X

จิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคีจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ

นครพนม – วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนจิตอาสาร่วมพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคี เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมจัดขึ้น เพื่อเป็นการ kick off ระดับจังหวัด ในแปลงพื้นที่ต้นแบบตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ที่เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล ตามแนวทางที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้ และเป็นการน้อมนำแนวทางจิตอาสาพระราชทานมาจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชนเอามื้อสามัคคีเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการลงแขกที่กำลังจะเลือนหายไปจากสังคมไทย มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์อันดีของคนในชุมชน

โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการ kick off ระดับจังหวัดในพื้นที่แปลงต้นแบบของนางสาวพัชรินทร์ หารู้ หมู่ที่ 4 ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน ซึ่งมีกิจกรรมเริ่มจากการเพาะพันธุ์กล้าไม้ เพื่อขยายพันธุ์ไว้สำหรับเพาะปลูกพืชชนิดต่าง ๆ จากนั้นร่วมกันทำปุ๋ยแห้งชามน้ำชาม ซึ่งเป็นการผลิตปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือนและแปลงเกษตรของตนเอง ร่วมกันปลูกไม้ 5 ระดับ (สูง กลาง เตี้ย เรี่ยดิน กินหัว) ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งในส่วนนี้ในอนาคตจะทำให้ทุกคนมีป่าไม้ไว้เป็นร่มเงา มีไม้เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ และมีไม้ไว้ใช้สอยประโยชน์อย่างอื่นอีกมากมาย ตามมาด้วยการปลูกพืชสมุนไพรโดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ป่วยโควิดที่กำลังหามารับประทาน ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทลายโจร ขิง ข่า ตระไคร้ ขมิ้นชัน กระชายขาว หอมแดง กระเทียมและพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งในระหว่างการปลูกพืชก็จะทำกิจกรรมห่มดินด้วยฟางและเศษหญ้าเศษใบไม้ไปพร้อมกัน ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการใส่อาหารให้แก่ดินด้วยวิธีธรรมชาติที่ในอนาคตเมื่อดินมีแร่ธาตุที่เพียงพอก็จะส่งผลให้พืชและต้นไม้ที่ปลูกมีการเจริญเติบโตงอกงามอย่างเต็มที่ มีความสมบูรณ์ ซึ่งหลักการดังกล่าวเรียกว่า เลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช จากนั้นมาทำกิจกรรมขึ้นแซนวิช เพื่อสร้างแหล่งอาหารสำหรับปลาที่เลี้ยงในบ่อโดยการหาวัสดุในท้องถิ่น เช่นไม้ไผ่มาปักในบ่อเป็นคอก จากนั้นนำฟางและเศษวัชพืช เศษใบไม้ มาใส่ให้มีความสูงประมาณ 1 ฟุต ย่ำให้แน่น นำปุ๋ยคอกมาใส่พร้อมกับการรดน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ โดยทำสลับเป็นชั้น ๆ จนเต็มคอก ซึ่งในส่วนนี้เมื่อเศษวัชพืชมีการย่อยสลายจะเป็นอาหารให้ปลาที่เลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารปลา ทั้งเป็นการบำบัดรักษาน้ำด้วยการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม ก่อนที่ทุกคนจะสิ้นสุดกิจกรรมด้วยการร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลา

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน