X

ผู้ว่าฯนครพนม หวั่นประเพณีโบราณอีสานเลือนลับ ชู”ธุง”พิธีกรรมครั้งบรรพกาล ประดับในงานบุญสำคัญ

นครพนม – ผู้ว่าฯนครพนม หวั่นประเพณีโบราณอีสานเลือนลับ ชู”ธุง”พิธีกรรมครั้งบรรพกาล ประดับในงานบุญสำคัญ ป้องกันสิ่งชั่วร้าย รับอานิสงส์กุศลดีเข้าชีวิต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายไกรสร กองฉลาด ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ก็เดินทางไปพบปะกับพี่น้องประชาชนทั้ง 12 อำเภอ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและปัญหาต่างๆจากชุมชน พร้อมทราบว่าจังหวัดนครพนมมี 8 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี รักษาจารีตตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมที่คนท้องถิ่นชาวอีสานได้ประพฤติปฏิบัติสืบๆกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่ไม่สามารถแยกหรือลบเลือนไปจากวิถีชีวิตคนอีสานในสมัยก่อนได้

ฮีต 12 ก็คือประเพณี 12 เดือน เพราะเป็นประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญในทุกๆเดือน  ที่คนอีสานได้ยอมรับนับถือเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในจิตใจแทนความเชื่อดั้งเดิม และเป็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือการที่ชาวอีสานมีประเพณีทำบุญประจำทุกๆ เดือน จึงทำให้คนอีสานเป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ค่อยมีปัญหาทางด้านสังคมที่รุนแรงเกิดขึ้น และถึงแม้ชาวอีสานจะมีความทุกข์ยากแต่ก็ยังมีรอยยิ้มที่เต็มเปี่ยมด้วยความบริสุทธิ์ใจ อันนี้ก็อาจจะมาจากอานิสงส์หรือผลพลอยได้จากทำบุญนั่นเอง

ในงานบุญประเพณีของชาวอีสานจังหวัดนครพนม มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ใกล้จะเลือนหายไป คือ ธง หรือ ธุง,ทุง โดยในทางพระพุทธศานา มีการใช้ธงทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม คือเป็นผ้าที่สะบัดไป ใช้เป็นสัญลักษณ์,เครื่องหมาย,เครื่องแสดง,เครื่องสังเกต ตามนิยาม และเป็นความรู้สึกรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือสอนให้ยึดเหนี่ยวเป้าหมาย ได้แก่ ความกตัญญูรู้คุณ อันจะสร้างอานิสงส์สูงยิ่งแก่ผู้ปฏิบัติ

ผวจ.นครพนม ไม่ค่อยพบเห็นธุงในงานบุญประเพณีในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบดูแลมากนัก และหวั่นเกรงว่าในอนาคตอาจจะถูกเลือนหายไป จึงนำความไปปรึกษากับพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม/เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ก็ได้รับความเมตตาจากท่านเห็นดีด้วย ประเดิมนำร่องในงานนมัสการองค์พระธาตุพนม ในช่วงวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 21-29 มกราคม 2564โดยหลังพิธีอัญเชิญพระอุปคุตขึ้นจากแม่น้ำโขง เพื่อไปประดิษฐาน ณ พระวิหารหอพระแก้ว ภายในวัดพระธาตุพนม เรียบร้อยแล้ว ก็จะใช้พื้นที่บริเวณลานธรรมหน้าวัดพระธาตุพนมฯ ตั้งเป็นทะเลธุงที่ชาวบ้านใจแต่ละชุมชน นำมาประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศานา เมื่อยามถูกลมพัดก็จะสะบัดไหวในอากาศ  ต่อจากนั้นก็จะขยายไปในงานบุญประเพณีอื่นๆ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมตั้งแต่ครั้งพุทธกาลสืบมั่นคงต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212(ชยางกูร) สายนครพนม-มุกดาหาร บ้านศรีบุญเรืองหมู่ 11 ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งมีซากปรักหักพังของพระธาตุองค์เดิมอยู่ใกล้ๆกับพระธาตุองค์ใหม่ กล่าวกันว่าก่อสร้างหลังพระธาตุพนมเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีผู้ศรัทธานำแก้วแหวนเงินทองเตรียมไปร่วมก่อสร้างองค์พระธาตุพนม แต่ทราบข่าวว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จเรียบร้อย กลุ่มผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงร่วมกันสร้างพระธาตุขึ้นบริเวณนั้น พร้อมบรรจุสิ่งของมีค่าไว้ภายใน จึงเรียกว่าพระธาตุน้อย และล้มลงราว 200 ปีที่ผ่านมา

วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง มีพระครูวินัยธรวิวัฒน์ ญาณวฑฺฒโน อายุ 32 ปี พรรษาที่ 13 (เกียรตินิยมอันดับ 2 สาขาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อำเภอธาตุพนม) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน  เปิดเผยว่าอ่านเจอในวิชาพระพุทธศาสนา จึงเกิดความสนใจเพราะธุงนี้ไม่ใช่แค่เครื่องประดับประดาเพื่อความสวยงามอย่างเดียว มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณหลายประเภท เช่น จารึกหินสมัยสุโขทัย สมุดข่อย และใบลาน โดยปรากฏทั้งในคัมภีร์พุทธศาสนา ในวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนิทานพื้นบ้าน ทั้งในตำนานอุรังคธาตุ ฯลฯ เพราะหากศึกษาวิถีชีวิตของคนทุกยุคทุกสมัยแล้ว ธุงได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตโดยตลอด  ทั้งในฐานะเครื่องป้องกันอันตราย เป็นเครื่องสะบัดพัดดวงวิญญาณของสัตว์ให้ออกจากอบายมุขภูมิ

พระครูวินัยธรฯ กล่าวต่อว่า จึงได้ฝึกเรียนการประดิษฐ์ธุงจนชำนาญ จากนั้นจึงนำความรู้มาสอนญาติโยมจนมีความชำนาญ ปัจจุบันมีผู้สนใจสั่งให้ประดิษฐ์ธุงเข้ามาเป็นจำนวนมาก ค่าบูชามีตั้งแต่ราคา 200-1,000-1,500 บาท ออเดอร์สั่งจากจังหวัดตรังก็มี เพราะมีคติความเชื่อว่านำไปบูชาในห้องพระ หรือแขวนไว้หน้าร้านเชื่อว่าดักเงินดักทองค้าขายร่ำรวย โดยจะประดิษฐ์ธุงไปเรื่อยๆและจะประดับบริเวณรอบองค์พระธาตุน้อยกลายเป็นทะเลธุงที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครพนม ส่วนผู้ใดสนใจติดต่อได้ที่เบอร์ 084-3925455

“ธุง,ทุง” ความหมาย ความสำคัญในบริบทมรดกทางวัฒนธรรม กล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ความเชื่อของคนไทยและคนในดินแดนอุษาคเนย์ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมของผี พราหมณ์และพุทธ ที่หลอมรวมกัน คำว่า”ธง”  เป็นภาษามาตรฐานในประเทศไทย ภาคเหนือ เรียกว่า ตุง,ภาคอีสาน เรียกว่า ธุง,ชาวไทยใหญ่ เรียกว่า ตำข่อน,ประเทศเมียนม่าร์(พม่า) เรียกว่า ตะขุ่น และประเทศลาว เรียกว่า ทง หรือ ทุง

โดยภาคอีสานในอดีตจนถึงปัจจุบัน ธุงหรือทุงมีบทบาทในวิถีชีวิตวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งไม่ดีทั้งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็น ป้องกันภูตผีวิญญาณที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไป พร้อมกันนั้นยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่า มีการทำบุญและมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครอง โดยนักวิชาการได้แบ่งประเภทของธุงอีสานออกมาเป็น  6 ประเภท คือ ธุงราว ธุงไชย  ธุงสิบสองราศี  ธุงเจดีย์ทราย  ธุงไส้หมู และธุงใยแมงมุม

นอกจากพบในประเพณี พิธีกรรมแล้ว ยังพบธุงอยู่ในวรรณกรรมต่างๆทั้ง ประเภทนิทาน วรรณกรรมตำนาน วรรณกรรมคำสอนที่จารในเอกสารใบลานเป็นจำนวนมาก เช่น ท้าวฮุ่งขุนเจือง,คัชชนาม,อุรังคธาตุ,ปู่สอนหลาน,ธรรมดาสอนโลก เป็นต้น มักปรากฏในฉากขบวนแห่ ฉากการสู้รบ ฯลฯ และยังมีวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่งคือสลองอานิสงส์ ได้กล่าวถึงที่มาของธงในพุทธศาสนา โดยได้ระบุประเภทของธง การใช้ ในลักษณะต่างๆและอานิสงส์ของการถวายธง

โดยธงมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชาวพุทธมาตั้งแต่บรรพกาล ธงในพระพุทธศาสนาปรากฏในธชัคคสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเล่าแก่พระภิกษุทั้งหลาย ว่าเป็นถ้อยคำของพระอินทร์ตรัสปลุกใจทวยเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในขณะที่กำลังทำสงครามกับอสูรว่า ถ้าถึงคราวเข้าที่คับขันอันตรายเกิดความสะดุ้งกลัวแล้ว ก็ให้แลดูธงประจำกอง จะทำให้หายหวาดกลัว ตามความนี้พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า ถ้าภิกษุเกิดความสะดุ้งกลัว ก็ให้พึงระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ คือ บทสวดอิติปิโส ภควา ฯลฯ ก็จะกำจัดความขลาดกลัวให้พ้นไป

“ธุง,ทุง”จึงเป็นเหมือนตัวแทนในการขับไล่มารร้ายไปนั้นเอง ทำให้ในกาลต่อมามนุษย์จึงได้ประดิษฐ์ “ธุง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นพุทธบูชา และเป็นปัจจัยการส่งกุศลให้แก่ตนเองในชาติหน้าจะได้เกิดบนสรวงสวรรค์ต่อไป

สำหรับ คำว่า”ตุง หรือ “ธุง,ทุง” นั้น คุณวิทยา วุฒิไธสง นักวิชาการวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เขียนไว้ว่า ในงานบุญประเพณีแต่ละเดือนของชาวอีสานมักจะประดิษฐ์  “ตุง” หรือ  “ธุง” หลากหลายรูปแบบและหลากหลายสีสันบนผืนผ้าหรือใช้วัสดุสิ่งอื่น เพื่อสื่อความหมายระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ

“ธุง” จึงนับได้ว่าเป็นเครื่องสักการะ เพื่อใช้พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ในบุญเฉลิมฉลอง หรือขบวนแห่ต่าง ๆ การประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ เพื่อความสวยงามตระการตา โดยมีความแตกต่างกันตามความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมของท้องถิ่น ซึ่งโดยทั่วไปธุงจะมีลักษณะคล้ายกับธงมีความยาวประมาณ 1-3 เมตร อาจทอด้วยผ้าฝ้ายเป็นลายขิด ลวดลายสัตว์ คน ต้นไม้ หรือพระพุทธรูป เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นพุทธบูชา

ธุงจึงมีหลายรูปแบบ เช่น เป็นธุงแบบห้อยยาวจากบนลงล่าง เมื่อเข้าไปในวิหาร ก็จะเห็นธุงหลากหลาย  ธุงเหล่านี้อาจประดิษฐ์มาจากวัสดุต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ ธนบัตร เป็นต้น โดยมีขนาด รูปทรงตลอดจนการตกแต่งต่างกันออกไปตามระดับความเชื่อ  ความศรัทธา และฐานะ ทางเศรษฐกิจของผู้ถวาย

ด้านความเชื่อของคนอีสานเกี่ยวกับธุง พบว่า ความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องจากธุงของคนอีสานไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้จากจำแนกออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการถวายผ้าธุง และด้านการนำธุงมาใช้

สำหรับความเชื่อที่เกี่ยวกับการถวายธุงให้วัดส่วนใหญ่ เชื่อว่าได้กุศลแรง เพราะธุงถือเป็นของสูงในพิธีกรรม และมักถูกนำมาใช้ตกแต่งในงานบุญที่สำคัญเสมอ หากถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายเชื่อว่าบุญจะถึงและได้บุญมาก ดังนั้นผ้าธุงที่ญาติโยมนำมาถวายวัด จึงมักนิยมเขียนหรือปักชื่อทั้งญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว และชื่อผู้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ดังนั้น คนอีสานจึงมีความเชื่อเกี่ยวกับธุงใน 2 ลักษณะ คือ การทำบุญ เมื่อได้ทำบุญด้วยการถวายธุงแล้ว จะอยู่เย็นเป็นสุข เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต การให้ทาน เมื่อได้ให้ทานด้วยการถวายธุงแล้วจะช่วยให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นจากนรกหรือวิบากกรรม

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน