X

นครพนมเตรียมยื่นขอรับรองสินค้า GI “ผ้าลายมุก+ครกท่าอุเทน” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

นครพนมเตรียมยื่นขอรับรองสินค้า GI “ผ้าลายมุก+ครกท่าอุเทน” จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมต่ออายุสับปะรดหวานและลิ้นจี่

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครพนมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ รับรองสินค้าให้กับเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกสับปะรดท่าอุเทน และลิ้นจี่นครพนมที่ได้หมดอายุลง ซึ่งตามระเบียบในใบอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์มีอายุครั้งละ 2 ปี

นายชาญชัย คงทัน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่หลายคนรู้จักในนามสินค้า GI ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลังได้รับการรับรองสินค้าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมากแล้ว ทำให้เกษตรกรจังหวัดนครพนมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

ต่อมาเมื่อเปิดรับสมัครผู้ผลิตและผู้ประกอบในรอบนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีทั้งเกษตรกรรายเดิมและรายใหม่สนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น โดยสับปะรดท่าอุเทนจากเดิมมี 32 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 113 ราย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าอุเทนและอำเภอโพนสวรรค์ ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งนำหน่อมาจากพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาปลูกตามหัวไร่ปลายนา ภายหลังได้มีการกลายพันธุ์จากรสเปรี้ยวเป็นรสหวานฉ่ำ และมีคุณลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะพื้นที่แตกต่างไปจากเดิม จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมาก และเป็น 1 ใน 10 สินค้าสับปะรดที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์สินค้า GI ส่วนลิ้นจี่นครพนมมีเกษตรกรสนใจสมัครขอใบอนุญาต 41 ราย โดยสินค้าลิ้นจี่นครพนม เป็น 1 ใน 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองสินค้า GI เช่นเดียวกัน

ซึ่งในการขอครั้งนี้ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการเช่นเดิม คือ ต้องยื่นแบบขอใบอนุญาต เข้ารับการฝึกอบรมและรับคู่มือระบบควบคุมภายในสำหรับผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อไปเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทาง กระบวนการ ขั้นตอนการควบคุมการผลิต โดยจะมีคณะกรรมการตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าฯ ระดับพื้นที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนที่กำหนด คณะกรรมการตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ระดับจังหวัด จะมีการรายงานผลเพื่อเสนอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI เป็นลำดับต่อไป

โดยปัจจุบันจังหวัดนครพนมยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอรับรองสินค้า GI อย่างน้อยอีก 2 ชนิด คือ ผ้าลายมุก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาผ้าโบราณร่วมสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ตามประวัติที่มีการสืบค้นร่องรอยพบว่าเป็นผ้าชั้นสูงที่เจ้านายหรือภรรยาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ใช้เป็นอาภรณ์ในการแต่งกาย และยังเป็นผ้าต้นแบบของผ้าพื้นบ้านอื่น ๆ ด้วย ผ้าลายมุกมีความละเอียดในการทอ ใช้เวลานานกว่าจะทอออกมาได้แต่ละผืน และผลิตภัณฑ์อีกชิ้นคือครกบ้านกลาง อำเภอท่าอุเทน ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นอย่างแท้จริง และมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อกันมากว่า 150 ปี ผลิตภัณฑ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วประเทศ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน