X

เกษตรกรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรปลูกพริก เฝ้าระวังละรับมือแมลงวันทองพริก !!

เกษตรกรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรปลูกพริก เฝ้าระวังละรับมือแมลงวันทองพริก !! พร้อมให้คำแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย

ในช่วงนี้ที่เกษตรกรหลาย ๆ พื้นที่ได้ทำการปลูกพืชฤดูแล้ง เพื่อสร้างรายเสริมหลังจากการทำนาอีกทั้งยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินที่ว่างเปล่า โดยมีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหลายชนิด และหนึ่งในนั้นที่เกษตรกรนิยมปลูกมาก คือ พริก ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเกษตรกรนิยมปลูกและตลาดเองก็มีความต้องการ จากสภาพอากาศที่ร้อน มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อากาศเย็นในช่วงเช้า และในชาวงกลางวันมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ในระยะนี้จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพริกให้เฝ้าระวังการเข้าทำลายของแมลงวันทองพริก ที่จะมีหนอนเข้ากัดกินขอนไชอยู่ภายในผล ทำให้ผลพริกเน่าร่วงหล่น และเมื่อหนอนโตเต็มที่ก็จะเจาะออกมาเข้าดักแด้ในดินทำให้ยากต่อการกำจัด

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำหรับการเข้าทำลายของแมลงวันพริก เมื่อเข้าทำลายแล้วจะมีลักษณะอาการภายนอกของพริกที่ถูกแมลงวันทองพริกเข้าทำลาย จะคล้ายกับโรคกุ้งแห้ง หรือโรคแอนแทร็กซ์โนสในพริก แต่จะมีความแตกต่างกันตรงโรคกุ้งแห้งเกิดจากเชื้อราจะไม่มีหนอนอยู่ภายในพริก แต่พริกที่ถูกแมลงวันทองพริกทำลายจะมีหนอนอยู่ภายใน หรือมีรูของหนอนที่เจาะออกมาเพื่อเป็นดักแด้ก่อนจะกลายเป็นแมลงวันทองพริกตัวเต็มวัย ดังนั้น ในระยะนี้เกษตรกรเจ้าของสวนพริก ควรหมั่นสำรวจและทำความสะอาดแปลงปลูกพริกอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเก็บผลพริกที่ร่วงหล่นนำมาเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวันทองพริก จากนั้นให้พ่นด้วย สารน้ำมันปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ 83.9% อีซี อัตรา 60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน โดยเน้นที่ผลพริก ในกรณีพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นประจำ ให้พ่นครั้งแรกเมื่อต้นพริกเริ่มติดผล และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 5-7 วัน และเมื่อต้นพริกเริ่มติดผล ให้เกษตรกรพ่นด้วยเหยื่อพิษโปรตีน เนื่องจากแมลงวันทองพริกมีหน้าตาคล้ายกับแมลงวันทองผลไม้มาก แต่เป็นคนละชนิดกัน การใช้กับดักโดยสารล่อแมลง อย่าง เมทธิล ยูจินอล จะไม่สามารถหยุดยั้งการระบาดและเข้าทำลายของแมลงวันทองพริกได้ ฉีดพ่นเหยื่อพิษโปรตีนเป็นจุดทุกต้นรอบแปลงปลูก และพ่นเป็นแถวต้นละจุด ห่างกันแถวละ 5 เมตร โดยพ่นทุกสัปดาห์ หรือให้เทเหยื่อพิษโปรตีนใส่ไว้ในกับดักดัดแปลง เช่น ขวดพลาสติกเจาะช่องให้แมลงสามารถบินเข้ากับดักได้ และติดตั้งกับดักสูงจากพื้นดิน 15 ซม. รอบแปลงปลูก จากนั้นให้ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลง มาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หากเกษตรกรพบการเข้าทำลาย หรือมีข้อสงสัยควรรีบแจ้งข้อมูลการระบาด หรือมีข้อสงสัยสามารถเข้าไปติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน