X

ชวนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง เบิ่งประวัติศาสตร์ไทญ้อท่าอุเทน

“ท่าอุเทน”แปลว่า “ท่าแห่งดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ” เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม และมีลำน้ำซึ่งมีน้ำตลอดทั้งปี เป็นประโยชน์ในการคมนาคม การประมง และการเกษตร คือ 1.แม่น้ำโขง อันเป็นเส้นกั้นอาณาเขตระหว่างไทยและลาว โดยถือร่องน้ำลึกเป็นเส้นกั้นเขตแดน โดยไหลผ่านอำเภอท่าอุเทนเป็นแนวยาวประมาณ 62 กิโลเมตร 2.แม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากน้ำไชยบุรี ต.ไชยบุรี นอกจากนี้ยังมีลำคลอง ซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า”ลำห้วย” มีอยู่ทั่วไปทุกตำบล-หมู่บ้าน จึงเหมาะแก่การทำนา เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

ประวัติความเป็นมาของอำเภอท่าอุเทน มีหลักฐานการบันทึกกล่าวถึงปี 2373 ว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) ได้รับพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3(พ.ศ.2367-2394) ให้เป็นแม่ทัพใหญ่นำทหารไปปราบขบถเจ้าอนุวงศ์ โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชาได้มอบหมายให้ราชวงศ์ (เสน) จากเมืองเขมราช ท้าวขัตติยะ กรมการเมืองอุบลราชธานี และท้าวสีลา คุมไพร่พลไปตั้งอยู่ที่เมืองไชยสุทธิ์อุตมบุรี(ปัจจุบันคือตำบลไชยบุรี) ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองร้าง เมื่อปราบขบถจนราบคาบแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชา จึงได้ขอปูนบำเหน็จให้ราชวงศ์ (เสน) เป็นพระไชยราชวงษา ครองเมืองไชยบุรีซึ่งเป็นเมืองของชาวไทญ้อ(ย้อ)เดิม

ต่อมาปี 2376 พระยามหาอำมาตย์ (ป้อม อมาตยกุล) เป็นแม่ทัพอยู่เมืองนครพนม ได้กวาดต้อนผู้คนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง อันมีกลุ่มชาติพันธ์ชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ผู้ไท,ข่า,โซ่ ,กะเลิง,แสก,ญ้อ,และโย้ย ให้มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง เจตนาเพื่อมิให้เป็นกำลังแก่เจ้าอนุวงศ์ ขณะเดียวกันได้เกลี้ยกล่อมชาวเมืองหลวงปุงลิง(อยู่แขวงคำม่วน ประเทศลาว) ซึ่งเป็นชนเผ่าไทญ้อให้กลับมาด้วย โดยมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองร้างริมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เป็นทำเลตั้งเมืองใหม่ ในตอนที่ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงขึ้นมาเหยียบแผ่นดินใหม่เป็นเวลาย่ำรุ่งพอดี จึงได้ตั้งชื่อเมืองให้คล้องกับนิมิตรหมายที่ดีนี้ว่า “เมืองท่าอุเทน” แปลว่า เมืองท่าแห่งดวงอาทิตย์ยามรุ่งอรุณ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวพระปทุม เจ้าเมืองหลวงปุงลิงเป็น”พระศรีวรราช” เจ้าเมืองท่าอุเทนคนแรก และเป็นต้นตระกูล”วดีศิริศักดิ์”ในปัจจุบัน

กาลเวลาล่วงถึงปี 2413 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุบจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5(พ.ศ.2411-2453) ได้โปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ราชบุตร (พรหมมา) ต้นตระกูล”บุพศิริ” เป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนคนที่ 3 อยู่ได้ 4 ปีก็ถึงแก่กรรม จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งท้าวบุญมาก ต้นตระกูล”กิติศรีวรพันธุ์” เป็นพระศรีวรราช เจ้าเมืองท่าอุเทนและเป็นเจ้าเมืองคนสุดท้าย เนื่องจากในปี. 2442 กระทรวงมหาดไทย ประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมือง ให้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และกรมการเมืองแบบเก่า ให้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมืองแทน และปี พ.ศ. 2450 จึงได้ยุบเมืองท่าอุเทน เป็นอำเภอท่าอุเทน ขึ้นกับเมืองนครพนม และแต่งตั้งให้ขุนศุภกิจจำนงค์ (จันทิมา พลเดชา) ข้าหลวงประจำเมืองนครพนม เป็นนายอำเภอคนแรก

ด้วยอำเภอท่าอุเทนเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ย่อมมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยู่มากมาย รอคอยผู้คนเข้าไปศึกษาค้นคว้าร่องรอย ดังนั้นปี 2562 จังหวัดนครพนม โดยคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด(คบจ.) นำโดยนางสาวมาลี องค์รัตนประทาน สรรพากรพื้นที่นครพนม จึงได้จัดทำ”โครงการ คบจ.นครพนม เพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชุมชนแบบยั่งยืน อำเภอท่าอุเทน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม” เพื่อส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวทั้งในและต่างจังหวัด รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นการสร้างรายได้และอาชีพให้แก่ชุมชน อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน

วันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่ม คบจ.ฯ หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว พร้อมกันบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครพนม ล้อหมุนไปยังจุดแรกคือวัดพระบาทเวินปลา ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน โดย“พระพุทธบาทเวินปลา” ประทับอยู่บนโขดหินกลางลำแม่น้ำโขง มีลักษณะเป็นรอยเท้าคนขนาดใหญ่สลักลงบนแผ่นหิน ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏอยู่ใน”ตำนานอุรังคธาตุ” ราว 2,500 ปี ว่า ครั้งพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้เดินทางมาเผยแพร่พระธรรมในชมพูทวีปลุ่มน้ำโขง ขณะล่องมาตามลำน้ำก็มีเหล่าพญานาคใต้เมืองบาดาล และพญาปลาปากคำ(ปลาตะเพียนทอง)ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้แปลงกลายนิมนต์พระองค์ลงไปแสดงธรรมใต้บาดาล และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นมาโลกมนุษย์ เหล่าพญานาค-พญาปลาปากคำได้ร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนพระองค์ไหว้กราบบูชา พระพุทธเจ้าจึงได้ประทับรอยพระบาทไว้บนโขดหินแห่งนี้ คือ “รอยพระพุทธบาทเวินปลา” มาถึงทุกวันนี้ ซึ่งรอยพระพุทธบาทเวินปลาประดิษฐานอยู่บนโขดหินกลางลำน้ำโขงเป็นวังน้ำวน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “เวิน” ซึ่งหมายถึงตั้งอยู่ในวังน้ำวน และเนื่องจากเป็นที่อยู่ของพญาปลาปากคำ จึงเรียกว่า“เวินปลา” นั่นเอง

ณ วัดพระบาทเวินปลา นี้ มี ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอท่าอุเทน พร้อมด้วย นักเรียน ครู อาจารย์ ที่เข้าร่วมแข่งขันการประกวด FacebooK PaGe จำนวน 6 โรงเรียน 18 ทีม รวม 60 คน รอต้อนรับและร่วมนมัสการรอยพระพุทธบาทกลางแม่น้ำโขง ก่อนจะเดินทางไปต่อยังวัดพระธาตุโนนตาล ต.โนนตาล ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ และพระพุทธรูป ของมีค่าจำนวนมาก กล่าวกันว่าสร้างหลังพระธาตุท่าอุเทนเพียงไม่กี่ปี นอกจากนี้ยังมีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นประติมากรรมของชนเผ่าไทญ้อขนานแท้

ต่อมาก็เดินทางไปที่วัดไตรภูมิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เขตเทศบาลตำบลท่าอุเทน มีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มาร่วมสมทบกับคณะด้วย ซึ่งวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน”พระบาง” พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พุทธศิลปะแบบลาว สูง 80 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานรูป 8 เหลี่ยม สูง 15 นิ้ว รองรับด้วยรูปช้าง 8 เชือก ลักษณะองค์พระและฐานหล่อด้วยโลหะผสมทองเหลือง(เนื้อพระประกอบด้วยโลหะหลายชนิดได้จากผู้บริจาคในสมัยที่สร้าง ได้แก่ ทองคำ นาก เงิน ทองคำขาว และทองแดง เป็นต้น) รอบลายรัดเอวมีเม็ดนิลฝังอยู่เป็นระยะๆ และที่สะดือมีเพชรขนาดเส้นผ่าศูนยืกลาง 0.5 นิ้วฝังอยู่ ปัจจุบันเพชรเม็ดนี้อันตธานหายไปในขณะที่พระบางประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ภายในพระและฐานกลวงสามารถถอดเป็นชิ้นส่วนต่างๆได้ดังนี้ เกศ มีลักษณะเป็นยอดแหลม 1 ชิ้น,ศีรษะ 1 ชิ้น,มือซ้าย-ขวา 2 ชิ้น,ลำตัวตลอดจนขาและเท้า 1 ชิ้น และฐาน 8 เหลี่ยม อีก 1 ชิ้น
รอบฐานจารึกอักษรลาวเก่า แปลได้ความว่า” สมเด็จพระเหมมะวันทากับทั้ง อัง เต วา สิ อุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรง ร่วมใจกันสร้างพระนี้ขึ้นมา มีขนาดเท่าตัวคน เพื่อให้ไว้เป็นที่สักการะบูชา เมื่อ ปี พ.ศ.2308 ตรงกับปีวอก เดือน 3 ขึ้น 9 ค่ำ วันศุกร์”และชาวบ้านเชื่อกันว่าถ้านำออกมาแห่จะทำให้ฝนตก

ตามประวัติในการเดินทางของพระบาง ระบุว่าราวปี พ.ศ.2450(ปลายรัชกาลที่ 5) พระอาจารย์ตา ขณะจำพรรษาอยู่วัดในอำเภอท่าอุเทน ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เจ้าเมืองหินบูน และชาวบ้านแขวงคำเกิด ประเทศลาว เสื่อมใสศรัทธาจำนวนมาก ต่อมาอาจารย์ตาทราบว่ามีพระบางประดิษฐานอยู่ที่บ้านนาคก แขวงคำเกิด มีพุทธลักษณะอ่อนช้อย งดงามไปทั่วทั้งองค์ จึงเอ่ยปากขอจากเจ้าเมืองหินบูน หลังได้รับอนุญาตจึงนำลูกศิษย์ ไปอัญเชิญพระบางมาพร้อมกับพระบริวารด้วยอีก 1 องค์ เป็นพระนางกวักสูง 8 นิ้ว ครั้งแรกมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ต่อมาได้ย้ายไปประดิษฐานอยู่ที่วัดไตรภูมิจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นได้ไปศึกษาประวัติศาสตร์ต่อที่วัดพระธาตุท่าอุเทน พระธาตุประจำผู้เกิดวันศุกร์ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูนเป็นผังรูป 4 เหลี่ยมคล้ายพระธาตุพนม สร้างเป็น 3 ชั้น คือ เจดีย์องค์ใหญ่ สูงประมาณ 15 เมตร พระอาจารย์สีทัตถ์เป็นผู้สร้าง เมื่อปี พ.ศ.2454 พระธาตุเป็นศิลปกรรมและปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ภายในบรรจุพระธาตุของพระอรหันต์ ที่ได้อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง มีการจัดงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ผลจากการนมัสการมีอานิสงส์ให้ชีวิตมีแต่ความรุ่งโรจน์ เปรียบเสมือนพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณ

คณะ คบจ.นครพนม ได้นำสื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยว เยี่ยมชม บ้านท่าแต้ ต.ท่าจำปา ชุมชนตั้งริมแม่น้ำสงคราม คนในหมู่บ้านนอกจากจะทำอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังมีการเลี้ยงหมู เพื่อนำมาทำเป็นหมูหันอบน้ำผึ้ง สูตรเฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่า โดยนำส่วนผสมสมุนไพรที่หาได้ง่ายในชุมชนมาปรุงแต่ง ทำให้มีรสชาติอร่อยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว/ เมืองเก่าไชยบุรี ต.ไชยบุรี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดชนเผ่าไทญ้อ โดยมีประวัติเล่าว่าถิ่นฐานเดิมของไทญ้อ อยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ของประเทศลาว หรือจังหวัดล้านช้างของไทยสมัยหนึ่ง ไทญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เมืองไชยบุรี บริเวณปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรีในปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2351 เป็นต้นมา กระทั่งเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ 3 พวกไทญ้อที่เมืองไชยบุรีถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป แล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ที่เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วน ประเทศลาว) ต่อมาทนถูกทัพญวนรุกรานไม่ไหว จึงได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนในปัจจุบัน

ชุมชนไทญ้อ ต.ไชยบุรี มีภาษาเป็นของตนเอง และมีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ตามฆราวาสวิถีพุทธ คือสามวัดดี สี่วัดเจ้าเมืองสร้าง /วัดพนอมทุ่ง ต.พนอม ที่มีพระพุทธรูปปางไสยยาสน์ และหอพระธัม เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนเป็นอย่างยาวนาน /แหล่งเรียนรู้รอยเท้าไดโนเสาร์ ค้นพบเมื่อปี 2547 เป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ขนาดเล็ก กลุ่มออนิโธมิโนซอร์ ลักษณะคอเรียวเล็กยาว เดินด้วยสองขา มีนิ้วเท้าสามนิ้วคล้ายนกกระจอกเทศ เกือบ 200 รอย และยังมีรอยอีกัวดอน รวมทั้งรอยเท้าจระเข้ขนาดเล็ก สันนิษฐานได้ว่าเมื่อ 100 ล้านปีมาแล้วบริเวณนี้เคยเป็นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมีบรรดาสัตว์หลายชนิดอยู่บริเวณนี้ และจุดท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรมแห่งสุดท้ายอยู่ที่ วัดพุทธนิมิต ต.หนองเทา เป็นวัดที่มีพระอุโบสถเป็นจุดเด่น ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้างฐานด้วยหินแม่น้ำโขง หลังคามุงด้วยกระเบี้องไม้แท้ ลวดลายผสมผสานกึ่งสัตว์ในวรรณคดี ให้มีรูปแบบลวดลายที่สวยงามโดดเด่น รอบหลังคาประดับด้วยสัตว์ประจำปีเกิด 12 นักษัตร ภายในเขียนด้วยสีน้ำเป็นพุทธประวัติ ประเพณีอีสาน ฮีต 12 ครอง 14

เส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอท่าอุเทน ยังมีอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง อาทิ “โนนหัวคน” ต.พนอม ที่อดีตใช้เป็นที่ประหาร ก่อนจะนำศีรษะนักโทษเสียบไว้ให้แร้งกาจิกกิน ปัจจุบันยังมีเสาไม้กันเกรา หรือภาษาถิ่นเรียก”ไม้มันปลา” เป็นหลักประหารตั้งอยู่ ข้างๆเป็นบ่อน้ำมีไว้สำหรับให้เพชฌฆาตล้างมีด หรือจะเป็นวัดดอนธาตุ บ้านหนองสาหร่าย ต.พนอม เป็นวัดเก่าโบราณที่ยังมีของมีค่าอยู่กระจัดกระจายเต็ม เล่ากันว่าเคยมีคนเข้าไปนำสิ่งของเหล่านั้นออกมาเป็นสมบัติส่วนตน ซึ่งทุกคนล้วนมีอันเป็นไปต่างๆนาๆ และชาวบ้านไม่มีใครกล้าย่างกรายไปในป่าวัดแห่งนี้ เพราะเกรงกลัวอาถรรพ์นั่นเอง หรือจะเป็น ต.พะทาย ชุมชนไทโส้ที่ใหญ่สุดของจังหวัดนครพนม แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม สามารถค้นคว้าประวัติศาสตร์จากชุมชนได้อย่างเต็มคลังสมอง คุ้มค่ากับการตะลุยตามเส้นทางเลียบริมแม่น้ำโขง ณ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน