X

เกษตรนครพนม เตือนผู้ที่ปลูกอ้อย เฝ้าระวังโรคใบขาวอ้อยระบาด พร้อมแนะวิธีเอาให้อยู่หมัด !!

นครพนม – วันที่ 11 มิถุนายรน 2564 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า โรคใบขาวอ้อยสาเหตุเกิดมาจากเชื้อไฟโตพลาสมา ลักษณะอาการใบขาวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต อ้อยที่เป็นโรคจะแสดงอาการผิดปกติได้ ตั้งแต่เริ่มงอกไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้าอ้อยจะแตกกอฝอยมีหน่อเล็กๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด

หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็กๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยที่ปลูกปีแรก โดยอ้อยที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็กๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา

ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปได้อย่างกว้างขวาง แปลงอ้อยที่ปลูกในช่วงหน้าฝนจะพบอาการโรคระบาดรุนแรง เนื่องจากจะพบแมลงพาหะมากในฤดูฝน ระหว่างปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน และพบน้อยในฤดูแล้ง ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งการแพร่ระบาด ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่มีเชื้อแฝงเป็นสาเหตุหลักและ เพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาลเป็นแมลงพาหะ 2ชนิด คือ Matsumuratettix hiroglyphicus ,Cicadulina bipunctella

เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อย ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยดำเนินการดังนี้ เตรียมแปลงพันธุ์ที่จะมาขยายปลูกโดยใช้พันธุ์ที่ทนทานและแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส นาน 2 ชั่วโมง หรือ 52 องศาเซลเซียส นานครึ่งชั่วโมงก่อนปลูก การปลูกอ้อยข้ามแล้งเพื่อหลีกเลี่ยงแมลงพาหะซึ่งมีมากในฤดูฝน โดยปลูกในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคมในภาคตะวันตก

ในกรณีพบการระบาดมากให้ไถทิ้งทั้งแปลง แล้วปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียน ก่อนปลูกอ้อยรอบใหม่ เพื่อตัดวงจรของโรคและแมลงพาหะ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีอ้อยพันธุ์ต้านทาน โดยขุดทำลายกออ้อยที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วนำไปเผาทำลายทิ้ง หรืออาจใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นต้นที่เป็นโรค จากนั้นกำจัดวัชพืชรอบ ๆ แปลง ไปพร้อมกับการทำลายกอเป็นโรค เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงพาหะนำโรค ที่สำคัญควรให้ความร่วมมือกันกำจัดโรคใบขาวอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิต และตลอดไปจนกว่าโรคใบขาวจะหมดไป ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการและคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน