X

หมู่บ้านไม่เคยขาดแคน ผลิตเครื่องดนตรีอีสานขายทั่วแคว้นแดนดิน

นครพนม – หมู่บ้านไม่เคยขาดแคน ผลิตเครื่องดนตรีอีสานขายทั่วแคว้นแดนดิน เผยทีเด็ดต้นตำรับแคน  ตีลิ้นต้นเสียงบนกระดูกช้าง หวั่นไม้แคนขาดตลาดนำเข้าจากลาวที่เดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครพนม ว่า ชาวบ้าน ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า ถือเป็นหมู่บ้านสุดเจ๋งเป็นอันซีนอีสาน(Unseen) ที่มีอาชีพจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ในการผลิตเครื่องดนตรีอีสานจำพวก พิณ แคน โหวด ส่งขายทั่วทุกภูมิภาคยาวนานกว่า 70 ปี โดยได้สืบทอดอาชีพจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  มีรายได้ตลอดปีเงินสะพัดหมุนเวียนปีละนับ 10 ล้านบาท แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตโควิด ชาวบ้านยังยืนยันว่า เครื่องดนตรีอีสาน พิณ แคน โหวด ยังสามารถขายได้อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะแคนเป็นเครื่องดนตรีอีสานที่ขายตลอด แม้ยอดขายจะลดลงบ้าง แต่ไม่กระทบเพราะมีต้นทุนต่ำ เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ผลิตขายในราคาเต้าละ 1,500-5,000 บาท ตามประเภทและขนาดของแคน

จากการสอบถาม นายโสวัตร ชาสงวน อายุ 56 ปี ช่างผลิตแคนของหมู่บ้าน  เล่าว่าทำเครื่องดนตรีอีสานภูมิปัญญาชาวบ้านมานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่เริ่มโตเป็นวัยรุ่นสืบทอดฝีมือจากพ่อ ปู่ และตา มานานจากรุ่นสู่รุ่น  ทั้งนี้หมู่บ้านท่าเรือจะเป็นหมู่บ้านอันซีนที่เดียวในไทย ที่ทำเครื่องดนตรีอีสานขายครบวงจร ตั้งแต่พิณ แคนโหวด ส่งขายทั่วไทย โดยเฉพาะแคนจะต้องมาจากบ้านท่าเรือเท่านั้น เนื่องจากเป็นต้นตำรับแคนที่นักเป่าแคนยืนยันว่ามีเสียงดีไพเราะ รังสรรค์จากประสบการณ์ที่ได้รับจากบรรพบุรุษ

ส่วนอุปกรณ์การทำแคน ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติ คือไม้ไผ่ลำแคน ชาวบ้านเรียกง่ายๆ ว่าไม้ลำแคน ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติป่าเขา แคน 1 เต้าหรืออัน จะมีไม้ลำแคนมาตรฐาน 8-9 คู่  ส่วนเต้าแคนที่ใช้ปากเป่า จะใช้ไม้ประดู่ หรือไม้หนามเกลี้ยง ทำขึ้นมาจากงานฝีมือที่สืบทอดกันมา ก่อนนำมาประกอบเป็นแคนด้วยภูมิปัญญาอีสานดั้งเดิม

นายโสวัตรกล่าวอีกว่า โดยในการทำแคนสำคัญที่สุดคือ การทำลิ้นแคน เพราะเป็นตัวกำหนดเสียงให้เกิดคีย์ดนตรีเสียงสูงต่ำ รวมถึงความไพเราะอ่อนหวานของเสียง ซึ่งแคนสามารถนำไปประยุกต์เป่าร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านรวมถึงดนตรีสากลได้ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับความสามารถของศิลปิน สิ่งสำคัญการผลิตลิ้นแคนที่เป็นตัวสร้างเสียงในไม้ลูกแคน เวลาเป่าจะออกมาเป็นเสียงคล้ายปี่ โดยจะใช้เงินแท้หรือทองแดงแท้ ที่เรียกกันว่าแคนลิ้นเงิน ลิ้นทอง นำมาหลอมแล้วรีดเป็นเส้นขนาดเล็กๆด้วยความชำนาญ นำมาเป็นลิ้นแคนที่ทำให้เกิดเสียง อีกทั้งการตีลิ้นแคนสิ่งสำคัญที่สุดขาดไม่ได้ คือกระดูกช้าง  จะนำมาเป็นตัวฐานรองในการตีสับลิ้นแคนให้มีความละเอียด และเป็นตัวกำหนดให้เสียงแคนใสไพเราะอ่อนหวาน  มากกว่าการเอาเหล็กมาเป็นฐานตีลิ้นแคน  ถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่อดีต

ส่วนแคนที่เสียงดีที่สุด จะต้องเป็นแคนที่มาจากลิ้นเงินแท้  หลังทำลิ้นเสร็จก่อนนำมาประกอบใส่เต้า จะต้องถูกเทียบเคียงคีย์ดนตรีให้ได้มาตรฐานจากความชำนาญทุกลูกแคน และประกอบใส่เต้า ประกอบออกมาเป็นแคนส่งขาย มีราคาตั้งแต่ 1,500 บาท – 5,000 บาท แล้วแต่ขนาดของแคนเล็กใหญ่ รวมถึงคีย์ดนตรีจะมีผลต่อราคา แล้วแต่นักดนตรีหมอลำจะนำไปใช้งาน

ซึ่งมาตรฐานในการทำแคนส่งผลให้แคนของชาวบ้านท่าเรือขายดี ส่งขายทั่วไทยตลอดปี แต่ละครอบครัวสามารถทำแคนส่งขายได้เดือนละ 50,000 บาท ถึง 1 แสนบาท ต่อเดือน แล้วแต่ความชำนาญ นอกจากนี้ยังมีการทำพิณ แคนโหวด มีทั้งเป็นแบบ ของที่ระลึก รวมถึงขายเป็นเครื่องดนตรี ถึงแม้โควิดระบาดแต่ยังขายได้ไม่กระทบกระเทือน ถือว่าชาวบ้านท่าเรือไม่เคยขาดแคน แต่ละปีมีเงินหมุนเวียนภาพรวมสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สิ่งที่กังวลที่สุดคือไม้ลูกแคนที่นำมาสะสมไว้ ใกล้หมดเพราะปกติจะนำเข้าจากประเทศลาวเท่านั้น เพราะฝั่งไทยหายากมาก แต่ช่วงโควิดปิดด่านพรมชายแดน ระยะยาวอาจมีปัญหา จึงจะต้องหารือกับภาครัฐหาทางช่วยเหลือระยะยาว

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน