X

สุดทน!! ชาวบ้านร้องสื่อ เงินโครงการ SML ล่องหน ผู้รับผิดชอบโบ้ยชี้แจง อ้างเป็นสิทธิส่วนบุคคล

นครพนม – ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครพนม ได้รับการร้องทุกข์จากชาวบ้านปากบัง หมู่ 2 ต.พิมาน อ.นาแก ว่า โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML)  ตามนโยบายของรัฐบาล มีความไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารเงินในหมู่บ้าน  เพราะเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่ชาวบ้านไม่สามารถขอกู้ยืมเงินจากโครงการดังกล่าวไปเป็นทุนในการเกษตรได้

โดยชาวบ้านจำนวนหนึ่งนัดรวมตัวเพื่อให้รายละเอียดอยู่บ้านเลขที่ 50 หมู่ 2 ของนางจันทร์ ธนโสม อายุ 59 ปี ในจำนวนนั้นมีนายต้อม ศรีบุญเรือง อายุ 52 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน และนายทน บุสดี อายุ 57 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ร่วมเปิดเผยรายละเอียดด้วย โดยนายต้อมเล่าว่าโครงการ SML ของบ้านปากบังหมู่ 2 เกิดขึ้นสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน  ประมาณปี 2551-52 ขณะนั้นมี 190 หลังคาเรือน จึงได้รับจัดสรรเงินในขนาดกลาง M (ประชากรตั้งแต่ 500 คน ไม่เกิน 1,000 คน) จำนวน 230,000 บาท ก่อนที่จะไปรับเงินจำนวนดังกล่าวที่ ที่ว่าการอำเภอนาแก ก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ปรากฏว่าได้นายไกรสร วงวิวงค์ เป็นประธาน มีนายประเวศน์ วงษ์ตาโสม เป็นเหรัญญิก และกรรมการอีก 4 คน หนึ่งในนั้นก็มีนายทนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านรวมอยู่ด้วย

หลังจากได้คณะผู้บริหารเงินในโครงการ SML เรียบร้อย ก็ได้ประชาคมกันว่า จะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาทำประโยชน์อะไร ตนจึงตั้งไว้ 3 โครงการ คือ 1.สร้างถนน 2.สร้างศาลา และ 3.ซื้อปุ๋ยเพื่อการเกษตร ปรากฏว่าในที่ประชุมเห็นพ้องว่าให้นำเงินมาซื้อปุ๋ย กติกาไม่ยุ่งยากให้ชาวบ้านทำสัญญาค้ำกันไม่มา โดยจ่ายให้คนละ 2,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท/ปี ครบหนึ่งปีนำเงินต้นและดอกมาคืน ซึ่งมีชาวบ้านขอกู้เงินไปซื้อปุ๋ยประมาณ 70 หลังคาเรือน รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ครบรอบปีก็นำมาคืนกันที่ศาลาวัดโพธิ์ชัยศรี มีนายประเวศน์เหรัญญิกเป็นผู้เก็บเงินทั้งหมด และไม่ได้เปิดบัญชีธนาคารไว้ เพราะเชื่อใจกันและกัน ภายหลังตนครบวาระก็ไม่ทราบว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีดอกเบี้ยพอกพูนไปเท่าไหร่

ด้านนายทน บุสดี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และอดีตกรรมการเงินกองทุนโครงการ SML ประจำหมู่บ้านปากบัง กล่าวต่อว่าหลังนายไกรสรประธานกองทุนฯเสียชีวิต นายประเวศน์ก็ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดหรืองบดุลบัญชีว่าเงินเหลือจำนวนเท่าไหร่ ระยะ 3 ปีแรก มีการรับ-จ่ายเงินกันที่ศาลาวัด ปีต่อมานายประเวศน์ให้ไปรับและส่งเงินที่บ้าน กระทั่งถึงปี 2559 ชาวบ้านต้องการกู้เงินไปเพื่อการเกษตร แต่นายประเวศน์บ่ายเบี่ยงที่จะให้กู้ โดยอ้างว่ายังเก็บเงินจากผู้กู้ไม่ได้ เมื่อไล่บี้หนักๆ เข้านายประเวศน์ก็บอกว่ามีเงินอยู่ 100,000 บาท ขอเวลา 1 อาทิตย์ จะนำเงินให้ชาวบ้านกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนก่อน ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 ปี นายประเวศน์ก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้

นางส่อม วงค์สุขะ อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 91 หมู่ 2 เผยว่าต้องการกู้เงินกองทุน SML นำไปซื้อปุ๋ยทางการเกษตร แต่นายประเวศน์ผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา สุดท้ายก็ต้องไปหากู้เงินจากที่อื่นมา จึงสงสัยว่าเงินโครงการ SML ประจำหมู่บ้าน ล่องหนไปอยู่ไหน เพราะนายประเวศน์ไม่เคยชี้แจงต่อที่ประชุม แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ทวงถามเงินจากโครงการอื่นๆได้ แต่เลือกที่จะเว้นข้ามโครงการดังกล่าว โดยไม่ยอมที่จะพูดถึงแม้แต่ครั้งเดียว จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบว่าเงินกองทุนโครงการ SML ตอนนี้อยู่ไหน มียอดเงินเท่าไหร่

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ขอทราบรายละเอียดจากนายประเวศน์ วงษ์ตาโสม เหรัญญิก ผู้ดูแลเงินกองทุนโครงการ SML ประจำหมู่บ้านแบบเบ็ดเสร็จ ก็ไม่ยอมปริปากที่จะเปิดเผยรายละเอียดอะไร โดยอ้างว่าขณะนี้ตนยังไม่พร้อมที่จะให้ข่าวใดๆ และเป็นสิทธิส่วนบุคคลของตนที่จะให้หรือไม่ให้ข่าว

สำหรับ โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน (SML) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลจัดตั้งขึ้น ภายหลังจบโครงการกองทุนหมู่บ้านไปแล้ว โดยมีเป้าหมายหลัก คือ 1) คืนอำนาจ แก้ปัญหา สร้างความสุขในท้องถิ่น 2) ประชาชนมีศักยภาพและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางการเมือง โดยงบฯ ดังกล่าวใช้ 2 ทาง คือ เป็นงบลงทุนเพื่อสร้างรายได้ หรือใช้จ่ายสร้างสาธารณูปโภค โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ใช้งบฯ ปีละ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยจัดสรรเงินให้ตามขนาดของหมู่บ้าน คือขนาดเล็ก S (ประชากรไม่เกิน 500 คน) 2 แสนบาท, ขนาดกลาง M(ประชากรตั้งแต่ 500 คน ไม่เกิน 1,000 คน) 2.5 แสนบาท, ขนาดใหญ่ L(ประชากรตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป) 3 แสนบาท

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน