X

ผญบ.แฉความชุ่ย อาคารด่านจุดผ่อนปรน ไม่ผ่านประชาคม ชาวบ้านค้านเพราะอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง

นครพนม – คืบหน้ากรณีมีชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนาด หมู่ 2 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม  นำโดย นายพินิจ หมื่นลูกท้าว อายุ 44 ปี  กำนันตำบลบ้านกลาง  นายพงศ์พันธ์ คำมั่น อายุ 60 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อ ปัญหาที่จังหวัดนครพนม อนุมัติให้มีการก่อสร้างอาคารด่านจุดผ่อนปรน  จำนวน 1 หลัง  พร้อมอาคารคลังเก็บสินค้าอีก 2 หลัง ใช้งบประมาณเกือบ 4 ล้านบาท  ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2558  โดยจุดก่อสร้างอยู่บริเวณริมเขื่อนกันตลิ่งพังแม่น้ำโขง ตรงตลาดจุดผ่อนปรน ที่เปิดเป็นตลาดการค้าไทยลาว อยู่ตรงกันข้ามบ้านปากเป่ง เมืองหนองบก แขวงคำม่วน สปป.ลาว ที่มีการเดินทางมาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค ระหว่างไทยกับลาว โดยระเบียบกระทรวงมหาดไทย  กำหนดเปิดทำการค้าขาย ทุกวันอังคาร กับวันศุกร์ ของสัปดาห์  หลังจากสร้างเสร็จก็ติดตั้งแอร์จำนวน 5 ตัว พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าครบครัน รวมทั้งโต๊ะ เก้าอี้ สำหรับใช้ทำงาน แต่ใช้งานได้เพียง 2 เดือน ก็เกิดน้ำท่วมจนต้องขนย้ายสิ่งของหนีกันจ้าละหวั่น หลังน้ำลดเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปทำความสะอาด และทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแล บริการ ตรวจสอบ การเดินทางข้ามไปมาของพี่น้องชาวลาวต่อ

กระทั่งปี 2561 เกิดน้ำท่วมใหญ่ มวลน้ำมหาศาลไหลเข้าอาคารที่ทำการสูงถึง 1.70 เมตร โชคดีที่นายพงศ์พันธ์ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน นำชาวบ้านช่วยกันถอดคอมแอร์ไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัยก่อน ส่วนสิ่งของที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย พอน้ำลดก็ไม่สามารถกลับมาใช้อาคารหลังดังกล่าวได้ดังเดิม นอกจากจะดินโคลนทับถมแล้ว อุปกรณ์ไฟฟ้าก็ใช้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายหน่วยงาน จึงใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคารเป็นที่ทำการชั่วคราว ส่วนอาคารที่สร้างเป็นโกดังเก็บของก็ใช้การไม่ได้เช่นกัน

ล่าสุด วันที่ 23 เม.ย.62 ซึ่งเป็นวันเปิดตลาดนัดไทย-ลาว ประจำวันอังคารพอดี โดยผู้สื่อข่าวได้ไปพบกับนายพงศ์พันธ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยเพิ่มเติมจากวันวานว่า บริเวณที่ก่อสร้างนั้นเป็นดินงอก จากการที่มีดิน ทราย โถมทับนานหลายปีจนกลายเป็นแผ่นดินโผล่ขึ้นมา ชาวบ้านก็แห่ไปจับจองเป็นเจ้าของที่ ส่วนหนึ่งถูกกันไว้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งอยู่ห่างจากตลิ่งเดิมราว 300 เมตร

แต่การก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลัง ไม่มีการผ่านประชาคมหมู่บ้าน จู่ๆก็มีอุปกรณ์เครื่องมือหนักยกเข้ามา ตนสอบถามผู้รับเหมาจึงทราบว่า จังหวัดนครพนมได้จัดสรรงบประมาณให้มาก่อสร้างอาคารดังกล่าว ตนจึงขอดูแบบแปลน พบว่าแปลนเขียนแบบออกมาต่ำกว่าตลิ่งเดิมที่สูงเกือบ 5 เมตร จึงขอให้ผู้รับเหมาสร้างยกพื้นให้สูงสักประมาณ 2 เมตร ได้หรือไม่ ผู้รับเหมาปฏิเสธที่จะสร้างผิดแปลนที่ถูกกำหนดมาแล้ว

ถึงเดือนสิงหาคม 2558 ก็เกิดน้ำท่วมแต่ไม่รุนแรงนัก สูงกว่าพื้นประมาณ 30 ซม. เจ้าหน้าที่ก็พอจะทนกันได้ ถึงปี 2561 ที่ผ่านมา มีน้ำท่วมใหญ่สูงเกือบครึ่งอาคาร  เจ้าหน้าที่ต้องขนของหนีกันอย่างโกลาหล พอน้ำลดอาคารก็ใช้งานไม่ได้จนถึงปัจจุบัน เคยของบซ่อมแซมก็ถูกปฏิเสธว่าไม่มี สุดท้ายต้องปล่อยให้ร้างอย่างที่เห็น

ทางด้าน นายเอกชัย ลิตะ ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ที่รับตำแหน่งต่อจากนายพงศ์พันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะได้งบมาซ่อมแซมก็ไม่คุ้ม เพราะอาคารสร้างต่ำกว่าตลิ่งเดิมเกือบ 5 เมตร หากมีน้ำท่วมอีกก็ใช้การไม่ได้เหมือนเดิม สิ่งที่จะทำได้คือทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ให้เท่ากับตลิ่งเดิม พร้อมกับชี้มือไปยังบริเวณตลาดนัดไทย-ลาว ที่อยู่ห่างออกไป ทำให้เห็นชัดเจนว่าอาคารทั้งสามหลัง สร้างต่ำตลิ่งจริงๆ และไม่ผ่านประชาคมหมู่บ้าน สร้างกันโดยพละการทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินโดยใช่เหตุ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน