X

ชาวภูไทนครพนม ชวนเที่ยวงาน”บุญเดือนสี่” นมัสการพระธาตุเรณู

“วัดธาตุเรณู” ตั้งอยู่ ต.เรณู อ.เรณูนคร จ.นครพนม เดิมชื่อ”วัดกลาง” เพราะตั้งอยู่ระหว่างตำบลเรณูและตำบลโพนทอง สร้างขึ้นมาแต่ครั้งโบราณกาล แต่ค้นหาหลักฐานไม่พบว่าใครเป็นผู้สร้างใน พ.ศ.ใด แต่ตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าปากต่อปากสืบมาว่า ราวปี พ.ศ. 2373 “พระแก้วโกมล” เจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองเวคนแรก หลังสร้างบ้านแปลงเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปรึกษากับอุปราชและกรรมการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์ตกลงสร้างวัดขึ้นไว้ตรงที่ใจกลางเมือง เพื่อให้เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง และสำหรับประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ดังนั้นวัดนี้จึงเรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัดว่า “วัดกลาง” สืบๆ กันมา เพราะตั้งอยู่กลางเมือง

กาลล่วงเลยถึงรัชกาลที่ 3 พ.ศ.2449 กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จประพาสภาคอีสานแวะเยี่ยมประชาชนชาวเมืองเว ทรงเห็นดอกไม้นานาชนิด มีดอกบัวขึ้นอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย และทอดพระเนตรเห็นสตรีสาวงามชาวเมืองเวที่มารับเสด็จจำนวนมากมาย รู้สึกประทับใจจึงได้ประทานเปลี่ยนชื่อเมืองจาก”เมืองเว”นามเดิมมาเป็น”เมืองเรณูนคร” ตั้งแต่บัดนั้นมา ส่วนวัดก็ยังคงชื่อวัดกลางอยู่ตามเดิม

ความเป็นมาของพระธาตุเรณูนั้นได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2461 โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย เจ้าอาวาส เป็นประธานอำนวยการ พร้อมญาติโยม รวมกำลังสร้างพระธาตุขึ้น 1 องค์ มี”พระเจ้าเม้า”รับหน้าที่ออกแบบ บนเนื้อที่บริเวณวัดกลาง เพื่อเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง หรือเป็นมิ่งขวัญของชาวเรณูนคร องค์พระธาตุที่สร้างขึ้น มีลักษณะสวยงาม เพราะจำลองมาจากพระธาตุพนมองค์เดิมแต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างด้วยอิฐปูน 4 เหลี่ยม สูงจากพื้นฐานขึ้นไปยังยอดฉัตร 35 เมตร ความใหญ่ทั้ง 4 ด้าน กว้างด้านละ 8.37 เมตร มีซุ้มประตู 4 ด้าน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของสำคัญ เช่น พระไตรปิฎก พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน ตลอดถึงเพชร นิล จินดา ของมีค่าที่ประชาชนนำมาบริจาค รวมทั้งเครื่องกกุธภัณฑ์ของพระยาและเจ้าเมืองเก่า ในการก่อสร้างพระธาตุ เกิดจากแรงศรัทธาพละกำลังของพระสงฆ์ สามเณร ชาวบ้านตำบลโพนทอง ตำบลเรณู อ.เรณูนคร และตำบลแสนพัน อ.ธาตุพนม ร่วมกันสร้างโดยมิได้ใช้งบประมาณจากทางราชการแต่ประการใด ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้นประมาณ 3,000 บาทเศษ เท่านั้น หลังทำบุญฉลองสมโภชจึงได้ตั้งชื่อว่า”พระธาตุเรณู”  ส่วนวัดกลางก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า”วัดธาตุเรณู”จนกระทั่งทุกวันนี้

นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังประดิษฐาน”พระองค์แสน” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบลาว ปางสมาธิ พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวเรณูนคร หล่อด้วยทองเหลือง เนื้อทองตันทั้งองค์ หน้าตักกว้างและสูง 50 ซม. เล่ากันว่าสร้างก่อนที่จะสร้างพระธาตุเรณูในปี พ.ศ.2460 โดยแผ่นทองที่นำมาหลอมเป็นองค์พระพุทธรูปนั้น ได้มาจากการบริจาคของชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆทั่วเรณูนคร เมื่อนำมาหล่อรวมนั้น ครั้งแรกหล่อไม่สำเร็จ องค์พระไม่ติดเบ้าพิมพ์ ต้องย้ายที่ไปหล่อใหม่ครั้งที่สองจึงสำเร็จ แล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ ณ อุโบสถหลังเก่าของวัดกลาง ภายหลังอัญเชิญไปอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ของวัดกลาง พระองค์แสนจึงมีอายุกว่า 100 ปี เหตุที่เรียกว่า “พระองค์แสน” เพราะว่ามีน้ำหนัก 10 หมื่น (มาตราชั่งของชาวบ้านกำหนดว่า 12 กก. เป็นหนึ่งหมื่น) 10 หมื่น จึงเท่ากับหนึ่งแสน หรือ 120 กก. เท่ากับน้ำหนักของพระองค์แสน

“ภูไท หรือ ผู้ไท” เป็นชนเผ่ากลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และอาณาจักรล้านช้าง มีการเคลื่อนย้ายมาอาศัยอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) ใน 9 จังหวัดของไทย ประกอบด้วย 1.จังหวัดสกลนคร 212 หมู่บ้าน 9 อำเภอ(เมืองสกลนคร  พรรณานิคม วาริชภูมิ พังโคน บ้านม่วง วานรนิวาส กุสุมาลย์ สว่างแดนดิน และกุดบาก) 2. จังหวัดนครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (นาแก เรณูนคร ธาตุพนม ศรีสงคราม และเมืองนครพนม) 3. จังหวัดมุกดาหาร 68 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (คำชะอีก เมืองมุกดาหาร นิคมคำสร้อย ดอนตาล และหนองสูง) 4. จังหวัดกาฬสินธุ์ 63 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (เขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง สมเด็จ และสหัสขันธ์) 5. จังหวัดหนองคาย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ(โซ่พิสัย บึงกาฬ พรเจริญ) 6. จังหวัดอำนาจเจริญ 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (เสนางคนิคม ชานุมาน) 7. จังหวัดอุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (วังสามหมอ ศรีธาตุ) 8. จังหวัดยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ (เลิงนกทา) และ 9. จังหวัดร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)

ในจังหวัดนครพนม อ.เรณูนคร เดิมชื่อ”เมืองเว” หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า”บ้านดงหวายสายบ่อแก” เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวภูไท(ผู้ไท) กลุ่มใหญ่ ตามตำนานเล่าว่าราว พ.ศ.2373 ชาวผู้ไทอพยพมาจากเมืองไล มี”เจ้าเพชร” และ “เจ้าสาย”เป็นหัวหน้า มาตั้งรกรากตั้งเมืองบริเวณนี้ มีเจ้าเมืองปกครองตลอดมาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงยกฐานะจากเมืองเป็นอำเภอเรณูนคร ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี อาทิ ธรรมเนียมการต้อนรับด้วยการบายศรีสู่ขวัญ การเลี้ยงอาหารแบบพาแลง(ข้าวมื้อเย็น) การดูดอุหรือดวลอุ (เหล้าหมักในไห) และการฟ้อนรำผู้ไท เป็นการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมแบบพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไทย ที่ได้รับการถ่ายทอดกันมาเป็นเวลาช้านานจากบรรพบุรุษของชาวเผ่าผู้ไท ในสมัยก่อนเรียกการฟ้อนรำแบบนี้ว่า”ฟ้อนละครไทย” เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสามัคคีในหมู่คณะเดียวกันโดยการจับกลุ่มเล่นฟ้อนกัน นอกจากนี้ยังมีผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทที่จัดว่ามีชื่อเสียงไปทั่วโลก เรียกกันว่า “ผ้าแพรวา” ปัจจุบันมีชื่อโด่งดังอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งความหมายเดิมของผ้าแพรวาก็คือ ผ้าแพรหนึ่งผืนขนาด 1 วา นั่นเอง

ในทุกปีช่วงวันขึ้น 11 – 15 ค่ำ เดือน 4 จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุเรณูนครขึ้นเป็นประจำ ปี 2561 ตรงกับวันที่ 14-18 ก.พ. หรือคนอีสานเรียกว่า”บุญเผวสหรือบุญเดือนสี่” เป็นประเพณีการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ โดยอาศัยความเชื่อว่าถ้าผู้ใดตั้งใจฟังเทศน์เผวสจบภายในวันเดียว ก็จะได้เกิดมาในยุคศาสนาของพระศรีอริยเมตไตย ทั้งนี้พระธาตุเรณูนครยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ เชื่อกันว่าผู้ที่ได้นมัสการจะได้รับอานิสงส์ส่งผลให้มีวรรณะงดงามผุดผ่องดังแสงจันทร์

งานนมัสการพระธาตุเรณู มี สมาคมผู้ไทโลก เป็นแม่งานหลักร่วมกับ จังหวัดนครพนม,สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครพนม,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานนครพนม,อำเภอเรณูนคร,สภาวัฒนธรรมอำเภอเรณูนคร,โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล,และเทศบาลตำบลเรณูนคร ภายใต้ชื่อ เทศกาลเที่ยวเรณูนคร วันผู้ไทโลก”พัสตราภูษา งามผ้าตระกูลไท ท่องเที่ยวสุขใจ วิถีผู้ไท เรณูนคร” ซึ่งเป็นงานที่คนเรณูนครถือว่าเป็นหน้าตาของชาวภูไท ที่จะร่วมแรงร่วมใจนำศิลปะชนเผ่าตนออกสู่สายตาชาวโลก

งานนมัสการพระธาตุพนมชาวพื้นเมืองเรียก”บุญเดือนสาม” เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.-1 ก.พ.61 ต่อจากนั้นก็จะเป็นงาน”บุญเดือนสี่” นมัสการพระธาตุเรณู 14-18 ก.พ.61 พลาดเที่ยวชมงานเมืองเวของชาวผู้ไท จะต้องรอไปอีก 1 ปี เชียวนะครับ

(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก สมาคมผู้ไทโลก)

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน