X

“อนุทิน” เปิด Kick Off กัญชาริมฝั่งโขง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยว

นครพนม – “อนุทิน” เปิด Kick Off กัญชาริมฝั่งโขง เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวนครพนม หยอดคำหวาน อสม.คือหมอคนแรก ด่านหน้าผู้พิชิตโควิด

วันที่ 11 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยว สมุนไพรกัญชา : Kick Off กัญชาริมฝั่งโขง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง/ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย นายแพทย์ ปรีดา วรหาร สาธารณสุขจังหวัดนครพนม นางสาว ศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม นายแพทย์ ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯให้การต้อนรับ ณ ริมแม่น้ำโขงถนนสวรรค์ชายโขง ชุมชนหมู่บ้านโบราณ 8 ชนเผ่า เขตเทศบาลเมืองนครพนม

นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่ากระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ จึงกำหนดให้ในปี 2565 เป็น 1 ใน 9 นโยบายมุ่งเน้นของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการพัฒนาพืชสมุนไพร กัญชา กัญชง กระท่อม และภูมิปัญญาไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นอีกหนึ่งจังหวัดต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 8 ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การถ่ายทอดนโยบายจากผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดเป็นนโยบายมุ่งเน้นของเขตสุขภาพที่ 8 ในการส่งเสริมการเข้าถึงการใช้กัญชาทางการแพทย์ การเข้าถึงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งในระดับครัวเรือน 12 ต้น ระดับวิสาหกิจชุมชน ในโครงการปลูกกัญชาทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ระยะที่ 2 (โรงเรือน 50 ต้น) พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์เรียนรู้กัญชาทางการแพทย์และเศรษฐกิจสุขภาพ

“การจัดงานส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยว สมุนไพรกัญชา (Kick off กัญชาริมฝั่งโขง) เป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ถือเป็นต้นแบบการดำเนินงานขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ในมิติเศรษฐกิจ โดยเปิดเส้นทางธุรกิจการท่องเที่ยวกัญชาทางการแพทย์ และเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) ที่เสริมสร้างอัตลักษณ์ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับแหล่งปลูกกัญชาทางการแพทย์ เป็นโครงการที่ช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชา (ทางการแพทย์) และภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้มีการฟื้นตัวกลับคืนมาอย่างเร็วขึ้น และเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ การจัดหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์..ชวนท่องเที่ยวกัญชาริมฝั่งโขง ร่วมกับสถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมการท่องเที่ยว มีผู้ผ่านการอบรม 343 คน การจัดทำรูปแบบการเดินทางเข้าประเทศไทย เพื่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ Sandbox ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวกัญชา เขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว”

ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระแสการใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ โดยกิจกรรมภายในงานจะมีบูธนิทรรศการกว่า 40 บูธ อาทิ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม : การปลูก การกลั่น การสกัดอย่างง่าย และการเตรียมทำน้ำมัน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร : ลงนามความร่วมมือ (MOU) การจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชากับวิสาหกิจชุมชน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร : ธนาคารต้นกล้า, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก : การดำเนินโครงการวิจัยกัญชา ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นต้น

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวขอบคุณ อสม.ทุกท่านว่า หมอคนแรกคือ อสม.ที่เป็นด่านหน้าในการทำงานด้านสาธารณสุข ส่วนการผลักดันกัญชาเป็นพืชสมุนไพรทางการแพทย์เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ถึงเวลานี้กฎหมายได้ปลดล็อกกัญชาแล้วแต่ต้องอยู่ในความควบคุมของกระสาธารณสุข ทุกบ้านขออนุญาตปลูกได้ครัวเรือนละ 6 ต้น หรือจะรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อจำหน่าย โดยยื่นขออนุญาตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลย  จากนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ไม่มีกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ส่วนที่ถามว่านครพนมเป็นเมืองชายแดนติดกับประเทศลาว ยังมีการลักลอบลำเลียงกัญชาเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อกัญชากลายเป็นพืชเศรษฐกิจประชาชนนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และมีสาร THC ไม่เกิน 2 % ก็ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย

ตากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 4 ชั้น โรงพยาบาลศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม โดยทำพิธีปิดทองและเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ โปรยดอกไม้มงคล และเครื่องมงคลบนแผ่นศิลาฤกษ์ ทั้งนี้อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ เป็นอาคาร คสล. 4 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 7,124 ตารางเมตร มูลค่าวงเงินทำสัญญา 108,000,000 บาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2566

หลังจากนั้นเดินทางไปพบปะพี่น้อง อสม. ณ เวทีตลาดพูนสุข อ.ศรีสงคราม โดยได้กล่าวขอบคุณพี่น้อง อสม.ที่ร่วมด้วยช่วยกันดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิค-19) จนทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ซึ่ง อสม.ได้เข้ามาช่วยดูแลการแยกกักตัวที่บ้าน การแยกรักษาตัวในชุมชน การดูแลผู้ป่วยที่รักษาหาย นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการช่วยแนะนำการตรวจโควิดด้วยตัวเองแก่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงภารกิจการเคาะประตูบ้านเชิญชวนพี่น้องประชาชนออกมาฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้ประเทศของเรามีวัคซีนเพียงพอ พี่น้องประชาชนสามารถเลือกสูตรการฉีดวัคซีนได้เอง โดยเฉพาะกลุ่ม 608 จังหวัดนครพนมมีกลุ่ม 608 ฉีดวัคซีน มากกว่าร้อยละ 80 ซึ่งพี่น้อง อสม.ก็ยังคงต้องร่วมด้วยช่วยกันเชิญชวนกลุ่มประชาชนทั่วไปให้เข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ 70 ภายใน 31 ธันวาคม 2564 นี้

ต่อจากนั้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เปิดศูนย์เรียนรู้กัญชาต้นแบบ (ครบวงจร) และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้กัญชาต้นแบบฯ ที่ตั้งโรงเรือนอยู่ด้านหลังตลาดพูนสุข ซึ่งศูนย์เรียนรู้กัญชาต้นแบบแห่งนี้ ดำเนินการภายใต้โครงการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ในความร่วมมือตามข้อตกลงการผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา ระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก  กับวิสาหกิจชุมชนปลูกพืชสมุนไพรบ้านปากอูน 333 ซึ่งสถานที่แห่งนี้จะดำเนินการเพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ศึกษาเกี่ยวกับกัญชาแบบครบวงจรและใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครพนม ซึ่งได้ขออนุญาตปลูกกัญชา จำนวน 1,500 ต้น โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) โรงเรือนระบบ Evap ขนาด 20×21 ตารางเมตร จำนวน 500 ต้น 2) โรงเรือนระบบกรีนเฮ้าส์ขนาด 20×21 ตารางเมตร จำนวน 250 ต้น โรงเรือนระบบกรีนเฮ้าส์ขนาด 20×21 ตารางเมตร จำนวน 250 ต้น รวมระบบกรีนเฮ้าส์ 500 ต้น และ 3) ระบบปลูกกลางแจ้ง จำนวน 500 ต้น รวมทั้งหมดโครงการ จำนวน 1,500 ต้น

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน