X

ปศุสัตว์นครพนม ควงสัตวแพทย์พ่นยาฆ่าเชื้อคอกวัว ป้องกันโรคลัมปีสกินลาม

นครพนม – ปศุสัตว์นครพนม ควงสัตวแพทย์พ่นยาฆ่าเชื้อคอกวัว ป้องกันโรคลัมปีสกินลาม แนะหมั่นสังเกตอาการสงสัย ประสานอาสาในพื้นที่เร่งรักษา

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายสมชาย อนันตจารุตระกูล ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยสัตวแพทย์หญิงฐิติมา ศรีคำ สารวัตรกรมปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์นครพนม นำเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 17 หมู่ 4 ต.ท่าค้อ อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อพ่นยาป้องกันกำจัดแมลง เนื่องจากได้รับแจ้งจากอาสาปศุสัตว์ประจำตำบลฯ ว่า พบโคจำนวน 3 ตัว แสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ที่กำลังแพร่ระบาดหนักในโคกระบืออยู่ขณะนี้ ซึ่งได้พบกับเจ้าของบ้าน นางอัญชลียา คำซาว อายุ 44 ปี เปิดเผยว่ามีวัวพันธุ์ผสมพื้นเมืองทั้งหมด 3 ตัว เป็นเพศแม่อายุ 5 ปี ลูกเพศเมียอายุ 1.3 ปี และลูกเพศผู้อายุ 4 เดือน โดยเฉพาะวัวตัวเล็กมีตุ่มขนาดใหญ่ ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย ลุกลามไปที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะและหว่างขาทรมานมาก ตนก็รีบทำความสะอาดคอกและติดต่ออาสาปศุสัตว์ให้เข้ามาดูอาการสม่ำเสมอ ก็ได้รับการฉีดวัคซีนจนอาการดีขึ้นตามลำดับ

ด้าน ปศุสัตว์จังหวัดนครพนม ได้เผยว่าพาหะสำคัญของโรคอุบัติใหม่นี้คือแมลงดูดเลือด เลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ เช่นติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน วิธีการป้องกันโรค คือ การกำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง และกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าพื้นที่ โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ

นายสมชายฯเผยต่อว่า สำหรับวัวคอกนี้เจ้าของได้ขอคำปรึกษาจากอาสาปศุสัตว์ตลอดเวลา จึงปฏิบัติตามคำแนะนำทุกอย่าง ซึ่งวัวเพศแม่สองตัวมีอายุแล้ว จะแสดงอาการไม่รุนแรงเหมือนตัวเล็กที่จะเห็นตุ่มเต็มทั้งลำตัว แต่ภายหลังได้รับวัคซีนตุ่มแผลพองก็เริ่มตกสะเก็ด จากที่ประเมินว่าไม่รอดกลับเป็นว่าวัวตัวเล็กนี้พ้นวิกฤตแล้ว แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นระยะ

“โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชีย ตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้นในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยได้มีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า แต่ไม่วายมีการเล็ดลอดเข้ามาระบาดในประเทศไทยจนได้” นายสมชายฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าโรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส 𝘓𝘶𝘮𝘱𝘺 𝘴𝘬𝘪𝘯 𝘥𝘪𝘴𝘦𝘢𝘴𝘦 𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 ในสกุล 𝘊𝘢𝘱𝘳𝘪𝘱𝘰𝘹𝘷𝘪𝘳𝘶𝘴 สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา

นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน