X

นั่งรถรางยลบ้านเก่า ไหว้พระธาตุพนม ชิมขนมโบราณ เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน อาณาจักรศรีโคตรบูรณ์

 

นครพนม – วันที่ 21 สิงหาคม 2562 บริเวณลานหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายสามารถ โรจนวิเชียร พัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้เปิดตัวเส้นทางชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ ที่สามารถพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวชุมชน เป้าหมายต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสและเลือกซื้อสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อ ภายใต้แนวคิด “เที่ยวสนุก สุขโดนใจ Route Tourism ธาตุพนม Model” โดยมีนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รอง ผวจ.ฯ นายสุหฤทธิ์ ชาญวนังกูร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานนครพนม นางสาวกชกร วิชิตธนบดี ตัวแทนท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม(ทกจ.ฯ) และนายสามารถ สุวรรณมณี นายอำเภอธาตุพนม(คนใหม่) ร่วมนั่งรถรางของเทศบาลตำบลธาตุพนม เยี่ยมชมกิจกรรมตามเส้นทางถนนพนมพนารักษ์  ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของอำเภอธาตุพนม มีนักเรียนจากโรงเรียนธาตุพนม และโรงเรียนอนุบาลวัดพระธาตุพนม (พนมวิทยาคาร) เป็นมัคคุเทศก์ เล่าเรื่องราวต่างๆให้คณะผู้เยี่ยมชมเส้นทางโบราณฟังตลอดทาง

จุดแรกเป็นการชมบ้านเงินประดาพร มี นางสาวนฤมล ทอนใจ หรือคุณอ้อม อายุ 40 ปี เป็นเจ้าของร้าน พร้อมกับเปิดเผยความเป็นมาของเครื่องเงิน ว่าฝีมือการทำหัตถกรรมเครื่องเงินนี้เป็นอารยะธรรมของชาวล้านช้าง มากับผู้ลี้ภัยชาวลาว เมื่อปี 2525 ที่อาศัยอยู่ในศูนย์อพยพบ้านนาโพธิ์ ต.บ้านผึ้ง อ.เมือง จ.นครพนม โดยคนกลุ่มนี้ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ เมื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ก็ได้รับการส่งเสริมงานหัตถกรรมเครื่องเงินให้เกิดขึ้นภายในจังหวัดนครพนม และยังสามารถถ่ายองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

คุณอ้อมกล่าวต่อว่าปัจจุบันการทำเครื่องเงิน ได้มีการสานต่อความรู้ของบรรพบุรุษ และยังคงมีกลิ่นไอแห่งอารยะธรรมล้านช้าง  “โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ได้แก่ ชุดเครื่องเงินลายพญานาค ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองชาวอีสาน และยังเชื่อว่าเป็นผู้ปกป้ององค์พระธาตุพนม พร้อมยังสื่อความหมายอันเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของพวกเราชาวอำเภอธาตุพนมได้เป็นอย่างดี” คุณอ้อมเจ้าของร้านเครื่องเงินประดาพร กล่าว

นอกจากนี้คุณอ้อมยังมีความภาคภูมิใจ รวมถึงการได้สร้างชื่อเสียงให้กับ ชาวอำเภอธาตุพนม ให้เป็นที่รู้จักในเรื่องของงานฝีมือหัตถกรรม เครื่องเงินไทย หลังได้รับคัดเลือกผลิตมาลัยกรที่ทำจากเครื่องเงิน มอบเป็นของขวัญให้กับผู้นำอาเซียน ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 20 -23 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นของที่ระลึกที่สื่อถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ รวมถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทย

จากนั้นได้ไปสัมผัสวิถีการทำกาละแมโบราณ ประกอบด้วย ร้านกาละแมสุขสบาย,กาละแมน้องโบว์ และตุ๊กตากาละแมโบราณฯลฯ เหตุที่ในเขตอำเภอธาตุพนม มีร้านผลิตกาละแมไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง เพราะมีการสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ มีองค์พระธาตุพนมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวไทยทั้งประเทศ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านมาช้านานแล้ว โดยในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองนมัสการองค์พระธาตุพนม เพื่อให้ชาวพุทธทุกสารทิศได้มากราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ซึ่งในอดีตเมื่อมีงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ชาวธาตุพนมก็จะมีการทำขนมเลี้ยงผู้มาร่วมทำบุญ โดยจะจัดให้มีการกวนขนมที่ชื่อว่า กวนข้าวทิพย์ โดยใช้ข้าวมากวนกับน้ำตาล และจะให้หญิงสาวบริสุทธิ์เป็นคนกวน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสืบต่อกันมา

จนปัจจุบันได้มีการนำเอา แป้งข้าวเหนียว น้ำกะทิ น้ำตาล มากวนให้เข้ากัน เรียกขนมชนิดนี้ว่า กาละแม ซึ่งมีขั้นตอนวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของขนมชนิดนี้ และขนมกาละแมของอำเภอธาตุพนมจะห่อหมกด้วยใบตองที่ผ่านการรีดด้วยเตาถ่านโบราณให้แห้งสนิท เพื่อให้มีกลิ่นหอม ชวนน่ารับประทาน และคงไว้ซึ่งความเหนียว นุ่ม หวานมัน อร่อย และถ้าใครได้แวะมาเที่ยวที่อำเภอธาตุพนม ก็จะไม่ลืมซื้อไปเป็นของฝากที่ถูกใจ

และร้านหมูยอดาวทอง มีนายสมชาย อุดมเลิศปรีชา หรือเฮียดาวทอง อายุ 61 ปี นางมารวย อุดมเลิศปรีชา อายุ 53 ปี สองสามีภรรยาที่สืบสานสูตรหมูยอที่คุณแม่ได้มอบให้ ซึ่งสืบทอดมาเป็นรุ่นที่ 3 โดยเป็นสูตรที่มาจากประเทศเวียดนาม แต่ดัดแปลงรสชาติให้เข้ากับลิ้นคนไทย เริ่มต้นคุณแม่ของนางมารวยทำหมูยอเพื่อนำไปแลกข้าวกิน ก่อนที่จะพัฒนาเป็นผลิตเพื่อจำหน่าย และขยับขยายจนกลายเป็นร้านหมูยอที่ดังที่สุดในจังหวัดนครพนม นอกจากนี้ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความอร่อยในแบรนด์อื่นๆอีกมากมาย กล่าวคือจะมีผู้จ้างผลิตหมูยอแล้วเอายี่ห้อของเขาใส่แทน มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วประเทศ

เสน่ห์ของเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนอำเภอธาตุพนมครั้งนี้ มนต์ขลังอยู่บนถนนพนมพนารักษ์ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิม มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่ารูปแบบทางสถาปัตยกรรม และวิถีชีวิตของคนในชุมชนนี้ได้เป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันยังคงหลงเหลือรูปแบบอาคาร ที่เป็นอาคารไม้แบบพื้นถิ่น และมีอาคารรูปแบบโคโลเนียล ที่มีต้นกำเนิดมาจากยุคล่าอาณานิคม จนเกิดเป็นการผสมผสานทางรูปแบบสถาปัตยกรรมของตะวันตกที่ลงตัวกับเอกลักษณ์ และบริบทของท้องถิ่นอย่างกลมกลืน และยังมีสภาพสมบูรณ์ โดยคนอำเภอธาตุพนมได้อนุรักษ์พื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ของเมืองเก่า เพราะชุมชนในเขตเทศบาลตำบลธาตุพนม เป็นชุมชนเก่าที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานคู่มากับองค์พระธาตุพนม

ในตำนานได้กล่าวไว้ว่า บริเวณที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม เคยเป็นที่ตั้งเมืองศรีโคตรบูรณ์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ โดยเจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูรณ์และเจ้าเมืองต่างๆรวม 5 เมือง ได้ร่วมก่อสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้น ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8 ถึงพุทธศตวรรษที่ 12 และหลังจากที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ได้ย้ายไปตั้งที่อื่น ชุมชนรอบองค์พระธาตุพนมก็ยังเป็นชุมชนใหญ่อยู่ดูแลองค์พระธาตุพนม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ ชุมชนธาตุพนมได้จัดเป็น”บริเวณธาตุพนม” ขึ้นกับมณฑลลาวพวน และได้ตั้งเป็นอำเภอธาตุพนม ในปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมา

การจัดกิจกรรมเปิดตัวเส้นทาง “เที่ยวสนุก สุขโดนใจ Route Tourism ธาตุพนม Model” เหมือนเป็นการท่องเที่ยวย้อนรอยประวัติศาสตร์ นอกจากความเก่าแก่ของบ้านเรือนริมถนนพนมพนารักษ์แล้ว นักท่องเที่ยวยังได้สัมผัสตลาดลาว ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่ (ปัจจุบันตลาดลาวย้ายไปอยู่ด้านหลังเทศบาลตำบลธาตุพนม) ตั้งอยู่บนถนนเส้นแกนหลัก ที่เป็นเส้นทางจากแม่น้ำโขงเข้าสู่วัดพระธาตุพนม สามารถมองผ่านซุ้มประตูโขง เห็นองค์พระธาตุพนมได้อย่างสวยงาม และมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ประกอบด้วยอาคารแถวชั้นเดียวและสองชั้น ทอดยาวตามริมถนนทั้งสองข้าง โดยรูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นยุคช่างฝีมือชาวญวน รูปแบบโคโลเนียลและเรือนไม้พื้นถิ่น ควรค่าแก่การรักษา เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของเมือง และเหมาะสมกับความเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน