X

อดีตผู้บริหาร ม.นครพนม อหังการ์ !! ล๊อบบี้คณาจารย์ชี้นำเลือกกรรมการสภาฯ

นครพนม – อดีตผู้บริหาร ม.นครพนม อหังการ์ !! ล๊อบบี้คณาจารย์ชี้นำเลือกกรรมการสภาฯ ขู่ใครไม่เชื่อจะกลับมาเช็คบิล

สืบเนื่องจากกรณี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งที่ 103/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 อาศัยตามความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม(นายกสภา มนพ.) และคณะกรรมการสภาฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด พร้อมแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม โดยคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย 1.นายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานกรรมการ 2.รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 3.รศ.เจษฏ์ โทณะวณิก 4.รศ.กำจร ตติยกวี 5.รศ.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย และ 6.นางอรสา ภาววิมล เป็นกรรมการ รวม 6 คน

นับจากคำสั่งดังกล่าวออกและมีผลบังคับใช้ ถึง ณ วันนี้ก็เป็นเวลา 11 เดือน คณะบุคคลได้แก้ไขระเบียบข้อบังคับใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ที่ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการระดับคณะ สถาบัน สำนัก และหัวหน้าส่วนที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเท่าเทียมคณะ เสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภา มนพ.  ส่วนราชการละไม่เกิน  2 ชื่อ,กรรมการสภา มนพ. เสนอชื่อคนละ 1 ชื่อ และสภาคณาจารย์ ข้าราชการ เสนอชื่อละไม่เกิน 2 ชื่อ

ต่อมา นายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานคณะบุคคลฯ ได้ลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ให้มีการเลือกตั้งกรรมการสภา มนพ. ประเภทคณาจารย์ประจำ โดยกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นคณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย และมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ต่ำกว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือไม่ต่ำกว่าตำแหน่งครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ หรือไม่ต่ำกว่าตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ(ด้านการสอน) ระดับชำนาญการพิเศษ หรือได้ทำหน้าที่สอนในมหาวิทยาลัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี,ไม่ตำแหน่งตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัย,ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง หรือไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง เป็นต้น โดยจะมีการเลือกตั้งในวันอังคารที่ 23 มีนาคมที่จะถึงนี้ เวลา 09.00-13.00 น. ณ หน่วยเลือกตั้งประจำคณะ/วิทยาลัย 1 สิทธิ์เลือกได้ไม่เกิน 3 หมายเลข ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 9 คน

ปรากฏว่ามีอดีตผู้บริหารรายหนึ่ง ได้ส่งคนของตนเข้าสมัครด้วย ถึงขั้นลงมาเล่นด้วยตนเอง ชี้นำแกมข่มขู่บุคลากรว่าต้องเลือกคนที่ตนส่งเท่านั้น พร้อมคุยโวว่าคดีฟ้องร้องต่างๆเคลียร์หมดแล้ว และอีกไม่นานพรรคพวกที่เป็นกรรมการสภาฯ ก็จะเสนอชื่อเข้ามาเป็นผู้บริหารดังเดิม หรือหากติดขัดในระเบียบข้อบังคับ ก็จะส่งร่างทรงเข้ามาแทน จากนั้นก็จะลุยเช็คบิลบุคลากรที่ไม่สวามิภักดิ์ ถึงขั้นให้พักหรือออกจากราชการ เหมือนที่เคยกระทำมาแล้วในช่วงเรืองอำนาจ ซึ่งอดีตผู้บริหารรายนี้ เกรงว่ากลุ่มคณาจารย์จะไม่ลงคะแนนให้คนของตน จึงสั่งให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในคูหาด้วย แล้วถ่ายเบอร์ที่กาบาทส่งไปให้ดูเพื่อยืนยันเป็นหลักฐาน การกระทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายคุกคามสิทธิเสรีภาพของกลุ่มคณาจารย์  แต่จะรอดูว่าคณะบุคคลมีคำสั่งอะไรออกมาแก้ไขเรื่องนี้

ทั้งนี้ สภามหาวิทยาลัยนครพนม  มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย อำนาจที่ว่านี้รวมถึงการออกข้อบังคับเพื่อใช้ในการบริหารงานของมหาวิทยาลัย การสรรหาผู้บริหาร การพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ การพิจารณาแผนงบประมาณ และกำหนดทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เหมาะสมกับบริบทอย่างยั่งยืน เป็นต้น

สภามหาวิทยาลัยฯประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และตัวแทนคณาจารย์ ซึ่งในครั้งนี้ตัวแทนคณาจารย์ เป็นระบบเลือกตั้งทางตรง เพื่อป้องกันข้อครหาที่เคยมีในอดีต ว่า ฝ่ายบริหารเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง ทำให้การถ่วงดุลของสภามหาวิทยาลัยฯมีปัญหา รวมทั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เสนอแนวคิดแนวทาง ในการควบคุมดูแลกิจการของมหาวิทยาลัย

ดังนั้นตัวแทนคณาจารย์ ในสภา จึงควรมีความเป็นอิสระ ที่นำเสนอข้อมูล และสะท้อนความจริง ตลอดจนปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายรวมถึง สวัสดิการ สวัสดิภาพ ความก้าวหน้าของบุคลากรทุกฝ่าย และการสร้างคุณภาพการศึกษา คุณภาพผู้สำเร็จการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยนครพนม  ตัวแทนคณาจารย์ในสภาฯ จึงไม่ใช่ทั้งฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นตัวแทนคณาจารย์ซึ่งเป็นคนภายในที่ต้องมีอิสระในการสะท้อนข้อเท็จจริง เป็นเหตุเป็นผล สมเหตุผลในประเด็นต่างๆในที่ประชุม สนับสนุนในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม เพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน คัดค้านหรือแสดงความเห็นต่าง ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือยังต้องหารือให้รอบคอบรอบด้าน

ที่ผ่านมาสภามหาลัยนครพนมมีความอ่อนแอเป็นอย่างมาก ไม่ได้ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ถูกครอบงำจากบางคนบางพวกบางกลุ่ม ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมายในปัจจุบัน เช่น ปัญหาสภาพคล่อง ปัญหาเงินคงคลัง ปัญหาการจ่ายค่าตอบแทนของพนักงานมหาวิทยาลัย ปัญหาการสรรหาและบรรจุแต่งตั้งบุคลากร หรือโยกย้ายตามอำเภอใจ  ปัญหาการนำเงินงบประมาณไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตามแผนงบประมาณ ไม่คำนึงถึงสถานะภาพหน่วยงาน ไม่คำนึงถึงความมั่นคงในอนาคตของมหาวิทยาลัย อีกทั้งการจัดหาครุภัณฑ์สิ่งก่อสร้าง ที่เกินสัดส่วนที่เหมาะสมเกินความจำเป็น ทำให้งบดำเนินงานมีปัญหา เพราะต้องนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยไปสมทบสิ่งก่อสร้าง  ทำให้มหาวิทยาลัยขาดสภาพคล่อง  บางหน่วยงานถึงขนาดไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน  ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข เมื่อสภาฯมีธรรมาภิบาล กรรมการทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างอิสระ ตัวแทนคณาจารย์จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องมีส่วนในการผลักดัน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งจะช่วยควบคุมดูแลการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สภามหาวิทยาลัยฯ ที่ประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และตัวแทนคณาจารย์  ซึ่งอุบอิบเลือกไปนั่งรอแล้ว 3 คน ล้วนเป็นข้าเก่าเต่าเลี้ยงของอดีตผู้บริหารฉาวทั้งสิ้น  คนหนึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว อีกสองคนเป็นสินค้ามีตำหนิ เนื่องจากการเลือกตั้งกรรมการสภา ประเภทตัวแทนผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารเลือกกันเองนั้น มีหลายคณะที่เป็นคณะใหญ่ๆ ในมหาวิทยาลัย ไม่มีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้ง เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้รักษาการ ทำให้ตัวแทนที่ได้รับเลือกเป็นเพียงคณะเล็กๆ ที่จัดตั้งโดยสภาฯ มิใช่หน่วยงานตาม พรบ.มหาวิทยาลัยนครพนม กับ วิทยาลัยรอบนอกแห่งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองคนเป็นลิ่วล้อ ที่อดีตผู้บริหารสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้ทันที

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน