X

เปิดประเด็น !! ปมคัดค้านโปรดเกล้าฯ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม

นครพนม – หลังจากที่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ได้รับการสรรหาและสภามหาวิทยาลัยนครพนม ได้เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.นพ.ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 15 เดือน ก็ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ คงเป็นแต่เพียงรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม เรื่อยมาเท่านั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องเพราะมีผู้ยื่นเรื่องคัดค้านการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) หลายคน และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ได้มีหนังสือ ที่ ศธ 0509(5).7/1712 ลงวันที่ 5 เมษายน 2561 ถึงนายกสภา มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.นพ. และสภามหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อสอบสวนประเด็นที่ สกอ. มีข้อสงสัย โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวมีพลเอกวิชิต ยาทิพย์ เป็นประธานและคณะกรรมการได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 7/2561 เมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2561 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ประเด็นที่ 1 ข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอุบัติเหตุเครื่องฝึกบินของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ม.นพ. ประสบอุบัติเหตุโหม่งโลก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยมีการอ้างว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกับผู้มีหน้าที่สั่งการโดยมิชอบ  กล่าวคือให้มีการนำเครื่องฝึกบินไปส่งนายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ (ประธานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร) ซึ่งเป็นญาติของตนเอง ที่ได้เดินทางมาร่วมฉลองตำแหน่ง ที่จังหวัดนครพนม หลังได้รับการแต่งตั้งทำหน้าที่รองอธิการบดี(ในขณะนั้น)  โดยมอบหมายให้ไปส่งที่สนามบินดอนเมือง ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจการบินของ มหาวิทยาลัยนครพนม และเป็นการใช้เครื่องบินผิดวัตถุประสงค์ จนเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตดังกล่าว ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ชี้แจงว่าเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณา หรือสั่งการเรื่องดังกล่าวได้  ตนเพียงแค่สอบถามไปยัง ดร.ถนอม ทาทองรองอธิการบดี ในขณะนั้น ว่า วิทยาลัยการบินนานาชาติ สามารถนำเครื่องบินไปส่งท่านประธานกองทุนฟื้นฟูได้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น  จนกระทั่งมีการอนุมัติใช้อากาศยานรับ-ส่ง นายยิ่งยศ อุดรพิมพ์ ซึ่ง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ยืนยันว่าแค่สอบถามข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการใช้อากาศยานเท่านั้น แต่ผู้วินิจฉัยและอนุมัติว่าสามารถใช้อากาศยานของวิทยาลัยการบินนานาชาติได้หรือไม่ ก็คือคณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ

กรณีต่อมา เป็นข้อกล่าวหาต่อเนื่องจากกรณีแรกที่ ยังไม่มีการดำเนินการทางวินัยและความผิดทางละเมิดของ ต่อ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ  เช่นความเสียหายของเครื่องฝึกบิน โดยในคำคัดค้านโปรดเกล้าฯ อ้างว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ชี้มูลว่า ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ  เข้าข่ายมีความผิดทางวินัย ตามพฤติกรรมเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 39 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ในกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของทางราชการ จึงเห็นควรให้มหาวิทยาลัยนครพนมดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป แต่ทางสภามหาวิทยาลัยกลับยังไม่ได้ดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ซึ่งข้อกล่าวหานี้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ แก้ข้อกล่าวหาว่า ตนไม่ได้กระทำความผิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโทษทางวินัย และมีความรับผิดทางละเมิดจากกรณีเครื่องฝึกบินตกดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่ 2 ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ตกเป็นจำเลยที่ 2 คดีกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ โดยศาลจังหวัดกาฬสินธ์ โดยมี รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ ปัจจุบันเป็นกรรมการสภา มหาวิทยาลัยนครพนม ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นจำเลยที่ 1 ซึ่งนายพิเชษฐ์ ดอนภิรมย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป สังกัดกลุ่มศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อ คดีดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นสุด

ประเด็นที่ 3 ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ และ รศ.ดร.รัชนีกร วันจันทึก ภรรยา เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สังกัดมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(ในขณะนั้น)ด้วยกัน  โดยได้เปิดบริษัทเอกชน ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ชี้แจงว่าเคยร่วมก่อตั้งบริษัท ไฮริช(1974) จำกัด ประเภทธุรกิจให้เช่ารถยนต์แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่นๆ โดยเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทฯ เพียงทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางหลักวิชาการ และเป็นประธานในการประชุมบางกรณี แม้ตนจะมีอำนาจลงนามในบริษัทฯ แต่ก็ไม่ได้ควบคุมบริหารกิจการฯ การทำหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัทฯ ก็ทำในช่วงวันหยุดราชการ หรือนอกเวลาราชการ

ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 59 ได้ทำการโอนขายหุ้นจำนวน 18,000 หุ้น แก่นางทองเปลี่ยน พิลาสมบัติ พร้อมลาออกจากกรรมการบริษัท จากนั้นวันที่ 9 มิถุนายน 59 ตนจึงได้มาปฏิบัติหน้าที่รองอธิการบดี ม.นพ. ภายใต้ข้อบังคับของ ม.นพ. ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ ยังอ้างว่าบริษัทที่ตนเคยเป็นกรรมการนั้น ก็ไม่ได้มีนิติกรรมใดๆกับ มหาวิทยาลัยนครพนม  ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนประเด็น รศ.ดร.รัชนีกร วันจันทึก ภรรยา ได้ลาออกและโอนขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 61

และในที่ประชุมมีมติเดินหน้าต่อ ยืนยันการเสนอขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ต่อไป และให้สำนักงานสภามหาวิทยาลัยนครพนม ดำเนินการแจ้งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการเสนอขอโปรดเกล้าฯ ต่อไป

แต่จวบจนถึงปัจจุบัน นี้เป็นเวลากว่า 1 ปี ก็ยังไม่มีการโปรดเกล้าให้ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ฯ  เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนมแต่อย่างใด

โดยก่อนหน้านี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือเวียน ที่ นร 0508/ว909 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 กล่าวถึงภารกิจสำคัญประการหนึ่ง ในการประสานราชการกับส่วนราชการในพระองค์ เกี่ยวกับการขอพระราชทานพระมหากรุณาในเรื่องต่างๆ โดยกำชับการเสนอเรื่องดังกล่าว ส่วนราชการจะต้องพึงระวังตรวจสอบ กลั่นกรอง ว่าได้ดำเนินการเรื่องนั้นๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งหากเป็นเรื่องที่มีข้อร้องเรียนว่า มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแนวทางปฏิบัติได้กำหนดไว้ ก็สมควรให้ตรวจสอบหรือดำเนินการแก้ไขให้เป็นที่ยุติเสียก่อน รวมทั้งเรื่องที่เสนอต้องไม่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้   กรณีจึงให้ส่งเรื่องมาเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไปได้

แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ยังมีส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว  โดยส่งเรื่องที่มีปัญหาและยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจนมาเพื่อขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา ซึ่งหากดำเนินการแก้ไขไม่ทัน อาจทำให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและเป็นการมิบังควร ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งกำชับให้ทุกส่วนราชการถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ในเรื่องที่ต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และมีข้อมูลอันเป็นที่ยุติชัดเจน ก่อนที่จะส่งเรื่องมาเพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน