X

รอยพระพุทธบาทเวินปลา สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลางลำน้ำโขงโผล่พ้นน้ำให้สาธุชนสักการะ 14 เม.ย.วันสงกรานต์

รอยพระพุทธบาทเวินปลา สิ่งศักดิ์สิทธิ์กลางลำน้ำโขงโผล่พ้นน้ำให้สาธุชนสักการะ 14 เม.ย.วันสงกรานต์พบความอลังการพิธีแห่ผ้าป่าทางน้ำแห่งเดียวในอิสาน 

วันที่ 13 เมษายน 2565 บริเวณวัดพระบาทเวินปลา (วัดโพธิ์ชัย) หมู่ 1 ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม คณะกรรมการวัดตลอดจนชาวบ้านได้ร่วมกันตระเตรียมสถานที่เพื่อรองรับสาธุชน ที่จะเดินทางมาทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำ เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่ในโขดหินกลางแม่น้ำโขง ในวันที่ 14 เมษายน นี้ และพิธีทอดผ้าป่ากลางน้ำแห่งนี้ อาจจะเป็นแห่งแรกใน 20 จังหวัดภาคอีสานอีกด้วย ตลอดจนได้ร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่กับลูกหลานสืบต่อไป

กล่าวคือห้วงประมาณปี พ.ศ.2538 หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ พระเถราจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก จ.นครพนม ต้องการจะนำผ้าป่าสามัคคีไปทอดยังวัดพระบาทเวินปลาโดยไปทางแม่น้ำโขง เนื่องจากหลวงปู่ศรีหมอก หรือพระครูพิมลชัยคุณ เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นสหธรรมิกกัน ขณะนั้นนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนที่ 29 และ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ได้หารือกันจึงเห็นพ้องจัดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำ โดยใช้เรือบั๊กที่ใช้สำหรับบรรทุกรถยนต์ข้ามฟากไปยังฝั่งประเทศลาว เพราะขณะนั้นยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) เพื่อเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาทเวินปลา แต่ก็ไม่มีผู้ใดคิดจะสืบสานประเพณีดังกล่าวนี้ กระทั่งหลวงปู่คำพันธ์ละสังขารมาร่วม 20 ปี

ต่อมา นายคมสิน ศรีมานะศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย เข้ารับตำแหน่งประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม จึงหารือกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของพิธีทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำ โดยกำหนดวันที่ 14 เมษายนของทุกปี  ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทยเป็นวันทอดผ้าป่าทางน้ำแห่งแรกของภาคอีสาน

ด้าน นายสุขิน สีเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.เวินพระบาท เปิดเผยว่ามีความพร้อมไว้แล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาอุปสรรคที่น่าเป็นห่วงคือฟ้าฝนเท่านั้น หากในวันพรุ่งนี้ฝนไม่ตกบรรยากาศจะดีมาก เบื้องต้นทางสภาวัฒนธรรมฯ ต้องการให้เหมือนประเพณีโบราณดั้งเดิมมากที่สุด จึงไม่อยากให้กางเต็นท์ที่อาจจะบดบังความสวยงามของธรรมชาติ แต่ถ้ามีฝนตกก็ให้กางเต็นท์เป็นแผนรองรับไว้ ส่วนรอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางน้ำ ระดับแม่น้ำโขงลดลงต่อเนื่องจึงทำให้รอยพระพุทธบาทที่อยู่ใต้น้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว จะเหลือเพียงลานที่ลาดซีเมนต์ไว้ให้สำหรับเดินไปสักการะที่ยังอยู่ในน้ำ แต่ถึงกระนั้นระดับน้ำโขงบริเวณนั้นสูงแค่หน้าแข้ง หากสาธุชนถลกขากางเกงขึ้นหน่อยก็สามารถลุยน้ำไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทได้อย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว

สำหรับเรือที่ใช้ในการแห่ผ้าป่าทางน้ำ ได้รับการอนุเคราะห์จากนายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครพนม มอบเรือสำราญแม่โขงพาราไดซ์ครูซ 2 นำสาธุชนล่องขึ้นไปยังวัดพระบาทเวินปลา ที่มีระยะทางราว 13 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที โดย พล.ร.ต.สมบัติ จูถนอม ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง  (ผบ.นรข.) สั่งการให้เรือลาดตระเวนนำหน้าขบวนแล่นในร่องน้ำลึก

พระพุทธบาทเวินปลา มีบันทึกไว้ในหนังสือใบลานตำนานพระอุรังคธาตุ สมัยสร้างพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ.8 หรือกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังตรัสรู้ได้มาเผยแผ่พระธรรมในชมพูทวีปลุ่มน้ำโขง ขณะล่องมาตามลำแม่น้ำโขง ได้มีเหล่าพญานาคใต้เมืองบาดาล และพญาปลาปากคำที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้แปลงกลาย นิมนต์พระองค์ลงไปแสดงธรรมใต้บาดาล และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นมายังโลกมนุษย์ เหล่าพญานาค พญาปลาปากคำ ได้ร้องขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์แทนพระองค์ไว้เพื่อกราบไหว้บูชา พระพุทธเจ้าจึงได้ประทับรอยพระบาทไว้บนโขดหินแห่งนี้ คือรอยพระพุทธบาทเวินปลา วัดโพธิ์ชัย หรือวัดพระบาทเวินปลาในปัจจุบัน

ในช่วงหน้าฝนน้ำโขงขึ้น โขดหินนี้ก็จะจมอยู่ใต้น้ำกลายเป็นที่กราบไหว้ของสิ่งลี้ลับใต้บาดาล พอถึงฤดูแล้งน้ำโขงลดรอยพระพุทธบาทก็จะโผล่ขึ้นพ้นน้ำโขงเพื่อให้ประชาชนไทย-ลาว กราบสักการะบูชา โดยจะปรากฏชัดที่สุดคือในช่วงเทศกาลสงกรานต์

โดยบริเวณรอยพระพุทธบาทเวินปลาเป็นน้ำวน ชาวไทยอีสานเรียกว่า “เวิน” ซึ่งหมายถึงตั้งอยู่ในวังน้ำวน และเชื่อกันว่าเป็นที่อยู่ของพญาปลาปากคำ(ปลาตะเพียนทอง)  จึงเรียกว่า“เวินปลา”  ทั้งนี้รอยพระพุทธบาทเวินปลาอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร ห่างจากวัด 200 เมตร ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีงานนมัสการรอยพระพุทธบาทเวินปลาเป็นประจำทุกปี  มีการสรงน้ำรอยพระพุทธบาทจำลอง และประเพณีรดน้ำดำหัว โดยมีสะพานเหล็กเดินข้ามไปจนถึงรอยพระพุทธบาท

นอกจากนี้ยังมี ”รองเท้ามาร” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเพื่อให้สัมพันธ์กับรอยพระพุทธบาท รอยนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ลักษณะเป็นรอยบุ๋มลงในหินคล้ายรอยเท้ามนุษย์ และใต้โขดหินนี้มีเศษอิฐกระจายเกลื่อน สันนิษฐานว่าเป็นซากอาคารเก่าที่ถูกน้ำกัดเซาะพังลง และยังเชื่อว่าในน้ำมีพระพุทธรูป 1 องค์ที่อยู่ใต้ผืนทรายลึก  มีร่องรอยซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐ 1 องค์ ปัจจุบันเหลือแต่ฐาน บริเวณนี้ยังมีเศษภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนในสมัยโบราณ  และที่สำคัญได้ค้นพบเศียรพระพุทธรูปสำริด 1 เศียร ขนาดกว้าง 3.8 เซนติเมตร สูง 5.6 เซนติเมตร ลักษณะมีพระเกศาขมวดขนาดเล็ก พระกรรณเป็นขมวดม้วนและมีรอยขีดยาวลงมาช่วงติ่งพระกรรณ เศียรพระมีร่องรอยการลงรักปิดทอง ด้านอายุนั้นนักวิชาการบางท่านเสนอความเห็นว่า น่าจะอยู่ในช่วงสมัยทวารวดี เป็นต้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน