X

ทรัพยากรน้ำลุยลำน้ำสงคราม เตรียมแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง

นครพนม – วันที่ 13 มิ.ย.62 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม โครงการศึกษาความเหมาะสม การบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงครามฯ จัดประชุมปฐมนิเทศ เพื่อนำเสนอแนวคิดในการศึกษาโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการ ตลอดจนสภาพปัญหา ข้อวิตกกังวลต่างๆจากกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมที่ลำน้ำสงครามไหลผ่าน พร้อมกับมีประชาชนจากจังหวัดบึงกาฬมาสมทบ รวมทั้งสิ้น 17 อำเภอ ประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนในพื้นที่ จำนวน 150 คน โดยมีนายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.นครพนม เป็นประธาน

นายประดับ กลัดเข็มเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า จากกรณีปี พ.ศ.2560 รัฐบาลได้ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำสงครามเจอน้ำท่วมใหญ่นานนับเดือน จึงมีนโยบายให้ทำการศึกษาหาแนวทางการป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมทั้งปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม โดยให้เห็นผลในระยะยาว เพื่อสามารถใช้เป็นแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

สทนช.ในหน่วยงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงมอบหมายให้บริษัทเอกชนดำเนินการศึกษาโครงการ เพื่อจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ การบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำสงคราม โดยมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม ห้วยคอง ห้วยน้ำยาม ห้วยน้ำอูน รวมพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำ 13,231 ตร.กม. ตั้งอยู่ในเขต 37 อำเภอ 5 จังหวัด คือ 1.อุดรธานี 2.หนองคาย 3.บึงกาฬ 4.สกลนคร และ 5.นครพนม รวมถึงพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียงหรือเกี่ยวเนื่อง และพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ
นายประดับฯกล่าวต่อว่า โดยแนวทางการศึกษาโครงการ ได้ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวบ้านในลุ่มน้ำสูงสุด โดยจะทำการรวบรวมข้อมูลศึกษาทบทวนอย่างรอบด้าน อาทิ ด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา น้ำใต้ดิน ประมง คุณภาพน้ำ การท่องเที่ยว การอุตสาหกรรม กิจกรรมการใช่น้ำต่างๆ เป็นต้น เพื่อนำมาจัดทำผังน้ำ และกำหนดทางเลือกการพัฒนา และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อนำมาจัดทำแผนหลัก และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อความยั่งยืนของลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 540 วัน โดยในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ

“สทนช. หวังว่าจากการดำเนินโครงการ โดยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในระยะเวลา 540 วัน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.62-11 ก.ย.63 จะได้รับแผนหลักและแผนปฏิบัติการในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำสงคราม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการบริหารจัดการลุ่มน้ำสงครามและลุ่มน้ำใกล้เคียง” ผช.เลขาฯสทนช. กล่าว

SEA (Strategic Environmental Assessment) เป็นกระบวนการที่ใช้สำหรับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของนโยบาย แผนงานหรือโปรแกรม รวมทั้งข้อเสนอทางเลือก โดยจัดทำเป็นรายงานเสนอผู้บริหารเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

ซึ่งลุ่มน้ำสงครามตอนล่างก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงประมาณ 100 กม. มีสภาพภูมิประเทศราบลุ่มต่ำ ฤดูฝนน้ำท่วมขังนาน 3-4 เดือน พื้นที่เกษตรกรรมบางส่วนได้รับความเสียหาย ถึงหน้าแล้งพื้นที่ด้านการเกษตรก็จะขาดแคลนน้ำ โดยพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างนี้ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซค์ ลำดับที่ 15 ของประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำสงครามด้วยว่า ต้องการจะให้ไปในทิศทางไหน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน