X

สุดยอดมหามงคล พิธียกยอดฉัตรทองคำพระธาตุพนม เสียงพุทธศาสนิกชน สาธุๆๆ กึกก้องลั่นลานธรรม

นครพนม -วันที่ 7 กันยายน 2562 บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพุทธาภิเษกสมโภชยกยอดน้ำค้างทองคำ พร้อมกระดิ่งทองคำชัยมงคล และดอกบัวทองคำ อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนยอดพระธาตุพนมบรมเจดีย์ หลังมีการขออนุญาตกรมศิลปากรทำการปฏิสังขรณ์ เนื่องจากยอดองค์พระธาตุพนมมีความหมอง ที่เกิดจากกรดสิ่งปฏิกูล และตั้งแต่ฉลองสมโภชพระธาตุพนมองค์ใหม่ เมื่อปี 2519 เป็นต้นมา ยังไม่มีการบูรณะยอดพระธาตุพนมเลย

ในครั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันบูรณะยอดพระธาตุพนมให้มีความสง่างาม เพื่อส่งเสริมคุณค่าความเป็นโบราณสถานที่สำคัญ  ประกอบไปด้วยยอดเม็ดน้ำค้างทองคำ ที่มีลักษณะเหมือนหยดน้ำค้าง ประดับด้วยกระดิ่งทองคำจำนวน 32 ใบ และดอกบัวทองคำ ตกแต่งประดับประดาด้วยพลอยและนิล ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงที่พระครูโพสะเม็กบูรณะพระธาตุพนม ในปี พ.ศ.2233 รวมทั้งใช้ทองคำในการสร้างถึง 19 กิโลกรัม  นอกจากนี้ยังได้ทำการปิดทอง และทางสีใหม่ทั้งองค์เพื่อเป็นพุทธบูชา ซึ่งภายในองค์พระธาตุพนม ได้บรรจุพระอุรังคธาตุ หรือกระดูกส่วนหัวอกของพระพุทธเจ้า ถือเป็นพระบรมเจดีย์ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.8 มีอายุเก่าแก่กว่า 2,500 ปี  ที่สำคัญถือเป็นการบูรณะปรับปรุงในรอบ 43 ปี นับเป็นอานิสงส์ยิ่งใหญ่และเป็นศิริมงคลแก่ผู้ร่วมพิธี โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม พร้อมด้วย พล.ต.อ.ดร.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และ สรพงษ์ ชาตรี ดาราอาวุโสชื่อดัง รวมถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ จากภาครัฐเอกชน พิธีกรโทรทัศน์ พุทธศาสนิกชน ประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมพิธีจนลานธรรมคับแคบไปถนัดตา

จากกรณีวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร มีหนังสือถึงกรมศิลปากร มีความประสงค์จะหุ้มยอดเม็ดน้ำค้างขององค์พระธาตุพนมด้วยทองคำบริสุทธิ์ เพื่อป้องกันกรดที่เกิดจากสิ่งปฏิกูล เนื่องจากปัจจุบันนี้ยอดเม็ดน้ำค้างขององค์พระธาตุพนมหุ้มด้วยทองแดง มีนกเกาะและได้ทำรังนอนถ่ายรดสิ่งปฏิกูล ทำให้ส่วนยอดเม็ดน้ำค้างดำและด่าง พร้อมกันนี้ในคราวเดียวกันจะดำเนินการทำความสะอาดภายนอกองค์พระธาตุพนม ทาสีใหม่ และปิดทองคำเปลวใหม่ทั้งองค์ในส่วนที่ปิดทองคำเปลว เนื่องจากองค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ทาสีปิดทองคำเปลวมาเป็นระยะเวลานานถึง 43 ปี ดังนั้นการหุ้มยอดเม็ดน้ำค้างองค์พระธาตุพนมด้วยทองคำบริสุทธิ์ การทาสี รวมถึงการปิดทองคำเปลวใหม่ ตามรูปแบบเดิมจะทำให้องค์พระธาตุพนมมีความโดดเด่นสง่างาม และไม่เป็นการทำลายศิลปะดั้งเดิมแต่อย่างใด

พระครูพนมปรีชากร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุพนมเปิดเผยว่า จากการที่พระธาตุพนมพังทลาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เป็นเหตุให้ฉัตรพระธาตุพนมชำรุด จึงมีการบูรณะใหม่ ของเดิมเป็นฉัตร 5 ชั้น มีเนื้อทองคำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องบูรณะเปลี่ยนฉัตรชั้นที่ 4 และชั้นที่ 5  ใหม่ ซึ่งของเดิมบุบสลายเสียหาย ฉัตรที่ทำขึ้นใหม่ในปัจจุบัน ลักษณะเป็นฉัตร 5 ชั้นเท่าของเดิม สูง 4 เมตร ทองคำจากของเดิม 7 กิโลกรัม ซื้อเพิ่มเติม 7,100 กรัม และได้มีพระราชพิธียกฉัตรพระธาตุพนมขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2522 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(วาสน์ สาสโน) สังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่วนยอดพระธาตุพนมองค์เดิม มีความสูง 5 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2233  โดยพระครูโพนสะเม็ก (พระครูยอดแก้ว หรือพระครูขี้หอม) พระเถระสำคัญแห่งวัดโพนสะเม็ก นครหลวงเวียงจันทร์  ได้นำญาติโยมกว่า 3,000  คน เข้าทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมเป็นการใหญ่ ซึ่งเป็นการบูรณะต่อจากพระยานครหลวงพิชิตราชธานี แห่งเมืองศรีโคตรบูรณ์ โดยพระครูขี้หอมสร้างเป็นตอนๆ1-3 เริ่มจากฐานก่ออิฐถือปูน แล้วต่อเป็นองค์ระฆังรูปโกศแบบเจดีย์ล้านช้าง หล่อด้วยเหล็กเปียก และต่อเป็นฉัตรหล่อด้วยทองแดง และในตอนที่ 3 ทำเป็นปม มีรูสำหรับปักฉัตร ฉัตรนั้นทำด้วยทองคำฝังพลอยและนิล ประมาณ 300 เม็ดเศษ ต้นฉัตรเป็นเหล็ก ด้ามฉัตรเป็นเงินฝังพลอย กระทั่งปี 2518 พระธาตุพนมได้พังทลายลงมาทั้งองค์ และทางรัฐบาลจึงสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ขึ้นแทนคือองค์ปัจจุบัน(พ.ศ.2519) เป็นเวลาถึง 43 ปี ที่ปลียอด(เม็ดน้ำค้าง)พระธาตุพนมไม่ได้บูรณะ ทำให้ทองคำที่ปิดไว้ได้ลอกดำ ทางวัดพระธาตุพนมฯจึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรมศิลปากร เพื่อทำการบูรณะปลียอดใหม่(เม็ดน้ำค้าง) ด้วยการนำทองคำมาหลอมตีเป็นแผ่นหุ้มปลียอด

สำหรับองค์พระธาตุพนมนั้นมีทั้งสิ้น 5 องค์ เริ่มจากองค์แรก สมัยพระมหากัสสะปะเถระกับพญาทั้ง 5 สร้างขึ้นเป็นปฐม ต่อมาถึงปี พ.ศ.500 สมัยพญาสุมิตธรรมวงศา เจ้าเมืองมรุกขนคร ได้สร้างองค์ที่ 2 หุ้มองค์เดิมไว้ กระทั่งสมัยพระครูขี้หอม (พระครูยอดแก้ว หรือพระครูโพนสะเม็ก) ปี 2233-2245 ได้สร้างองค์ที่ 3 ครอบองค์ที่ 1 และ 2 ไว้ กาลเวลาล่วงถึงปี พ.ศ.2483 หลวงวิจิตรวาทการ ได้สร้างองค์ที่ 4 ขึ้นครอบ และได้ต่อยอดพระธาตุให้สูงขึ้น โดยห่อหุ้มองค์พระธาตุยุคพระครูโพนสะเม็กไว้ข้างใน จากนั้นอีก 35 ปีต่อมาองค์พระธาตุพนมก็ล้มลงในปี 2518 ส่วนองค์ที่เห็นเด่นสง่างามในปัจจุบันคือองค์ที่ 5

โดยเฉพาะการบูรณะครั้งที่ 3 หรือองค์ที่ 3 ยุคพระครูโพนสะเม็กหรือพระครูขี้หอมนั้น ท่านได้มีการนำเหล็กเปียก ซึ่งเป็นธาตุกายสิทธิ์ มีคุณสมบัติพิเศษเย็นและดูดไอน้ำในอากาศมารวมตัวกันทำให้ชุ่มเหมือนเปียกน้ำ ทำให้ไม้ขีดไฟจุดไม่ติด ป้องกันฟ้าผ่า ป้องกันอันตรายจากดินปืน เป็นเหล็กไหลที่หาได้ยากมาก พรรณสัณฐานสีขาวขุ่นเหมือนตะกั่ว นับเป็นโลหะธาตุที่มีเนื้อเปียกชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา คล้ายๆกับนํ้าค้างจับเกาะ เมื่อเหล็กเปียกเข้าไปอยู่ในสถานที่ใด ก็จะเกิดบรรยากาศเย็นสบาย สมัยโบราณจึงนิยมใช้เหล็กเปียกประดับไว้ที่ยอดพระเจดีย์ป้องกันฟ้าผ่า มีอานุภาพทางหนังเหนียวคงกระพันอาวุธทุกชนิด จากคุณสมบัติดังกล่าวพระครูขี้หอมจึงนำลูกศิษย์ไปทำพิธีขอขมา แล้วนำมาตีเป็นแผ่นหุ้มยอดพระธาตุ ปัจจุบันเหล็กเปียกสมัยพระครูขี้หอมสร้าง ประดิษฐานอยู่ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมรัตนโมลีศรีโคตรบูรณ์ บริเวณด้านหลังองค์พระธาตุพนมในปัจจุบัน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน