X

ผลสอบข้อเท็จจริง ชี้ชัดโยกงบประมาณ ว.การบินฯ ผิดกฎหมาย

นครพนม – ผลสอบข้อเท็จจริง ชี้ชัดโยกงบประมาณ ว.การบินฯ ผิดกฎหมาย ขณะที่ประชาคม  ม.นครพนม เรียกร้องให้เยียวยา พร้อมนำคนผิดมาลงโทษ

จากกรณีที่ รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม(รก.อธก.มนพ.) ได้เปิดแถลงข่าวถึงประเด็นปัญหาของวิทยาลัยการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยนครพนม ( ว.การบินฯ) โดยยอมรับกลางวงว่ามีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาถึงแนวทางการดำเนินการต่อไปของ ว.การบินฯ ว่าจะอยู่ต่อหรือจะต้องหยุดการดำเนินการ

สาเหตุเนื่องจาก มีการกล่าวอ้างว่า ว.การบินฯ บริหารงานล้มเหลว โดยมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย และล่าสุดไม่มีแม้กระทั่งเงินที่จะจ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลากร โดย รก.อธก.มนพ. ระบุว่ามีเงินสะสมติดลบถึง 55 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริหาร ว.การบินฯโดย พล.อ.อ. วรฉัตร ธารีฉัตร อดีตคณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ ได้มีหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษอดีตผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนมและคณะผู้บริหาร ม.นครพนม (ในขณะนั้น) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบและผิดระเบียบของทางราชการ  โดยกระทรวง อว.ได้ส่งให้สภามหาวิทยาลัยนครพนม ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งที่ 007/2563 ลงวันที่ 19 มกราคม 2563 มี รองศาสตราจารย์ ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ เป็นประธานกรรมการ สอบสวนข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการได้กำหนดประเด็นจากหนังสือร้องเรียน แยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การดำเนินการประเมินผลการดำเนินการบริหารงานของคณบดี ว.การบินฯเป็นไปโดยชอบหรือไม่

ประเด็นที่  2  กรณีการหักเงินสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยนครพนม เป็นไปตามระเบียบของมหาวิทยาลัยนครพนม ว่าด้วยวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ. 2550 หรือไม่

ประเด็นที่ 3 กรณีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณแผ่นดินของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ชอบด้วยกฎระเบียบและกฎหมายหรือไม่

ประเด็นที่ 4 กรณีมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ 1031/2562 เรื่องยกเลิกการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบ และการมอบอำนาจปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี และคำสั่งมหาวิทยาลัยนครพนมที่ 1032/2562 เรื่องให้ยุติโครงการกิจกรรมของวิทยาลัยการบินนานาชาติ ว่าชอบด้วยกฎหมาย และหรือมีอำนาจสามารถกระทำได้หรือไม่

โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบด้วย 1. รศ.ดร.สมนึก ธีระกุลพิศุทธิ์ เป็นประธานกรรมการ 2.รศ.ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ เป็นกรรมการ และ 3. ร.ศ.ดร.พิทยา จารุพูนผล เป็นกรรมการ โดยหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้รวบรวมข้อเท็จจริง เอกสาร พยานหลักฐานตามประเด็นการตรวจสอบแล้วมีความเห็นเป็นรายประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณีการตั้งคณะกรรมการประเมินผลการบริหารงานของคณบดี ว.การบินฯ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นสรุปว่า 1.ในการประเมินผลการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนมทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการประเมินผลการบริหารงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนม พ.ศ. 2562 แต่ในการประเมินผลการบริหารงานของคณบดีวิทยาลัยการบินนานาชาติ ไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่ทำการประเมินเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายย่อมส่งผลให้กระบวนการดำเนินการประเมินของคณะกรรมการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

ประเด็นที่ 2 กรณีการหักเงินสนับสนุนการบริหารมหาวิทยาลัยนครพนมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการเงินการบัญชีและการงบประมาณเงินรายได้ของวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ. 2551โดย ว.การบินฯได้ถูกหักงบประมาณไปจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 45 ทำให้มีอันเป็นเหตุให้ ว.การบินฯขาดสภาพคล่องในการบริหารงาน ซึ่งคณะกรรการตรวจสอบข้อเท็จจริงพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าการที่กรรมการบริหาร ม.นครพนมมีมติให้หักเงินรายได้ของ ว.การบินฯ จาก 10 เปอร์เซนต์เป็น 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมติดังกล่าวขัดกับระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการเงินการบัญชีและการงบประมาณเงินรายได้ของวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ. 2551 การดำเนินการของมหาวิทยาลัยนครพนมจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 3 กรณีเปลี่ยนแปลงงบประมาณแผ่นดินของ ว .การบินฯ โดยเหตุเกิดจากการที่สำนักงานอธิการบดีโดยความเห็นชอบของอธิการบดีได้มีการเปลี่ยนแปลงหมวดเงินโดยมีการโอนงบประมาณรายจ่ายบุคคลากรมาเป็นค่าจ้างให้แก่บริษัทที่เป็นผู้รับจ้างเหมารักษาความปลอกภัย และจ้างทำความสะอาด นอกจากนั้นสำนักงานอธิการบดี ม.นครพนม จัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้กับ ว.การบินฯ น้อยกว่าจำนวนเงินที่ได้รับจากสำนักงบประมาณ คณะกรรมการพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นดังนี้

1.การที่ผู้บริหาร ม.นครพนมนำเงินนำเงินอุดหนุนโครงการหลักสูตรวิทยาลัยการบินนานาชาติ ไปจัดสรรให้กับหน่วยงานอื่นโดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นส่วนงานภายในที่จะต้องดำเนินงานจากเงินรายได้ของหน่วยงานนั้นถือว่าเป็นการกระทำผิดตามประกาศคณะกรรมการอุดมศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์การจัดตั้งส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2555 ข้อ 3

2.จากการตรวจสอบพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึงปี 2559  ว.การบินฯ ไม่เคยประสบปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่ครั้งพอถึงปี พ.ศ. 2560 ถึง ปี 2562 หลังจากที่ถูกผู้บริหาร ม.นครพนมนำเงินอุดหนุนไปจัดสรรให้กับหน่วยงานอื่นภายใต้สังกัดมหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในการบริหารที่ไม่ถูกต้องขัดกับ พรบ.งบประมาณ ปี 2502 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปี 2543 และระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปี 2557 เนื่องเพราะเงินอุดหนุนโครงการหลักสูตรวิทยาลัยการบินนานาชาติถือเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายที่สำนักงบประมาณอนุมัติให้ตามภารกิจของหน่วยงาน

3.การบริหารงบประมาณของผู้บริหารม.นครพนม ในการโยกย้ายงบประมาณที่ได้มามิใช่เป็นการบริหารงบประมาณที่เหลือจ่ายหรือเป็นการโอนย้ายงบประมาณในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตามอำนาจที่มีเท่านั้น ซึ่งผู้บริหาร ม.นครพนมไม่สามารถนำเงินงบประมาณของ ว.การบินฯ ที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ขอมาไปจัดสรรให้หน่วยงานอื่นในสังกัดได้และถือว่าเป็นการตัดงบประมาณแบบต้นทาง โดยที่ ว.การบินฯไม่ได้รับทราบข้อมูลงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับ ซึ่งผู้บริหารม.นครพนมชุดก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ดำเนินการเช่นนี้แต่อย่างใด ซึ่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอนของ ว.การบินฯ เป็นอย่างมาก เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากผู้บริหาร ม.นครพนมน้อยกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณจนส่งผลให้ ว.การบินฯ ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ได้

4. การที่ ผู้บริหาร ม.นครพนมดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่าย โดยไม่ได้ทำข้อตกลงกับสำนักงบประมาณ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณพ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการกระทำผิดระเบียบที่พึงปฏิบัติ จึงเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งว่าการกระทำของผู้บริหาร ม.นครพนมอาจเข้าข่ายกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย และคณะกรรมการยังมีความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่าข้อมูลบางประเด็นที่จะต้องนำมาพิจารณานั้นไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นคำขอ งบประมาณ รายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานที่รับโอนงบประมาณ ว.การบินฯ ไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาเรื่องนี้

ประเด็นที่ 4 กรณี ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก อดีตรักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนม ได้ลงนามในหนังสือคำสั่งมหาวิทยาลัยนครพนมที่ 1031/2562 และ1032/2562 ลงวันที่14 พฤษภาคม 2562 เรื่องให้ยกเลิกการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบและการมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี และเรื่องขอให้ยุติโครงการกิจกรรมของวิทยาลัยการบินนานาชาติ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่าตามระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยวิทยาลัยการบินนานาชาติ พ.ศ. 2550 ข้อ 8 พบว่าผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการทั้งปวงของ ว .การบินฯ คือ คณะกรรมการอำนวยการวิทยาลัยการบินนานาชาติ โดยผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยนครพนม หาใช่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอธิการบดีแต่เพียงผู้เดียวไม่ ดังนั้นหากผู้บริหาร ม.นครพนมจำเป็นต้องมีคำสั่งหรือมติใด เกี่ยวกับการบริหารงานของ ว .การบินฯ  จะต้องเป็นคำสั่งที่เป็นไปตามมติหรือโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการและสภามหาวิทยาลัยนครพนม มิใช่เป็นการดำเนินการของอธิการบดีแต่เพียงผู้เดียว การที่ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก รักษาราชการแทนอธิการบดี ม.นครพนมออกหนังสือคำสั่งทั้งสองนั้น เป็นการออกคำสั่งที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ เนื่องจากออกโดยไม่มีอำนาจ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วพบว่า การที่ ว.การบินฯมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายนั้น แท้จริงแล้วอาจมีสาเหตุมาจากการบริหารงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาดประสิทธิผลไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนมเอง โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในช่วงการบริหารงานของ ผศ.ดร.พัฒนพงษ์ วันจันทึก  รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ได้มีการโอนเงินหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย งบอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนโครงการหลักสูตรวิทยาลัยการบินนานาชาติ โดยได้นำเงินงบประมาณบางส่วนไปจัดสรรให้กับหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัยนครพนม ทำให้ ว.การบินฯ ได้รับงบประมาณน้อยลง และเมื่อรายได้น้อยลงย่อมส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้

การที่ผู้บริหาร ม.นครพนมได้หักเงินรายได้ของ ว.การบินฯ เพื่อสมทบเป็

นเงินรายได้ส่วนกลางของมหาวิทยาลัยในอัตรา ร้อยละ 20 นอกจากนั้นยังหักเงินคงคลังของ ว.การบินฯ ในอัตราร้อยละ 20  สบทบเข้ากองทุนพัฒนาบุคลากรในอัตราร้อยละ 3 และสมทบกองทุนวิจัยอีกในอัตราร้อยละ 2 ซึ่งการหักเงินรายได้ในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามข้อ 12 วรรค 3 แห่งระเบียบมหาวิทยาลัยนครพนมว่าด้วยการเงินการบัญชีและการงบประมาณเงินรายได้ของ ว.การบินฯ พ.ศ. 2551ที่กำหนดให้สามารถหักได้เพียงร้อยละ 10  เท่านั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลกระทบให้ ว.การบินฯ ประสบปัญหามีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ด้านนายวัชรินทร์ เจียวิริยบุญญา อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนมตัวแทนภาคประชาสังคม ม.นครพนม ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้เห็นว่าคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยนครพนมที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในขณะที่มีการนำเงินงบประมาณของ ว.การบินฯไปใช้กับหน่วยงานอื่นนั้น จะต้องถูกสอบสวนดำเนินคดี เนื่องจากได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ เป็นเหตุให้ ว.การบินฯ ขาดสภาพคล่องไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้  ตนจึงอยากเรียกร้องให้คณะบุคคลที่เข้ามาควบคุมกิจการของ ม.นครพนมอยู่ในขณะนี้ ให้เร่งหาเงินมาเยียวยา ว.การบินฯ ให้สามารถเดินต่อไปได้ พร้อมทั้งให้เร่งดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวทันที ทำไมจึงปล่อยให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังลอยนวลอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ และครอบครองเอกสารหลักฐานทางการเงินอยู่ การที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันออกมาแอ่นอกรับว่าการโยกงบประมาณของ ว.การบินไปให้หน่วยงานอื่น น่าจะเป็นไปอย่างถูกต้องนั้น ขอให้กลับไปดูรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงของกรรมการชุดนี้เสียก่อน  ซึ่งตนจะส่งเรื่องนี้ให้ สตง.เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของผู้บริหารชุดก่อนอย่างแน่นอน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน