X

“OTOP Village” 9 หมู่บ้านนครพนม ปิดทริปสุดท้าย บ้านหนองสะโน เกษตรอินทรีย์นาแปลงใหญ่

นครพนม – บริเวณศูนย์วิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเอง บ้านหนองสะโน หมู่ 6 ต.ดอนนางหงส์ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งเป็นหมู่บ้านสุดท้ายหลังที่ 9 ในโครงการเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ที่ถูกเป็น 1 ใน 9 หมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อประกาศการเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในหมู่บ้าน เกิดการสร้างรายได้ในชุมชน โดยมีนายปราโมทย์ แสงสว่าง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนพึ่งตนเอง กล่าวต้อนรับ นายชุมพล ยิ่งล้ำ พัฒนาการอำเภอธาตุพนม พร้อมคณะผู้มาเยือน และมีนายศิริชัย ธ.น.อุตร นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม อำนวยความสะดวกด้านข้อมูลข่าวสาร

นายชุมพลฯกล่าวว่าจังหวัดนครพนม มีขนบธรรมเนียมวิถีประเพณี และวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว มีสโลแกนว่า มานครพนม ชม 3 ที่สุด คือพระธาตุพนม ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด สะพานมิตรภาพ 3 สวยที่สุด ทิวทัศน์สองฝั่งโขง งามที่สุด และ 3 วัฒนธรรม(ไทยอีสาน-จีน-เวียดนาม) ส่วนมากผู้คนมาเที่ยวนครพนม ก็จะมุ่งมาเที่ยวแต่แอ่งใหญ่ เช่น พระธาตุพนม,พญาศรีสัตตนาคราช และสะพานมิตรภาพ 3 ดังนั้นการพัฒนาหมู่บ้านโอทอปฯ เป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแอ่งเล็ก เพื่อรองรับและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากแอ่งใหญ่ มาจับจ่ายสินค้าของฝาก ของที่ระลึกในชุมชนแอ่งเล็ก

ซึ่งหนองหนองสะโน เป็นหมู่บ้านชนเผ่าไทยกะเลิง มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเป็นอัตลักษณ์ มีศักยภาพสูง เพราะเป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ ในรูปแบบนาแปลงใหญ่ และโรงสีข้าวเกษตรอินทรีย์พลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักพระธาตุพนมบนแผ่นทอง โดยช่างแกะฝีมือปราณีต เป็นของที่ระลึกที่ทรงคุณค่าฯลฯ การเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นสิ่งที่ดี ที่จะประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวแหล่งใหม่ของจังหวัด ตลอดจนสินค้าโอทอปของหมู่บ้าน ให้เชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคอาเชี่ยน และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมพัฒนาศักยภาพในการขันแข่งของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ

อนึ่ง นาแปลงใหญ่ คือ การส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มกันเพื่อผลิต ทำให้มีอำนาจในการต่อรอง และสามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ โดยไม่ได้รวมทุกแปลงเข้าด้วยกัน เพียงแต่เป็นการรวมกลุ่มกันเท่านั้น โดยภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพข้าว และกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ พัฒนาให้เป็นจุดเรียนรู้ การบริหารจัดการ เชิงอุตสาหกรรมครบวงจร ด้วยการถ่ายทอด เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่ประณีตและเหมาะสมกับพื้นที่สู่เกษตรกรในชุมชน

หมู่บ้านหนองสะโน หมู่ 6 เดิมชื่อบ้านใหม่ เป็นชุมชนเผ่าไทยกะเลิง เมื่อย้อนหลังไปประมาณ 80 ปี ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยป่า หนองน้ำ ลำห้วย อุดมสมบูรณ์ด้วยพฤกษานานาพันธุ์ ถึงปี 2481 ได้ยื่นขอตั้งหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ ชื่อบ้านหนองสะโน ผู้นำชุมชนให้เหตุผลว่ามีต้นสะโนเกิดขึ้นที่หนองน้ำจำนวนมาก จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านดังกล่าว

บ้านหนองสะโนยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เช่นเป็นแหล่งศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มาตั้งแต่ปี 2542 มีคณะดูงานทั้งภายในอำเภอ จังหวัด ต่างจังหวัด ต่างประเทศ(สปป.ลาว) โดยเฉพาะประเทศลาวจะมาศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และการบริหารจัดการของกลุ่มเกษตรทั่วไป รวมถึงนาแปลงใหญ่ เป็นต้น หลังจากศึกษาดูงานแล้ว ก็จะไปไหว้พระธาตุกอวอ วัดดอนนางหงส์ รูปทรงลังกา สูง 32 เมตร ชั้นบนสุดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับประทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (ในสมัยรัชกาลที่ 9) จำนวน 9 องค์

และได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ในรัชกาลที่ 9) พระราชทานนาม กว. ประดิษฐานบนพระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ โดย ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จฯ มาทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และอัญเชิญพระนาม กว. ประดิษฐาน ณ วัดดอนนางหส์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2551 สำหรับวัดดอนนางหงส์ สร้างขึ้นในปี 2300 รัชสมัยพระบรมราชากู่แก้ว แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน