X

นครพนมจับตา “พายุคมปาซุ” ฟาดหาง ระดับน้ำโขงยังรับมวลน้ำได้อีกเยอะ

นครพนม  – จับตา “พายุคมปาซุ” ฟาดหาง ระดับน้ำโขงยังรับมวลน้ำได้อีกเยอะ เชื่อรอดพ้นวิกฤตเหมือนพายุ 2 ลูกที่แล้ว

วันที่ 14 ตุลาคม 2564 เมื่อเวลา 04.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกหนังสือฉบับที่ 9 รายงานสถานการณ์พายุคมปาซุ บริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 230 กม. ทางตะวันออกของเมืองวิญ ประเทศเวียดนาม มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 85 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันนี้ และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย จังหวัดเลย,หนองคาย,บึงกาฬ,หนองบัวลำภู,อุดรฯ,สกลนคร,นครพนม,ขอนแก่น,กาฬสินธุ์,มุกดาหาร,มหาสารคาม,ร้อยเอ็ด,ยโสธร,อำนาจเจริญ,อุบลฯ,สุรินทร์,บุรีรัมย์,นครราชสีมา ส่วนภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี,ฉะเชิงเทรา,ชลบุรี,จันทบุรี,ระยอง,ตราด ภาคใต้ จังหวัดชุมพร,ระนอง และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ด้านจังหวัดนครพนม มีเมฆปกคลุมและฝนตกโปรยปรายเป็นระยะๆ ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งสถานีอุตุนิยมวิทยานครพนม ได้รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ว่า ระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม ร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสานตอนล่าง ประกอบกับพายุโซนร้อนกำลังแรงคมปาซุ เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 14 ตุลาคม นี้ จากนั้นจะอ่อนกำลังลง ทำให้บริเวณภาคอีสานมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ขณะที่ระดับแม่น้ำโขงวัดได้ 3.62 เมตร เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 5 ซม. หากมีฝนตกหนักก็สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ทันท่วงที เพราะมีตลิ่งอยู่ที่ 13 เมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย

ผู้สื่อข่าวรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์พายุที่พัดเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีพายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่ (เทพธิดาจีน) ได้ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ และขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามเมื่อวันที่ 24 กันยายน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากที่เมืองดานัง และตอนใต้ของ สปป.ลาว ในส่วนของประเทศไทยจะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากโดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งในนั้นมีจังหวัดนครพนมรวมอยู่ด้วย ปรากฏว่าพายุเปลี่ยนทิศทางนครพนมจึงรอดพ้นจากพายุลูกนี้ไปได้ ต่อมาเกิดพายุโซนร้อนไลออนร็อก(ชื่อยอดเขาในฮ่องกง) อยู่ในบริเวณอ่าวตังเกี๋ย มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และขึ้นฝั่งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น และจังหวัดนครพนมก็รอดจากพายุลูกนี้ได้อย่างหวุดหวิดอีกครั้ง มีได้รับผลกระทบเพียงหางเลขเท่านั้น และก็เชื่อว่าจะรอดจากพายุคมปาซุเหมือนพายุสองลูกนั้นได้เช่นเดิม

ส่วนคำว่า “คมปาซุ” เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า เข็มทิศ, วงเวียน, กลุ่มดาววงเวียน เป็นชื่อพายุหมุนเขตร้อนในรายชื่อชุดที่ 4 ลำดับที่ 19 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกฝั่งเหนือ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน