X

ตะลุยบ้าน เผ่าไทกะเลิง โดดเด่นงานฝีมือทอผ้า ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

นครพนม – วันที่ 5 พ.ย.61 เวลา 15.00 น. บริเวณวัดสระพังทอง ต.หนองสังข์ อ.นาแก จ.นครพนม นอกจากจะเป็นวัดเก่าประจำหมู่บ้านแล้ว ยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชนเผ่าไทกะเลิง นายอุทิศ สังข์ชาลี กำนัน ต.หนองสังข์ นายศิริพงษ์ เหง้าสุวรรณ  ปราชญ์ชาวบ้าน และ นายสมิง วงศ์หลวงอุด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอนาแก(พ.ช.นาแก)  กล่าวต้อนรับ น.ส.จิราพร ทิพย์พิมล ปลัดอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอนาแก และคณะนักท่องเที่ยวผู้มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้านของชนเผ่าไทกะเลิงแห่งนี้  ในพิธีเปิด “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP village 8 เส้นทาง)”

รักษาการราขการแทน พช.นาแกกล่าวว่า ด้วยรัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็ง ส่งผลประชาชนในชุมชนมีความรักสามัคคีกลมเกลียว จึงเกิดการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวฯ รวม  8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน โดยให้จัดอยู่บนพื้นฐานของอัตลักษณ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น คงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของคนในชุมชน และทรัพยากรที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เพื่อสร้างเป็นรายได้แก่ประชาชนท้องถิ่นนั้นๆ

และที่สำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP village) จำนวน 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน จำเป็นต้องสร้างความเป็นต้นแบบ การพัฒนาและสร้างการเชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวกับโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดรายได้จากคนในชุมชน

จังหวัดนครพนมจึงได้จัดทำโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว(OTOP Village) 8 เส้นทาง ในกิจกรรมเปิดหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อประกาศเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าหมู่บ้าน เกิดการสร้างรายได้ในชุมชน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 9 หมู่บ้าน จาก 7 อำเภอ ซึ่งอำเภอนาแก มีพื้นที่เป้าหมายตามโครงการคือ ตำบลหนองสังข์ เป็นหนึ่งใน 9 หมู่บ้านเป้าหมาย ที่มีกิจกรรมการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวภายในหมู่บ้าน และนำผลิตภัณฑ์ชุมชนดีเด่นจัดแสดงจำหน่าย เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ให้คนภายนอกรู้จักมากยิ่งขึ้น และเผยแพร่ความเป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าไทกะเลิง ที่มีทั้งวิถีชีวิตที่อยู่กับ ห้วย หนอง คลอง บึง ศิลปวัฒนธรรมยังคงยึดถือปฏิบัติจากบรรพบุรุษไว้อย่างเหนียวแน่น

กรมพัฒนาชุมชน สังกัดกระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นหน่วยงานแรกที่เข้ามาค้นพบ วิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบชนบท ที่ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย จัดทำยุทธศาสตร์ชุมชน ตลอดจนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาชุมชน เพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมีวิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2560-64 ว่า “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2564″ ซึ่งแต่ละชุมชนหรือชนเผ่าต่างๆในจังหวัดนครพนม ที่สำนักพัฒนาชุมชนฯนำเสนอ ล้วนมีความโดดเด่นทั้งวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวัฒนธรรมชนเผ่าไทกะเลิงมิได้ขาด สิ่งที่เป็นจุดเด่นคือผลิตภัณฑ์จากผ้า เป็นผ้าย้อมครามพื้นเมืองขนานแท้ เพราะแต่ละสีที่นำมานั้น ได้มาจากบางส่วนของต้นไม้ในป่า เช่น ราก แก่น เปลือก ต้น ผล ดอก เมล็ด ใบ เป็นต้น และรวมกลุ่มเป็นแม่บ้านหนองสังข์ทอผ้าพื้นเมือง ผลิตผ้าแต่ละชิ้นยังใช้วิธีดั้งเดิมคือทอด้วยมือ

ประวัติกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองตำบลหนองสังข์  ทอผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมสีจากธรรมชาติ ที่เป็นภูมิปัญญามาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย แต่เดิมมีการทอใช้กันในครัวเรือนเพียงอย่างเดียว จนเมื่อปี 2552 เริ่มทำเป็นการค้ามีการทำจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกบ้ ทำให้มีคนรู้จักผ้าของทางกลุ่มแม่บ้านทอผ้าหนองสังข์มากขึ้น เนื่องจากเป็นผ้าที่ทอมือขนานแท้ ผลิตจากฝ้ายและสีธรรมชาติ  ต่อมาทางหน่วยงานราชการของจังหวัดนครพนม และส่วนราชการของอำเภอนาแก เข้ามาให้คำแนะนำและให้ทางกลุ่มอนุรักษ์วิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิมนี้ไว้ ทางกลุ่มแม่บ้านสตรีฯจึงได้มีการทอผ้าเพื่อจำหน่ายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ส่วนบรรพบุรุษชนเผ่าไทกะเลิง อพยพมาจากเมืองเวียงอ่างคำ แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว แรกเริ่มข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากที่บ้านหนองหล่ม อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ต่อมาได้พายเรือทวนน้ำมาจนถึงลำน้ำก่ำที่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร จึงพายเรือขึ้นไปเรื่อยๆ พบน้ำหนองสังข์ติดกับลำน้ำก่ำ เห็นว่าเป็นชัยภูมิดี จึงสร้างบ้านเรือนจนถึงปัจจุบัน อาหารท้องถิ่นจะมีปลาเป็นหลัก และเมนูตามฤดูกาล เช่น แกงหน่อไม้ แจ่วปลา(น้ำพริก) ลวกผัก ส่วนประเพณีวัฒนธรรม ชนเผ่าไทกะเลิงยึดถือฮีต 12 ครอง 14 เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และมีความเชื่อในเรื่องผี วิญญาณบรรพบุรุษ เช่น ผีตาแฮก ผี ป่า ผีเขา ผีโพน ผีต้นไม้ใหญ่ และหลักบ้าน(ศาลปู่ตา) มเหศักดิ์ ชนเผ่าไทกะเลิงนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ มีภูมิปัญญาด้านการปลูกฝ้าย ทำผ้าฝ้ายเป็นเครื่องนุ่งห่ม เย็บปักถักร้อยเป็นผ้ามัดหมี่ การนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาเป็นสีย้อมผ้า เป็นต้น อีกทั้งพิธีกรรมที่ใช้ในการรักษาคนป่วย เช่น พิธีหมอเหยา  จนทำให้ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยอาการต่างๆหายเป็นปกติ ดังนั้นจึงเป็นวัฒนธรรม ประเพณีที่ควรสืบทอดต่อคนรุ่นต่อไป เพื่อให้ดำรงไว้ และนำไปใช้ประโยชน์ เกิดรายได้ ทำให้ก่อเกิดแก่ชุมชนและเป็นการสืบทอดวิถีภูมิปัญญาด้านต่างๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน