X

ลิ้นจี่นนครพนม “โกอินเตอร์” จีนสั่งแล้ว 1 พันตัน

นครพนม – วันที่ 18 เม.ย.61 เวลา 14.00 น. นายประทีป ฤทธิกุล รอง ผวจ.นครพนม นายเกษม รักสุจริต เกษตรจังหวัดฯ เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 116 หมู่ 2 ต.ขามเฒ่า เพื่อตรวจสวนลิ้นจี่นครพนมสายพันธุ์ นพ.1 อันเลื่องชื่อของจังหวัด มีนายสวัสดิ์ ภาษา เจ้าของบ้านและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ให้การต้อนรับ

นายสวัสดิ์ถือว่าเป็นเกษตรกรผู้บุกเบิกปลูกลิ้นจี่เป็นรายแรกของจังหวัดนครพนม เล่าว่าปกติมีอาชีพทำนา ทำสวน ปลูก ประมาณปี 2535 พบต้นลิ้นจี่ในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม  มีผลผลิตสวยงาม สีสันชักชวนให้น่ารับประทาน ตนจึงลองชิมมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีเนื้อแน่นกว่าลิ้นจี่ทั่วไป ตนจึงนำพันธุ์มาปลูกจนกลายเป็น ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ในเวลาต่อมา บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่

ปัจจุบันลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ได้รับการพัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือมีผลขนาดใหญ่ เปลือกสีแดงอมชมพู มีรูปทรงเหมือนไข่ และเนื้อผลแห้งสีขาวขุ่น เมื่อปลอกรับประทานจะได้รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด จึงทำให้ผู้ได้ลิ้มลองติดใจในรสชาติเป็นอย่างยิ่ง จนได้เป็นสินค้าเกษตร GI ตัวแรกของจังหวัดนครพนม ที่ได้รับเครื่องหมายจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตั้งแต่ปี 2560

นายสวัสดิ์ผู้นำกลุ่มเกษตรลิ้นจี่กล่าวต่อว่า ปีนี้เกษตรกรมีรอยยิ้มกว้างขึ้น เพราะออกผลผลิตได้มากกว่าปีที่แล้วถึง 2 เท่า เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย หนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้ปลุกลิ้นจี่ขายผลผลิตได้มากขึ้น นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชนและจังหวัดเพิ่มขึ้นตามลำดับ

นายเกษม รักสุจริต เกษตรจังหวัดฯ เผยว่า พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ นพ.1 มีทั้งสิ้น 2,711 ไร่ ผลผลิตรวมราว 3,000 ตัน กระจายปลูกไปตามอำเภอต่างๆประกอบด้วย อ.เมืองฯ,ท่าอุเทน,บ้านแพง,ธาตุพนม,ปลาปาก,และเรณูนคร โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในลักษณะกระจุกเพียงเดือนเดียว คือช่วงกลางเดือนเมษายน-พฤษภาคม เท่านั้น แต่ปีนี้(2561)เป็นที่น่ายินดีเพราะเกษตรกรได้ทำ MOU กับผู้รับซื้อเพื่อการส่งออกไปชิมรางในประเทศจีนแล้ว จำนวน 1,000 ตัน หากรสชาติไม่เปลี่ยนแปลงอนาคตจีนจะต้องสั่งออเดอร์เพิ่มอย่างแน่นอน จึงเป็นโจทย์ให้เกษตรกรผู้ปลูกมั่นใส่ใจในคุณภาพ

เรื่องราวความเป็นมาของลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เล่าว่าหลวงปู่จันทร์ เขมิโย พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม เขตเทศบาลเมืองนครพนม ฉันลิ้นจี่ที่ญาติโยมนำมาถวายที่กุฏิ รู้สึกชื่นชอบในรสชาติจึงมอบเมล็ดลิ้นจี่ให้ชชาวบ้านนาโดน ต.ขามเฒ่า ทดลองนำไปปลูก ต่อมาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยฯ พบต้นลิ้นจี่อยู่ในบ้านของเกษตรกรบ้านนาโดน มีลักษณะพิเศษโดดเด่นไม่เหมือนใคร รสชาติก็ดีถูกลิ้น ภายหลังทราบว่าลิ้นจี่สามารถเติบโตได้ดีในพื้นดินแบบนี้ ประกอบกับพื้นที่ ต.ขามเฒ่า มีอากาศหนาวสุดในจังหวัด ทำให้ลิ้นจี่เจริญเติบโตให้เนื้อแน่นและหวานอมเปรี้ยว จึงนำมาปลูกและขยายพันธ์ จนกลายมาเป็นลิ้นจี่ประจำจังหวัด พันธุ์ นพ.1 ในปัจจุบัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน