X

พ่อเมืองนครพนม ถวายเครื่องราชสักการะแด่ในหลวง ร. 9 พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

นครพนม – พ่อเมืองนครพนม ถวายเครื่องราชสักการะแด่ในหลวง ร. 9 พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ

วันที่ 2 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมศรีโคตรบูรณ์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี มหาวิทยาลัยนครพนม ชุมชนหนองบึกทุ่ง เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายสุชัย พงศ์พัฒนพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ได้รับเกียรติจาก นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยมีผู้แทนหน่วยงานราชการ ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ร่วมในพิธีอย่างคับคั่ง

ทั้งนี้นายสุชัย พงศ์พัฒนพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม เปิดเผยว่ากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานนครพนม ดำเนินการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประจำปี 2564 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยจัดพิธีถวายเครื่องราชสักการะแด่พระองค์ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย และทรงพระปรีชาสามารถทางด้านช่าง ในฐานะพระบิดาแห่งมาตรฐานช่างไทย
นอกจากนี้ในบริเวณงาน มีซุ้มนิทรรศการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านช่างของพระองค์ท่าน ในฐานะพระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

สืบเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ 2 มีนาคม 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ ณ ลุมพินีสถาน และทรงได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการช่างไทย ความตอนหนึ่งว่า

“ช่างทุกประเภทเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของบ้านเมืองและของคนทุกคนเพราะตลอดชีวิตของคนเรา เราต้องอาศัยและใช้บริการสิ่งต่างๆที่ได้มาจากฝีมือของช่างอยู่ทุกวี่ทุกวัน ผู้เป็นช่างจึงสมควรได้รับความเอาใจใส่สนับสนุนจากทุกๆฝ่าย ยิ่งในสมัยปัจจุบันวิทยาการทุกอย่างเจริญก้าวหน้า ยิ่งจำเป็นต้องส่งเสริมมากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ช่างที่มีความสามารถสูง ให้มีสิ่งใช้สอยที่มีคุณภาพดีและเพียงพอกับความต้องการ ในการส่งเสริมนั้นมีปัญหาอันควรจะได้พิจารณาช่วยเหลืออยู่ 3 ประการ ประการแรก ได้แก่ปัญหาเรื่องการให้ความรู้ทางหลักวิทยาการ และความรู้ทางการออกแบบ ประการที่สอง ได้แก่ปัญหาเรื่องฝีมือ ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้มีความประณีตและประสิทธิภาพและได้มาตรฐานจริงๆ ประการที่ 3 ได้แก่ ปัญหาเรื่องการจัดหางานและหาตลาดเพื่อช่วยให้ช่างได้มีงานทำ มีตลาดที่จะส่งสินค้าที่ผลิตได้ไปจำหน่าย การช่วยเหลือทั้งสามประการนี้ จะต้องกระทำให้สอดคล้องกันไป เพื่อให้ช่างมีรายได้และผลกำไรสำหรับนำมาเป็นทุนรอน สร้างฐานะและความก้าวหน้า ข้าพเจ้าใคร่ขอฝากความคิดครั้งนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติของท่านทั้งหลายต่อไป”

จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนั้น แสดงให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกล ที่ทรงมีบทบาทต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย ให้ได้มาตรฐานสากลตราบจนถึงปัจจุบันนี้ แม้เวลาจะผ่านมาถึงกว่า 50 ปีแล้วก็ยังคงทันสมัยอยู่

ทั้งนี้ ก็ด้วยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสนพระราชหฤทัยในงานช่างตั้งแต่ครั้งยังทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากมีบันทึกว่าหากพระองค์ทรงอยากจะได้ของเล่นชิ้นใด ต้องทรงเก็บสตางค์ซื้อเองหรือทรงประดิษฐ์ขึ้นมาเอง โดยในครั้งทรงพระเยาว์พระองค์ได้ทรงประดิษฐ์ของเล่นด้วยพระองค์เอง อาทิ เครื่องร่อน เรือรถจำลอง และรถลากไม้ พระอัจฉริยภาพในการทรงเป็นนักประดิษฐ์ และนักการช่างของพระองค์ ทรงมีพื้นฐานมาจากการประดิษฐ์ของเล่นสมัยทรงพระเยาว์นั้นเอง

และในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการถวายพระราชสมัญญา”พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 2 มีนาคมของทุกปี เป็น”วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และทรงพระปรีชาสามารถด้านการช่าง รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน