X

ผบ.มทบ.210 ระลึก 430 ปี วันยุทธหัตถี “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ผบ.มทบ.210 ระลึก 430 ปี วันยุทธหัตถี “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” นำกำลังพลกล่าวปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย

วันที่ 18 มกราคม 2565 เวลา 15.00 น. บริเวณด้านหน้ากองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (มทบ.210) ต.กุรุคุ อ.เมือง จ.นครพนม พลตรี สถาพร บุญชู ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 (ผบ.มทบ.210) เป็นประธานนำกำลังพลประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2565 โดยมีนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ศาล ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ร่วมในพิธีอันยิ่งใหญ่นี้

ทั้งนี้ กิจกรรมหลักที่ประพฤติปฏิบัติสืบมาในวันกองทัพไทยของทหารค่ายพระยอดเมืองขวาง โดยช่วงเช้า ผบ.มทบ.210 นำกำลังพลประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในค่ายพระยอดเมืองขวาง ได้แก่ พิธีสักการะศาลปู่พระยอดเมืองขวาง(วีรบุรุษ ร.ศ.112) ที่ตั้งศาลสถิตอยู่ ณ บริเวณด้านหลังค่ายฯ จากนั้นเดินทางมายังด้านหน้าค่ายฯ เพื่อสักการะพระพุทธรูป พร้อมวางพวงมาลาอนุสาวรีย์พระยอดเมืองขวาง และพิธีบวงสรวงพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในอาคาร บก.มทบ.210

ช่วงบ่ายเวลา 15.00 น. ผบ.มทบ.210 ขึ้นแท่นรับการเคารพ พร้อมกล่าวนำปฏิญาณตน และอ่านโอวาทผู้บัญชาการทหารสูงสุด ต่อด้วยพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล สวนสนามโดยกองผสม หรือที่เรียกว่า “สวนสนามสาบานธง” ซึ่งเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์สำหรับทหาร และเป็นการระลึกถึงวีรกรรมบรรพบุรุษเหล่านักรบไทยและทหารผู้กล้า รวมถึงกษัตริย์นักรบอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ช่วยกอบกู้เอกราชและรักษาผืนแผ่นดินไทยไว้ ซึ่งพิธีดังกล่าวนี้จะจัดขึ้นทุกปีในวันกองทัพไทย และถือเป็นวันสำคัญของแต่ละเหล่าทัพ เพื่อให้ทหารใหม่ได้ทำพิธีสาบานธงและเดินสวนสนามเพื่อแสดงความเป็นทหารอย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ วันที่ 18 มกราคมของทุกปีคือวันกองทัพไทย เป็นวันรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี และวันรำลึกถึงวีรกรรมของทหารไทย

กล่าวคือ เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จ.ศ. 954 หรือ พ.ศ.2135 พระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าว จึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน โดยระหว่างที่การรบกำลังดำเนินอยู่นั้น ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็ได้ไล่ล่าศัตรูไปจนออกนอกเขตแดน จนทำให้ทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของศัตรูโดยไม่รู้ตัว แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ พระองค์ก็มีพระสติและทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วว่าทางที่จะรอดได้มีเพียงทางเดียว คือ เชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ท้ายที่สุดสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีได้รับชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ การทำยุทธหัตถีในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย และยังเป็นการรบบนบกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอีกด้วย

ในอดีตกระทรวงกลาโหม่ได้กำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันกองทัพไทย ต่อมาปี พ.ศ.2523 เปลี่ยนเป็นวันที่ 25 มกราคม หลังจากนั้นมีนักประวัติศาสตร์หลายท่านตรวจสอบ และพบว่าวันที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้ตรงกับวันที่ 25 มกราคม แต่น่าจะตรงกับวันที่ 18 มกราคม
วันที่ 22 สิงหาคม 2549 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้เปลี่ยนแปลงกำหนด วันกองทัพไทย เป็นวันที่ 18 มกราคมของทุกปี
โดยบทบาทของกองทัพไทย มีหน้าที่ต่อประเทศชาติมากมายคือ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาผลประโยชน์ของชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาประเทศฯลฯ

ส่วนความสำคัญของธงไชยเฉลิมพล หรือ ธงชัยเฉลิมพล นั้น เป็นธงประจำหน่วยทหาร ทั้งทหารบก ทหารเรือ และ ทหารอากาศ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้นๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา

ด้วยความที่ธงชัยเฉลิมพลเป็นธงที่มีระเบียบปฏิบัติโดยเฉพาะ ทั้งการเก็บรักษา การเชิญธงในวาระต่างๆ ดังนั้น โอกาสในการเชิญธงชัยเฉลิมพลนั้นโดยมากจึงเป็นพระราชพิธี รัฐพิธี หรือพิธีการสำคัญ ได้แก่ เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างถิ่น เชิญเข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระประมุข ประมุขต่างประเทศ ที่เสด็จพระราชดำเนินและมาเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ เข้าประจำกองเกียรติยศสำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ หรือ พระอนุสาวรีย์ในพิธีเปิด เชิญไปในพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร หรือ พิธีการสำคัญของทหารเช่น พิธีอำลาธงชัยเฉลิมพลของทหารที่ปลดประจำการ การเคลื่อนย้ายหน่วยที่ตั้ง เชิญไปในการปฏิบัติการรบ ปฏิบัติการอื่นๆของกองทัพที่ยกกองทหารออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิ
ธงชัยเฉลิมพลนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเกียรติยศของหน่วยทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นจอมทัพ ที่เสมือนหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาประทับเป็นหลักชัยอยู่ท่ามกลางเหล่าทหารทั้งปวง ทั้งยังเป็นเครื่องหมายของสามสถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักใจอันสำคัญของบ้านเมือง ที่ทหารจักต้องรักษาไว้เพื่อประโยชน์สุขแห่งประเทศชาติและประชาชน สมดังคำประกาศของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ที่ว่า ”เป็นที่หมายความไว้พระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์ สุจริต และความกล้าหาญของนายทหารและพลทหารทั้งปวงที่ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในบัดนี้ และต่อไปภายหน้า ให้นายทหารและทหารทั้งปวง จงรู้จักเกียรติยศและอำนาจของธงชัยอันวิเศษสำคัญเป็นที่เฉลิมกองทัพนี้ ให้ถูกต้องตามพระบรมราชประสงค์ ”
“…. ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันพระราชอาณาเขต และเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกัน ห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่า การที่มีทหารประจำรักษาพระราชอาณาเขต อันพรักพร้อมไปด้วยเครื่องศาสตราวุธ และมีความกล้าหาญนั้น เป็นเครื่องป้องกันการที่จะเกิดสงครามได้ เหตุฉะนี้กองทหารทั้งปวงจึงเป็นผู้มีความชอบอยู่เนืองนิตย์….” พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันพระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารต่าง ๆ เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2434 หรือ 131 ปีที่ผ่านมา

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน