X

บวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เจ้าเแห่งโชคลาภ ย่อส่วนนางรำจากหมื่นเหลือแค่ 7 ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด

นครพนม – บวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เจ้าเแห่งโชคลาภ ย่อส่วนนางรำจากหมื่นเหลือแค่ 7 ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด แต่ความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากลานพญาศรีสัตตนาคราช ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019(covid-19) เป็นสาเหตุให้งานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7-13 กรกฎาคมของทุกปี กร่อยลงไปถนัดตา จากที่มีนางรำจาก 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ(จีน-เวียดนาม) วันละไม่น้อยกว่า 1,000 คน โดยเฉพาะวันเปิดงานบวงสรวงคือวันที่ 7 กรกฎาคม จะมีมากเกือบ 10,000 คน

สำหรับในปีนี้(2564) การจัดงานบวงสรวงอยู่ภายใต้มาตรฐานการดูแลควบคุม ป้องกันโรคโควิด จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงาน เน้นเรียบง่ายตามประเพณี  กำหนดผู้ร่วมงานตามความเหมาะสมไม่เกิน 20 คน โดยเว้นระยะห่างแบบนิวนอร์มอล  และย่อส่วนใช้นางรำแค่ 7 คน ซึ่งจำกัดจำนวนประชาชน นักท่องเที่ยวเข้าชมการแสดง

ทั้งนี้ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วย นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม นำหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน  ตลอดจนประชาชน นักท่องเที่ยว พร้อมด้วย นางรำสาวงามชนเผ่า จำนวน 7 คน  ร่วมประกอบพิธีอัญเชิญเครื่องบวงสรวงบูชาถวาย องค์พญาศรีสัตตนาคราช  เพื่อประกอบพิธีบูชาตามประเพณี ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมา หลังมีการสมโภชองค์พญาศรีสัตตนาคราชเมื่อปี 2559  เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงประเพณีความเชื่อของชาวลุ่มน้ำโขง เกี่ยวกับพญานาคที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลปกปักษ์รักษาประชาชนในแถบลุ่มแม่น้ำโขง  ไปจนถึงเป็นการส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

โดยปีนี้จังหวัดนครพนม ได้ร่วมกับภาครัฐเอกชน ประชาชน ในพื้นที่ เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ ดึงดูดประชาชน นักท่องเที่ยว มาเที่ยวชม พักผ่อน  โดยกำหนดจัดงานขึ้น เริ่มในช่วงวันที่ 7 เดือน 7 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 8  รวม 7 วัน

สำหรับพิธีบูชาบวงสรวงตามประเพณีความเชื่อ  ตั้งแต่ปี 2559 เรื่อยมามีการจัดรำบวงสรวง เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีสาวงามจากชนเผ่าต่างๆ ทั้ง 12 อำเภอ เข้าร่วมในชุดพื้นเมืองประจำชนเผ่า  แสดงออกถึงขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ของ จ.นครพนม เพื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมอัตลักษณ์ที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน มีทั้งความสวยงาม อลังการ และความอ่อนช้อยงดงาม  โดยเชื่อกันว่าสาวงามที่ได้มาร่วมฟ้อนรำบวงสรวง จะเป็นสิริมงคล เกิดความร่มเย็นเป็นสุขแก่ครอบครัว รวมถึงมีโชคลาภตามประเพณีความเชื่อ

โดยนายสุรัตน์ ก้องเกียรติกมล อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม เป็นหนึ่งผู้ร่วมสร้างองค์พญาศรีสัตตนาคราช เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกติของไวรัสโคโรน่า 2019 ในส่วนของต่างจังหวัดก็จะต้องเปลี่ยนรูปแบบของงานในปีนี้ ซึ่งก็ได้แบ่งการจัดงานเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นในส่วนของพิธีทางสงฆ์ จัดโดยเทศบาลเมืองนครพนมโดยท่านนิวัต เจียวิริยบุญญา และจะมีพิธีทางพราหมณ์ มีการรำบวงสรวงแบบย่อมๆ ซึ่งทุกปีก็จะเน้นในจำนวนหลักพันที่มาจากทุกอำเภอ แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ ทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครพนมก็ได้มีมติว่าไม่อนุญาตให้ทางต่างอำเภอเข้ามาร่วมในการรำ และการรำจะใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ซึ่งใน 7 วันนี้ก็จะมีนายอำเภอในแต่ละอำเภอหมุนเวียนกันมาเป็นประธานในแต่ละวัน ในปีนี้ก็เริ่มที่วันพุธก็จะเป็นตัวแทนจากอำเภอปลาปากและหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆจนครบ 7 วัน

ด้านนายวัฒนศักดิ์ เจียวิริยบุญญา รองนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม กล่าวว่าโดยพิธีศักดิ์สิทธิ์บวงสรวงบูชาองค์พญาศรีสัตตนาคราช แลนด์มาร์คพญานาคศักดิ์สิทธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง  ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี ตั้งแต่มีการก่อสร้างสมโภชขึ้น เมื่อปี 2559  กลายเป็นจุดเช็คอินที่ขึ้นชื่อของ จ.นครพนม  รวมถึงเป็นการสร้างสัญลักษณ์เมืองการค้าเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ภายใต้ความเชื่อเกี่ยวกับองค์พญานาคที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ดูแลปกปักษ์รักษาแถบลุ่มน้ำโขง และองค์พระธาตุพนมสิ่งศักดิ์สิทธิ์อายุ 2,600 ปี

ทั้งนี้ด้วยความสวยงามและโดดเด่นแห่งนี้ ถือว่าเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนม คือความเป็น 3 ที่สุด ได้แก่ 1.“ที่สวยที่สุด” สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน)  2.”งามที่สุด” คือความสวยงามวิวทิวทัศน์ภูเขาหินปูนที่เรียงรายอยู่ฝั่งโขงประเทศลาว และ 3.”ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด” คือ องค์พระธาตุพนม ที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ดึงดูดประชาชน นักท่องเที่ยว สนใจมาเที่ยวชม ทำให้ปัจจุบันนครพนม มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนเพิ่มหลายเท่าตัว กลายเป็นเมืองรองที่น่าจับตามอง เพราะมีผู้ประกอบการด้านโรงแรมที่พัก ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มอีกประมาณ 50 แห่งทั่วทั้งจังหวัด หากไม่มีสถานการณ์โรคโควิดระบาด ช่วง 7 วันงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช จะมีเงินหมุนเวียนสะพัดนับหลายล้านบาท ซึ่งปัจจุบันองค์พญาศรีสัตตนาคราชกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ที่มีประชาชนนักท่องเที่ยว เดินทางมากราบไหว้ขอพรไม่ขาดสาย รวมเว้นนักเสี่ยงโชค ที่มีความเชื่อศรัทธา  และมีคนโชคดีถูกรางวัลใหญ่มานับไม่ถ้วน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน