X

พลังงานนครพนม ช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง สร้างระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มกำไรปีละเป็นแสน

นครพนม – “ตำบลโคกสูง”  เดิมเป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก อยู่ภายใต้การปกครองของ”ตำบลมหาชัย” เมื่อปี พ.ศ.2517  ได้แยกออกมาเป็นตำบล ขึ้นกับอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม มี 10 หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีสภาพป่าแล้ง ดินลูกรัง มีลำห้วยไหลผ่านอยู่สองสาย อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน และทำไร่ เกษตรกรอาศัยน้ำจากธรรมชาติ หากปีใดฝนแล้งข้าวก็ไม่เจริญเติบโต

ย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ผืนดินส่วนใหญ่ถูกปล่อยว่าง เพราะไม่มีน้ำในการเกษตร ภายหลังมีการนำพืชที่ใช้น้ำน้อยอย่าง ข้าวโพด มะเขือเทศ ฯลฯ มาทดลองปลูก แต่ เกษตรกรในขณะนั้นต้องลงทุนเจาะน้ำบาดาล บนที่ดินของตนเอง แล้วลากสายไฟยาวหลายร้อยเมตรมายังปั๊มน้ำ เพื่อสูบน้ำจากใต้ดินมารดพืชผล ทำให้มีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

โดยจากข้อมูลกระทรวงพลังงาน พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ มีความจำเป็นต้องสูบน้ำจากบ่อบาดาล เพื่อใช้ในการผลิตพืชผลของตน ซึ่งสอดคล้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีความเข้มข้นของแสงมากในฤดูแล้งเช่นกัน จึงได้เกิดไอเดียจัดโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้งขึ้น  มอบหมายสำนักงานพลังงานจังหวัดนครพนม ร่วมมือประสานสิบทิศกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงลุยแดดตากฝนเอ็กซเรย์พื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีลายแทงจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศเป็นเขตภัยแล้ง รวมทั้งมีหนังสือส่งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้านใด ตำบลใด มีความประสงค์จะใช้ระบบสูบน้ำพลังจากแสงอาทิตย์ ต้องจัดทำข้อเสนอขอเข้าโครงการ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีชาวบ้านรวมกลุ่มกันไม่น้อยกว่า 7 ราย และต้องมีพื้นที่ใช้ประโยชน์รวมแล้วไม่น้อยกว่า 15 ไร่ หัวใจสำคัญของโครงการต้องมีบ่อน้ำบาดาลอยู่ก่อน และต้องเขียนแผนบริหารการใช้น้ำรองรับ หลังติดตั้งระบบเรียบร้อยแล้ว

มี อบต.ส่งชื่อเข้าประกวดถึง 26 แห่ง คณะกรรมการนั่งพิจารณากันหัวยุ่ง เพราะทุกแห่งล้วนมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ รักพี่แต่ก็เสียดายน้อง แต่ท้ายสุดผลก็ออกมาตรงกัน กรรมการฟันธงให้ดำเนินโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง เป็นการเบิกฤกษ์ประเดิมชัย ประกอบด้วย 1.บ้านโคกสว่าง ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม และ 2.บ้านม่วง ต.โคกสูง อ.ปลาปาก ส่วนที่เหลือรอรอบหน้าจะนำมาพิจารณาต่อไป

dav

สำหรับบ้านม่วง หมู่ 2 ต.โคกสูง ที่ตั้งของแผงโซล่าเซลล์ อยู่ด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน บนที่ดินของนางทุมมา คำถา เกษตรกรที่ใช้น้ำในช่วงหน้าแล้งจากบ่อบาดาลสูบขึ้นมารดพืชสวน ส่วนฤดูฝนลงนาปลูกข้าว สิ้นหน้านาย่างสู่ฤดูร้อนกับหนาว ก็หันมาปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง มันแกว มะเขือเทศ ต้นหอม ผักบุ้ง แตงโม และดอกดาวเรือง

นายสัมฤทธิ์ ชัยฮัง ผู้ใหญ่บ้าน เผยว่ามีลูกบ้านอยู่ในความดูแล 286 หลังคาเรือน จำนวน 1,12 คน มีลำห้วยสีทนไหลผ่านเพียงสายเดียว ไม่มีที่กักเก็บน้ำใช้ในฤดูแล้ง เกษตรกรต้องลงทุนหาน้ำบาดาลกันเอง รู้สึกดีใจเมื่อมีโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง เพื่อดึงน้ำบาดาลช่วยเกษตรกรผลิตพืชช่วงน้ำน้อย แรกเริ่มมีชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก 22 ครอบครัว ซึ่งเหมือนเป็นการชิมลางทดลองการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะมีเกษตรกรขอเข้าร่วมใช้ถึงปัจจุบันมีเพิ่มถึง 38 ไร่ เพราะลดต้นทุนการผลิต แต่เพิ่มรายได้ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละ 20,000 บาท ขณะที่ชาวบ้านที่มีที่อยู่อาศัยใกล้กับแท็งค์น้ำ ยื่นขอใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค ตนก็ดำเนินต่อท่อแป๊บเข้าไปให้ โดยเก็บค่าบริการหน่วยละ 1 บาทเท่านั้น ตอนนี้กำลังต่อยอดด้วยการเขียนโครงการ ขอเพิ่มระบบสูบน้ำอีก 1 แห่ง ให้ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้นำได้ทั้งหมู่บ้าน มีคุณมัณฑนา ฟูกุล พลังงานจังหวัดฯ ลงตรวจสอบพื้นที่ด้วยตนเอง โดยไม่ห่วงสวย แดดจะกล้าฝ้าจะขึ้นก็ไม่สน

ด้าน นางสาว มัณฑนา ฟูกุล พลังงานจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่าโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณปี 2559 เป็นระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตร ใช้ไฟฟ้า 2 ระบบ คือจากแผงโซล่าเซลล์ และไฟบ้าน ส่วนชุดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ มีขนาด 2,500 วัตต์(250 วัตต์x10 แผง) สูบน้ำได้ 20 ลบ.ม./วัน บ่อมีความลึก 42 เมตร ถังเก็บน้ำขนาด 2.5 ลบ.ม. 8 ถัง ทำให้เกษตรกรดึงน้ำไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งถึงปีละ 100,000 บาท วันส่งมอบ(27 เม.ย.61) มี นายดำรงค์ สิริวิชย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.ฯ มาเป็นประธานเปิดวาล์วน้ำ เป้าหมายที่คาดไว้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตร การตลาด ในการผลิตพืชคุณภาพป้อนสู่ตลาดต่อไป

dav

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน