X

คณะบุคคลตะเกียงไส้ขาด นักเรียนการบินหวั่น ปัญหาใน ม.นครพนมส่งผลให้เรียนไม่จบ

นครพนม – คณะบุคคลตะเกียงไส้ขาด นักเรียนการบินหวั่น ปัญหาใน ม.นครพนมส่งผลให้เรียนไม่จบ อดีตผู้ก่อตั้งดาหน้าฉะอดีตผู้บริหาร ต้นเหตุทำ ว.การบินฯขาดสภาพคล่อง

หลังจากมีคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ในขณะนั้น  ประกอบด้วย 1.นายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานกรรมการ 2.รศ.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ 3.รศ.เจษฏ์ โทณะวณิก 4.รศ.กำจร ตติยกวี 5.รศ.กิตติชัย ไตรรัตน์ศิริชัย และ 6.นางอรสา ภาววิมล เป็นกรรมการ รวม 6 คน โดยปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ 103/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563  ตามความในมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และคณะกรรมการสภาฯ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน พ้นจากตำแหน่งทั้งหมด พร้อมแต่งตั้งคณะบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม

ทั้งนี้คณะบุคคลได้เข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม(มนพ.) เกือบจะครบ 1 ปี  ปัญหาที่อดีตผู้บริหารพร้อมกับพวกร่วมกันก่อไว้ก็ยังไม่คลี่คลาย  คณะบุคคลยังได้นำผู้มีส่วนรู้เห็นในการทำให้ มนพ.เกิดปัญหายืดเยื้อซึ่งล้วนเป็นลูกน้องเก่าของอดีตผู้บริหาร มานั่งอยู่ในตำแหน่งสำคัญครบถ้วนหน้า  จึงเกิดคำถามว่าคณะบุคคลเข้ามาเพื่ออะไร

จากนั้นคณะบุคคลที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อแก้ไข ได้แต่งตั้งลูกน้องเก่าอดีตผู้บริหารเป็นอนุกรรมการเข้าไปตรวจสอบวิทยาลัยในเครือ มนพ. อ้างเพื่อนำปัญหามาปรับปรุงแก้ไข ปรากฏว่าวิทยาลัยการบินนานาชาติ(ว.การบินฯ) ส่วนงานของ มนพ. กลายเป็นแพะรับบาปรายแรก ที่ถูกคณะอนุกรรมการเสนอความเห็นชอบให้ยุบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ว.การบินฯ เป็นหน่วยงานระดับต้นๆที่ทำเงินให้ มนพ.อย่างเป็นกอบเป็นกำ กระทั่งสายการบินหลักยังการันตี ว่า เป็นสถาบันการบินที่มีคณาจารย์มากความสามารถอยู่รวมกันจำนวนมาก

ทั้งหลายทั้งปวงปัญหาใน ว.การบินฯ เกิดจากการที่นำคนไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมานั่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและขาดธรรมาภิบาล นำเงินไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นรวมๆแล้วเกือบ 100 ล้านบาทจนขาดสภาพคล่อง แล้วโยนผิดให้บุคลากร ว.การบินฯ

หลัง รมว.อว. เซ็ทซีโร่ (set zero) อดีตผู้บริหารยกชุด กลุ่มคณาจารย์จึงเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ต่างฝากความหวังไว้กับคณะบุคคลทั้ง 6 คน แต่นานวันเข้าเหมือนตะเกียงไส้ขาด การจะเห็น มนพ.มาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเหมือนอดีตเริ่มริบหรี่

ผลจากการที่ ว.การบินฯ ถูกนำเงินไปใช้จนขาดสภาพคล่อง อดีตลูกน้องเก่าผู้บริหารก็เสนอยุบ เหมือนเป็นการล้างผิดให้ลูกพี่ไปในตัว บุคลากร ว.การบินฯจึงลุกฮือต่อต้านค้านการยุบทันที และยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยังศูนย์ดำรงธรรมฯ พร้อมทั้งนายแพทย์ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (ส.ส.นครพนม 13 สมัย) นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย/รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม เขต 2 พรรคเพื่อไทย และ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม เขต 4 พรรคเพื่อไทย

ต่อมานายสุเมธ แย้มนุ่น ประธานกรรมการ ได้ไปยืนยันต่อหน้า ส.ส.ทั้ง 4 ท่านที่สภาฯ ว่า จะไม่มีการยุบ ว.การบินฯอย่างแน่นอน โดยจะนำเข้าแผนฟื้นฟูเหมือนบริษัทการบินไทย ถึงกระนั้นบุคลากร ว.การบินฯ ก็ไม่เชื่อเสียทั้งหมด เพราะล่าสุดวันที่ 1 มีนาคม 2564 คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเป็นมติว่า เห็นควรปรับโครงสร้างและลดขนาดพร้อมลดจำนวนบุคลากรลง โดยอ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและค่าตอบแทน ส่วนคนที่อยู่ก็จะต้องลดเงินเดือนในอัตราร้อยละ 50 หรือมากกว่าจากฐานเงินเดือนเดิม  ทั้งนี้การปรับลดบุคลากรอาจใช้วิธีจับฉลากออก

กลุ่มบุคลากร ว.การบินฯ จึงรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะบุคคลต่อ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ อีกครั้ง โดยเห็นว่ามติที่ประชุมไม่เป็นธรรมกับบุคลากร และเป็นมติที่สั่งการโดยไม่มีการเชิญตัวแทน ว.การบินฯ ที่ได้รับผลกระทบที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และเป็นการขัดต่อคู่มือการฝึกอบรมด้านการบิน ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และระเบียบ ข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และไม่เป็นไปตามแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดนครพนม สมาชิกกลุ่มบุคลากร ว.การบินฯ จึงทำหนังสือคัดค้านมติดังกล่าว

นอกจากบุคลากร ว.การบินฯ จะได้รับความเดือดร้อนแล้ว ก็ยังมีนักเรียนการบิน ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุรีย์ประพัทธ์ บุนนาค ศิษย์การบินรุ่น 26 เป็นตัวแทนศิษย์การบินคงค้าง 24 คน เปิดเผยว่า “ผมเป็นศิษย์การบินรุ่นที่ 26 วันนี้มาเป็นตัวแทนศิษย์การบินคงค้างทั้งหมด 24 คน ยกตัวอย่างรุ่นของผมซึ่งเข้ามาตอนปี 2018(พ.ศ.2561)  โดยตามสัญญาแล้วผมต้องสำเร็จหลักสูตรตั้งแต่ปี 2019 แต่ในระหว่างทางจนถึงปัจจุบันนี้ มันกลายเป็นว่าด้วยสภาพของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีปัญหากันภายใน มันก็ทำให้พวกผมไม่สามารถที่จะเก็บชั่วโมงบินได้ครบเพื่อที่จะจบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดเงินค่าอะไหล่  เงินค่าน้ำมัน เงินค่าต่อประกันเครื่อง  เงินบุคลากรหรือว่าเรื่องอื่นๆที่มันเป็นเหตุจำเป็นต่อการทำการฝึกต่อเนื่อง ทำให้พวกผมถูกหยุดมาเป็นระยะๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบจากทางมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยว่าจะให้พวกผมจบช่วงไหน เพราะว่าจากปีที่แล้วที่บอกว่าเป็นธันวาคมก็ขยับมาเป็นมีนาคม ซึ่งตอนนี้ก็ถูกขยับไปแบบไม่มีกำหนด ทั้งๆที่บางคนเหลือกันแค่หลัก10ชั่วโมง มันใช้เวลาประมาณ 3-5 วันต่อคนก็หมดแล้ว

ทีนี้ก็ได้ยินข่าวมาเรื่องของการยุบตัววิทยาลัยเอง และก็จะส่งพวกผมไปทำการเรียนจบที่อื่น มันก็ยังคงเป็นคำถามอยู่ว่าทางมหาวิทยาลัยทราบถึงผลของการตัดสินใจเรื่องนี้หรือเปล่า เพราะถ้าว่าด้วยตามกฎของกรมการบินพลเรือน การย้ายพวกผมไปนั้นเท่ากับพวกผมจะถูก reset ชั่วโมงในบางช่วง อย่างบางคนมีเกือบถึง 200 ชั่วโมง อาจจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่ 40 ชั่วโมง มันจะทำให้เสียเวลามากขึ้น แลกด้วยค่าใช้จ่ายที่เขาบอกว่าเขาสามารถที่จะซัพพอร์ตตรงนี้ได้ มันเป็นจริงหรือเปล่า หรือพวกผมต้องเสียเงินเพิ่มอีก เพราะทุกวันนี้ น้องๆศิษย์การบินบางคนก็มาด้วยเงินกู้บวกกับความตั้งใจของตัวเองมาเรียนที่นี่ และหลายๆคนสภาพคล่องทางครอบครัวก็ไม่ค่อยดีแล้วสภาพคล่องทางการเงินก็เริ่มมีปัญหาแล้ว หลังจากที่มันถูกล่าช้ามาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี”

ด้านนายอรรถสิทธิ์ ทรัพยสิทธิ์ อดีต ส.ส.นครพนม 7 สมัย ได้กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยนครพนม และวิทยาลัยการบินนครพนมคนหนึ่ง และในฐานะที่เป็นคนนครพนม ได้ทราบข่าวด้วยความไม่สบายใจว่า ทำไมจะต้องยุบวิทยาลัยการบินนานาชาติ ในฐานะที่เป็นคนนครพนมก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ปัญหาอะไรที่มีอยู่ก็ควรแก้ไข ไม่ใช่แก้ไขด้วยการยุบ แก้ไขด้วยการทำยังไงให้วิทยาลัยการบินอยู่ต่อไป ที่จะเป็นหน้าเป็นตาเป็นหลักคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยนครพนม เพราะฉะนั้นแล้วในฐานะคนนครพนมก็ขอเป็นกำลังใจและให้กำลังใจคณาจารย์และเจ้าหน้าที่และก็ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะยุบวิทยาลัยการบิน”

ขณะที่นายเรืองชัย วงศ์อุระ อดีตกรรมการสภา มนพ.รุ่นก่อตั้ง,อดีตคณะกรรมการวิชาการ มนพ.รุ่น 1,อดีตคณบดีสถาบันต่างๆ มนพ.รุ่น 1 และ ผอ.สำนักวิทยบริการ มนพ.ฯลฯ กล่าวว่า  “ผมขอบอกเลยว่าคณะบุคคลที่ตั้งมาเป็นรักษาการสภานี้ไม่สามารถดำเนินการใดๆได้เลย เพราะเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนท้องถิ่น ไม่ใช่คนที่รู้ปัญหาของ ม.นครพนมเป็นคนอยู่ทางไกล เดือนนึงมาครั้งหนึ่ง ปีนึงมาครั้งหนึ่ง มาพูดแล้วก็กลับทำอะไรไม่ได้ ต้องแต่งตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถคนที่รู้จักปัญหาของ ม.นครพนมเพื่อที่จะเข้าไปแก้ไขด้านบุคลากร ด้านการเงิน

ที่ผ่านมานั้นมีปัญหาอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการที่ 1  การบริหารบุคลากรในสำนักงานการบิน มีการเล่นพรรคเล่นพวก ตั้งคนของตนเองเข้ามา ครั้งสุดท้ายที่สามารถหักงบประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์ได้ เอาเพราะตั้งคนของตัวเองเข้ามา ถ้าคณบดีเห็นชอบก็จบ เพราะเป็นคนที่เขาแต่งตั้งเข้ามา ประการที่ 2 เรื่องการใช้เงิน การใช้เงินในวิทยาลัยการบินเป็นสถาบันการศึกษาที่มีงบประมาณสะสมเหลือมากที่สุด เพราะเขาเหล่านั้นมีรายได้จากการฝึกบิน มีรายได้จากรัฐบาลให้มา ดังนั้นมันจึงเป็นอาหารอันโอชะของนักบริหารมหาลัยรุ่นหลังๆ  แต่พี่น้องวิทยาลัยการบินก็ทำอะไรไม่ได้เพราะว่าคณบดีในคณะนั้นเห็นชอบกับพวกเขา เพราะตั้งกันมาโดยตรง และผมเชื่อว่าถ้าการบริหารงบประมาณ บริหารบุคคลเป็นแบบในขณะนี้ จะไม่สามารถประคับประคองหน่วยงานต่างๆใน ม.นครพนมได้และจะสูญสลายในที่สุด”

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน