาติ นำคนไทยเชื้อสายเวียดนาม จัดอาหารเที่ยงจัดเลี้ยงต้อนรับ ก่อนที่จะไปวัดโอกาสหรือวัดโอกาสศรีบัวบาน ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง และเป็นที่ประดิษฐานพระติ้วและพระเทียม”พระพุทธรูปแฝด” อันศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมที่สวยงาม บนถนนสุนทรวิจิตร เส้นเลียบริมแม่น้ำโขง มี “วัดโพธิ์ศรี” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัดที่มีความเก่าแก่ ประดิษฐาน”พระทอง” พระพุทธรูปโบราณ เนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย สกุลช่างล้านช้าง (สมัยอยุธยาตอนต้น)
อดีตเคยทำพิธีสรงน้ำพระทองในวันสงกรานต์ แต่มักจะเกิดพายุและฝนตกทุกครั้ง ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นพระพุทธรูปองค์อื่น ห่างออกไปบนถนนสายนี้คือ “วัดมหาธาตุ” เป็นวัดที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.1150 เดิมชื่อว่า “วัดมิ่งเมือง” สมัยอดีตเจ้าเมืองและชาวบ้านนิยมสร้างธาตุเจดีย์ ไว้เป็นที่บรรจุอัฐิของบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย วัดมิ่งเมืองแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยธาตุเจดีย์เป็นจำนวนมาก ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกกันติดปากว่า “วัดธาตุ” ภายหลังเมื่อมีการสร้าง”พระธาตุนคร”(พระธาตุคนเกิดวันเสาร์) ขึ้น “พระครูพนมนครคณาจารย์” ได้เสนอขอตั้งชื่อวัดเป็น “วัดมหาธาตุ” ถึงปัจจุบัน
บ่ายแก่ๆก็เที่ยวชม “จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม(หลังเก่า)” เดิมเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของ พระยาอดุลยเดชสยามเมศวรภัคดีพิริยพาหะ (อุ้ย นาครทรรพ) เทศาภิบาลมณฑลอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก สร้างระหว่างปี พ.ศ. 2455-2457 โดยช่างก่อสร้างเป็นชาวญวน ชั้นบนและล่างไม่มีเสา และไม่มีการตอกตะปูแม้แต่ดอกเดียว ใช้การเข้าเดือยไม้ ต่อมา พ.ศ. 2470 พระยาอดุลยเดชฯ ได้ขายอาคารหลังนี้ให้แก่กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นที่พักของผู้ว่าฯ ในราคา 2 หมื่นบาท และในระหว่างวันที่ 12-13 พ.ย. 2498 ในหลวงและพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางจังหวัดจึงจัดให้จวนแห่งนี้เป็นที่ประทับแรม ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประจำจังหวัดนครพนม
เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปกราบนมัสการ “พระธาตุพนม” เป็นพระธาตุประจำผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ภายในบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลา 19.38 น. จากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุประจวบกับฝนตกหนักมีลมพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน พระธาตุพนมจึงได้ล้มทลายลงทั้งองค์ ประชาชนทั้งประเทศและรัฐบาลได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม
จากนั้นได้ไปชมวิถีชีวิต”ชาวชนเผ่าไทยข่า” บ้านโสกแมว ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม เดิมมีถิ่นกำเนิดอยู่แขวงสะหวันเขต และ อัตปือ ประเทศลาว หนีภัยสงครามมาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย ตั้งแต่สมัย ร.3(2375-2380) นักมนุษย์วิทยาถือว่าชาวไทยข่าเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในแถบลุ่มแม่น้ำโขง สืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ ภาษาของชาวไทยข่าอยู่ในตระกูลออสโตรอาเซียติก ในสาขามอญเขมร
รอบบ่ายก็ไปยัง “พระธาตุเรณูนคร”(ประจำผู้เกิดวันจันทร์) วัดธาตุเรณู อ.เรณูนคร องค์พระธาตุจำลองมาจากองค์พระธาตุพนม(องค์เดิม) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2460 เป็นพระธาตุคู่เมืองของชาวเรณูนคร ภายในเจดีย์บรรจุคัมภีร์พระธรรม พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน เพชรนิลจินดา หน่องา และของมีค่าที่เจ้าเมืองเรณูนคร กับประชาชนนำมาบริจาค และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันต์ธาตุ โบกมือลาสาวสวยเรณูมาต่อที่ “พระธาตุมรุกขนคร”(ประจำคนเกิดวันพุธกลางคืน) วัดมรุกขนคร ริมถนนชยางกูร(ทางหลวงแผ่นดินสาย 212) บ้านดอนนางหงส์ท่า ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยม ลักษณะคล้ายพระธาตุพนมแต่เล็กกว่า สูง 50.9 เมตร ฐานกว้างด้านละ 20 เมตร พระธาตุสูง 50.9 เมตร มีความหมายว่าสร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และ จุด 9 หมายถึงรัชกาลที่ 9
ส่วนวัดมรุกขนครที่ประดิษฐานพระธาตุองค์นี้มีอายุเกือบสามร้อยปีมาแล้ว สร้างโดยพระบรมราชาเจ้าแอวก่าน เจ้าเมืองมรุกขนคร เป็นวัดประจำเมืองที่มีความเจริญมาก ต่อมาถูกปล่อยทิ้งร้างไป ภายหลังมีการพบซากของวัดอยู่ที่โรงเรียนดอนนางหงส์สงเคราะห์ตรงข้ามกับที่ตั้งวัดในปัจจุบัน กั้นด้วยห้วยบังฮวก ส่วนฐานของศาสนสถานเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ อายุราวปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง
ทริปการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็สิ้นสุดลง ซึ่งในความจริงจังหวัดนครพนม ยังมีความหลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ถูกบีบด้วยเงื่อนของเวลา แต่ยังมีสื่อส่วนกลางหลายสำนัก ที่จะนำเสนอเรื่องราวสู่สายตาของนักท่องเที่ยวอย่างละเอียดอีกครั้ง..
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: